กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร(กวป.)เดินหน้าวิจัยผลิตผลเกษตรต่อเนื่องเพื่อนำส่งมือเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ตลอดจนประชาชนไว้ใช้ประโยชน์ในการพัฒนาผลผลิตหรือแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อต่อยอดเพิ่มมูลค่า  โจทย์สำคัญคือลบคำว่างานวิจัยขึ้นหิ้ง มาเป็นงานวิจัยที่กินได้ จับต้องได้ นายชูชาติ วัฒนวรรณ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร(กวก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กรมมีการวิจัยพืชผลทางการเกษตรที่หลากหลาย โดยเป้าหมายสำคัญของการกรมคืองานวิจัยที่ต้องถึงมือผู้ใช้ ส่งต่อเพื่อให้ผู้ใช้คือเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร เอกชน เป็นผู้ขับเคลื่อน เพื่อให้งานที่วิจัยออกมาลงจากหิ้ง และนำไปสู่นโยบายของประเทศและของโลกที่ลดการสูญเสียพืชผลทางการเกษตร ขณะเดียวกันก็เกิดความยั้งยืนของความหลากหลายทางชีวภาพอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน คือราชการ ประชาชน สถานศึกษา และภาคเอกชน ที่ต้องจับมือขับเคลื่อนไปด้วยกัน เพื่อนำงานวิจัยมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ อาทิ ล่าสุดคือการวิจัยหอมแดงที่ร่วมกับทางจังหวัดเพื่อนำวัตถุดิบที่มีมาพัฒนาต่อยอดเพื่อแปรรูป อย่างไรก็ตามงานวิจัยของกวก.มีด้วยกันหลายตัวและสามารถจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ตลอดเวลา นางสาวปาริชาติ อยู่แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ กลุ่มวิจัยและพัฒนาการแปรรูปผลิตผลเกษตร กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมประสบความสำเร็จในการวิจัยการผลิตสารยับยั้งสารเอนไซม์แอลฟ่า-กลูโคซิเดสจากพืชของประเทศไทย เมื่อปี 2562 กรณีหอมแดงนี้เป็นความร่วมมือกับจังหวัดและมหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ เพื่อนำผลผลิตที่มีมากในจังหวัดมาพัฒนาแปรรูปเพิ่มมูลค่าและสามารถแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตร   โดยกรมได้นำเอาหอมแดงที่มี สารฟลาโวนอยด์ที่มีสรรพคุณในการลดระดับน้ำตาลในเลือดและมีการใช้เป็นการทั่วไปอยู่แล้ว แต่ก็พบว่าสารดังกล่าวเสื่อมสลายได้ง่าย กรมจึงนำหอมแดงมาวิจัย ว่าทำอย่างไรที่จะให้สารสำคัญดังกล่าวมีความเสถียร และคงทนอยู่ได้นานมากขึ้น ขณะเดียวกันสามารถที่นำไปใช้ประโยชน์ในกระบวนการผลิต และลดการสิ้นเปลืองการใช้สารสกัด สมควรส่งเสริมขยายผลในเชิงพาณิชย์ตามโครงการขยายผลการวิจัยและพัฒนาขยายผลผลิตภัณฑ์ Startup ingredient เชิงพาณิชย์ของกรมวิชาการเกษตร "ผลวิจัยนี้ตอบโจทย์ปัญหาของจังหวัดศรีสะเกษ และสถานศึกษาที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งมหาวิทยาลัยก็เล็งเห็นว่ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนศรีสะเกษแฟร์เทรด มีธุรกิจในการผลิตสินค้าหลายชนิดและบางชนิดส่งออกสามารถที่จะมาต่อยอดหอมแดงได้จึงประสานให้กรมไปอบรมเทคโนโลยีดังกล่าว เบื้องต้นเกษตรกรกังวลว่าไม่มีเทคโนโลยีและไม่มีทุน ซึ่งทางกรมได้แก้ปัญหาโดยการนำอุปกรณ์ไปช่วยสอนและพาไปศึกษาดูงานบริษัทที่รับจ้างผลิตในพื้นที่ สุดท้ายวิสาหกิจแห่งนี้ลงทุนเพียง 5 หมื่นบาทก็สามารถผลิตแคบซูลสารสกัดจากหอมแดง เรียกว่า เพียง 5 หมื่นก็ทำผลิตภัณฑ์ได้ ขั้นตอนหลังจากนี้กรมจะช่วยเหลือทางเอกสารเพื่อขออนุญาตจากทางสำนักงานอาหารและยา(อย.)เพื่อขยายผลเชิงพาณิชย์ต่อไป จากที่ก่อนหน้ากลุ่มวิจัยได้ประสบความสำเร็จในการสกัดสารจากส่วนเหลือใช้ของหอมแดงมาเป็นเครื่องสำอางลดสิวและได้จดอนุสิทธิบัตรไว้เมื่อต้นปี 2564 ซึ่งการสกัดสารสำคัญต้องใช้หอมแดง 1 กิโลกรัม จะได้สารสำคัญเพียง 10 กรัม หรือ 5 กรัม ดังนั้นงานวิจัยนี้นับเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรให้กับเกษตรกรได้อย่างมีนัยสำคัญ" สำหรับการวิจัยนางสาวปาริชาติ กล่าวว่า กรมได้เน้นศึกษาจากส่วนเหลือใช้ของผลิตผลเกษตรเพื่อลดการสูญเสียและต่อยอดเพิ่มมูลค่าซึ่งมีอีกหลายตัวที่อาจตอบโจทย์กลุ่มเกษตรกรหรือวิสาหกิจได้ ผู้สนใจสามารถเข้ามาช๊อปปิ้งงานวิจัยของกรมได้ผ่านเวบไซต์ของกรมวิชาการเกษตรที่จะมีการลงงานวิจัยที่น่าสนใจไว้หลายชนิด ซึ่งหากสนใจกรมพร้อมที่จะไปช่วยในการอบรมเพราะเป็นภาระกิจที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรให้อยู่ดี กินดีและมีรายได้เพิ่มขึ้น