วันที่ 4 มิ.ย.64 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผยว่า ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.2564 เป็นต้นไป ประเทศไทยจะเริ่มระดมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายให้ครอบคลุมประชากร 50 ล้านคน หรือ 70% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งก็เป็นไปได้ที่จะมีผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน ดังนั้น รัฐบาลจึงมีนโยบายจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่กลุ่มดังกล่าวเพื่อสร้างความมั่นใจว่าประชาชนจะได้รับการดูแล และ สปสช.ก็ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์วิธีการการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว
นพ.จเด็จกล่าวว่า ขอทำความเข้าใจกับประชาชนอีกครั้งว่า ระบบดังกล่าว เป็นระบบการชดเชยความเสียหายเบื้องต้น คำว่า เบื้องต้น หมายถึง ไม่ต้องถึงขนาดพิสูจน์ถูกผิดจนจบกระบวนการว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่ แต่เมื่อใดที่ไปฉีดวัคซีนแล้วเกิดอาการข้างเคียง หรือแม้กระทั่งเสียชีวิตแต่แพทย์จะระบุสาเหตุการเสียชีวิตจากเรื่องอื่น แต่ถ้าสงสัยว่าจะเกี่ยวกับวัคซีน ก็สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเข้ามาได้ ไม่ต้องรอผลการชันสูตรอะไรทั้งสิ้น สปสช.จะมีคณะอนุกรรมการทั้ง 13 เขตทั่วประเทศดำเนินการพิจารณาเรื่องเงินเยียวยาให้และจ่ายเงินภายใน 5 วันหลังมีมติ และแม้ว่าต่อมาจะพิสูจน์ได้ว่าการเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยไม่ได้มาจากวัคซีน ก็จะไม่มีการเรียกเงินคืนแต่อย่างใด
“คณะอนุกรรมการจะพิจารณาโดยใช้ความเชี่ยวชาญของความเป็นแพทย์ ดูจากประวัติ จากข้อมูลต่างๆ บางครั้งจะเห็นว่าผู้ป่วยมีโรคประจำตัวแล้วไปฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิต เป็นไปได้ว่าวัคซีนไปทำให้โรคประจำตัวกำเริบได้ ดังนั้น ทุกกรณีที่สงสัย ขอให้ส่งเรื่องมายังอนุกรรมการ
“การที่แพทย์บอกว่าไม่เกี่ยวกับวัคซีน ไม่ได้เป็นการตัดสินว่าจะไม่จ่ายเงินชดเชย เพราะคณะอนุกรรมการเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจจ่ายเงินชดเชย ไม่ใช่คุณหมอหน้างานหรือใครก็ตามที่พูด รวมทั้งกรณีการเจ็บป่วยต่อเนื่องต่างๆ อย่าเพิ่งไปวินิจฉัยหรือตัดสินเอาเองว่าจะได้หรือไม่ได้ ถ้าสงสัยว่าเกี่ยวกับวัคซีนให้ยื่นเรื่องเข้ามาตามกระบวนการก่อน” นพ.จเด็จกล่าว
นพ.จเด็จกล่าวต่อว่า การยื่นขอรับเงินเยียวยาเมื่อมีอาการไม่พึงประสงค์เป็นเรื่องสำคัญมาก นอกจากจะเป็นการดูแลผู้ได้รับผลกระทบแล้ว ยังทำให้ทราบข้อมูลว่ามีผลข้างเคียงอะไรที่ต้องระวังหรือต้องวางแผนรับมือเมื่อมีการฉีดในจำนวนที่มากขึ้น ซึ่งขั้นตอนการขอรับเงินเยียวยาก็ไม่ยุ่งยาก เพียงกรอกแบบฟอร์มแล้วยื่นให้ที่โรงพยาบาลที่ไปฉีด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสำนักงานเขตของ สปสช. คณะอนุกรรมการจะพิจารณาผลให้และจ่ายเงินให้ภายใน 5 วันหลังมีมติ และเพื่อให้ประชาชนสะดวกมากขึ้น สปสช.ยังได้ประสานเครือข่ายอื่นๆ เช่น อสม. หรือหน่วย 50 (5) เป็นผู้แนะนำและรับคำขอให้อีกทางหนึ่งด้วย
“ตอนนี้มียื่นเรื่องเข้ามาแล้ว 260 ราย จ่ายเยียวยาไปแล้ว 162 ราย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องอาการชาเป็นหลัก ฉีดแล้วชา เราก็จ่ายให้ถือว่าท่านได้รับความเสียหาย บางคนชา 1 วัน บางคนชาเป็นเดือนก็มี ระยะเวลาที่ต่างกันออกไปจะมีผลต่อการชดเชยที่ต่างกันออกไป ส่วนกรณีเสียชีวิตมียื่นเรื่องเข้ามา 6 รายทั่วประเทศ เพิ่งอนุมัติจ่าย 400,000 บาทไป 1 ราย ที่พื้นที่ สปสช.เขต 4 สระบุรี ส่วนอีกรายที่ยื่นเข้ามาที่ กทม. คณะอนุกรรมการได้พิจารณาว่าไม่เกี่ยวข้อง ก็จะเหลืออีก 4 รายที่กำลังพิจารณาอยู่” นพ.จเด็จกล่าว
นพ.จเด็จย้ำอีกครั้งว่า กระบวนการชดเชยความเสียหายจากวัคซีนเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ดังนั้น ก็ต้องเวลาระบบได้ปรับตัวด้วย ที่ผ่านมา ถ้าติดตามข่าวจะเห็นว่าเป็นการตีความหรือวินิจฉัยผ่านสื่อหรือโซเชียลมีเดียกันเอง ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการอย่างเป็นทางการ ดังนั้นขอย้ำว่าอย่าเพิ่งตัดสินเอง ขอให้ส่งเรื่องมาให้ สปสช. ไม่ว่าแพทย์จะบอกว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่ก็ถือเป็นเรื่องทางการแพทย์ แต่คณะอนุกรรมการของ สปสช.จะพิจารณาการช่วยเหลือเบื้องต้นให้
ทั้งนี้ หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามแผนงานโครงการที่รัฐจัดให้ฟรี สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ที่โรงพยาบาลที่ฉีด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือที่สำนักงาน สปสช.สาขาเขตพื้นที่ทั้ง 13 เขต โดยมีระยะเวลายื่นคำร้องได้ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ทราบความเสียหาย สอบถามเพิ่มเติม สายด่วน สปสช. โทร 1330