รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า...
สถานการณ์ทั่วโลก 5 มิถุนายน 2564...
ทะลุ 173 ล้านไปแล้ว ในขณะที่ไทยมียอดติดเชื้อสะสมอันดับที่ 80 ของโลก
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 393,422 คน รวมแล้วตอนนี้ 173,288,148 คน ตายเพิ่มอีก 9,550 คน ยอดตายรวม 3,726,456 คน
5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุด ยังเป็นเช่นเดิม คือ อินเดีย บราซิล อาร์เจนตินา โคลอมเบีย และอเมริกา
อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 15,519 คน รวม 34,190,437 คน ตายเพิ่ม 496 คน ยอดเสียชีวิตรวม 612,185 คน อัตราตาย 1.8%
อินเดีย ติดเพิ่ม 121,457 คน รวม 28,693,816 คน ตายเพิ่ม 1,184 คน ยอดเสียชีวิตรวม 344,101 คน อัตราตาย 1.2%
บราซิล ติดเพิ่ม 38,482 คน รวม 16,841,954 คน ตายเพิ่มถึง 2,078 คน ยอดเสียชีวิตรวม 470,968 คน อัตราตาย 2.8%
ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 6,953 คน ยอดรวม 5,701,029 คน ตายเพิ่ม 84 คน ยอดเสียชีวิตรวม 109,916 คน อัตราตาย 1.9%
ตุรกี ติดเพิ่ม 6,169 คน รวม 5,276,468 คน ตายเพิ่ม 94 คน ยอดเสียชีวิตรวม 47,976 คน อัตราตาย 0.9%
อันดับ 6-10 เป็น รัสเซีย สหราชอาณาจักร อิตาลี อาร์เจนติน่า และเยอรมัน ติดกันหลักพันถึงหลักหมื่น
สหราชอาณาจักรเคยมียอดติดเชื้อต่ำสุดหลังคุมการระบาดได้ประมาณ 1,600 รายเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ตอนนี้ล่าสุดติดเพิ่มถึง 6,238 คน เพิ่มขึ้นราว 4 เท่า ปรากฏการณ์นี้คาดว่ามาจากทั้งเรื่องการผ่อนคลายมาตรการการใช้ชีวิต ร่วมกับการแพร่ระบาดของไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลต้า ค่า R0 ตอนนี้อยู่ระหว่าง 1-1.2 ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะมีการติดเชื้อขยายวงมากขึ้น
แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย ชิลี เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา ญี่ปุ่น เนปาล และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น
ในขณะที่แอฟริกาใต้ ตอนนี้มีจำนวนติดเชื้อเพิ่มเกินห้าพันต่อวันมาอย่างต่อเนื่อง ลักษณะการระบาดกำลังขึ้นสู่ระลอก 3 ล่าสุดติดเพิ่มอีก 5,668 คน ส่วนศรีลังกา กำลังอยู่ในระลอก 2 จำนวนติดเชื้อต่อวันสูงกว่าเดิมราว 3.5 เท่า
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่อยู่หลักร้อย ยกเว้นคาซักสถาน มองโกเลีย เบลารุส และยูเครน ที่ยังหลักพัน
แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน
เกาหลีใต้ ไต้หวัน เวียดนาม และกัมพูชา ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกง และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
...ติดตามอันดับของไทยในเวทีโลก
ยอดติดเชื้อสะสม อยู่อันดับ 80
จำนวนติดเชื้อต่อวัน อยู่อันดับ 23
จำนวนการเสียชีวิตต่อวัน อยู่อันดับ 32
จำนวน active case ขณะนี้ อยู่อันดับ 35
และจำนวนผู้ป่วยรุนแรงหรือวิกฤติ อยู่อันดับ 18
...ด้วยตัวเลขข้างต้น ทำให้เข้าใจได้ว่าสถานการณ์การระบาดขณะนี้ยังรุนแรงอย่างต่อเนื่อง แม้ยอดสะสมจะอยู่อันดับ 80 แต่หากติดตามกันใกล้ชิดก็จะรู้ว่าไต่อันดับขึ้นมาหลายสิบอันดับภายในเวลาไม่กี่เดือน
...เรื่องที่ควรวางแผนอีกเรื่องที่สำคัญคือ ระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังมีอาการคงค้าง หลังได้รับการดูแลรักษาไปแล้ว ที่เราเรียกว่า "COVID Long Hauler" หรือ "Chronic COVID" หรือ "Post-acute COVID Syndrome"
ประเทศที่มีคนติดเชื้อเยอะๆ มีจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอาการคงค้างหลังการรักษามากขึ้นเรื่อยๆ มีรายงานว่าสามารถพบได้เฉลี่ยราวหนึ่งในสาม รายงานพบมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ
อเมริกาเริ่มมีการผลักดันร่างกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อพัฒนาระบบการดูแลรักษา บรรเทาผลกระทบ ตลอดจนระบบเก็บข้อมูลผู้ติดเชื้อที่มีอาการคงค้าง เพื่อจะได้ทราบตัวเลขที่ชัดเจน และจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสม
สำหรับไทยเรา ตอนนี้ติดเชื้อสะสมไปกว่า 170,000 คน ถ้าสถิติคล้ายกับต่างประเทศ ก็อาจมีผู้ติดเชื้อที่ประสบกับภาวะ COVID Long Hauler นี้ระดับหมื่นคน หรือหลายหมื่นคนได้ และจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ตราบใดที่การระบาดยังเป็นไปในลักษณะเช่นที่เห็นในปัจจุบัน
อาการคงค้างมีตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงมาก และคงอยู่ได้นานหลายสัปดาห์ไปถึงหลายเดือน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาการดมไม่ได้กลิ่น ลิ้นรับรสไม่ได้ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ตลอดจนอาการทางปอด สมอง และหัวใจ
เครือข่ายสถานพยาบาลในระดับตติยภูมิ น่าจะพิจารณาประเมินสถานการณ์ และจัดตั้งคลินิกเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อช่วยเหลือดูแล และทำการศึกษาวิจัยให้เกิดองค์ความรู้เรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง
สำหรับประชาชน...สถานการณ์การระบาดรุนแรงต่อเนื่อง ควรป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด
ด้วยรักและห่วงใย
ขอบคุณข้อมูลและภาพ เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat