หนึ่งในพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่9) ยังคงตราตรึงอยู่ในจิตใจของประชาชนชาวไทย ที่พระองค์ทรงห่วงใยประชาชนของพระองค์โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ที่จะต้องประสบปัญหากับการจราจรที่ติดขัด จึงเป็นที่มาของการก่อสร้างรถไฟใต้ดินภายใต้การกำกับดูแล โดย “การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” (รฟม.) กระทรวงคมนาคม และเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2547 วันที่ประชาชนคนไทยได้ปลาบปลื้มกับพระบารมีของ 3 พระองค์ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ทรงเปิดการเดินรถไฟฟ้า “โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (หัวลำโพง-บางซื่อ)” อย่างเป็นทางการ ซึ่งในวันนั้นได้มีเหล่าข้าราชบริพาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี รวมทั้งผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เฝ้าฯ รอรับเสด็จ โดยที่พระองค์เสด็จฯ ลงชั้นใต้ดินด้วยลิฟต์โดยสาร และทอดพระเนตรในชั้นขายบัตรโดยสาร และนั่งรถไฟฟ้าระยะทาง 150 เมตร ไปยังมณฑลพิธี โดยสองข้างทางมีนิทรรศการแสดงวิวัฒนาการของรถไฟฟ้า ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชปฏิสันฐานกับนายกรัฐมนตรีในระหว่างเสด็จพระราชดำเนิน เมื่อถึงบริเวณมลฑลพิธี ซึ่งคณะเจ้าหน้าที่ได้ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรแด่ทุกพระองค์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในสมุดเยี่ยมของรฟม. จากนั้นตัวแทนคณะรัฐมนตรีได้กล่าวคำถวายรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปยังแท่นไฟฟ้าเพื่อกดปุ่มเปิดแพรคลุมป้าย โครงการ “รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล” พร้อมกัน 3 จุด พร้อมเสด็จพระราชดำเนินไปที่ชั้นชานชาลาเพื่อทรงขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคลบริเวณตู้โดยสารตู้แรก จากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินหัวลำโพงไปยังสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินบางซื่อ เพื่อทรงทดลองระบบและเส้นทางด้วยพระองค์เอง รวมทั้งสิ้น 18 สถานี แล้วกลับมายังศูนย์ซ่อมบำรุงรักษาและศูนย์ควบคุมการเดินรถ เพื่อทรงเปิดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้ามหานครอย่างเป็นทางการ ก่อนที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับ ทั้งนี้ “ประภัสร์ จงสงวน” ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในสมัยนั้น ได้เผยว่า ในการเสด็จพระราชดำเนินเปิดโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนพระทัยเป็นอย่างมากต่อโครงการรถไฟฟ้า หลังจากกดปุ่มเปิดระบบการเดินรถไฟฟ้าใต้ดินแล้ว ทรงสอบถามเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ใช้ในการก่อสร้าง พร้อมกับทรงรับสั่งขอให้รัฐบาลเร่งรัดการก่อสร้างส่วนต่อขยายของโครงการรถไฟฟ้ามหานครให้มีโครงข่ายครอบคลุมพื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดให้กับประชาชนได้มากขึ้นในอนาคต สำหรับการที่ในหลวงเสด็จทรงเปิดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้ามหานครอย่างเป็นทางการ เป็นจุดเริ่มต้นของการขยายตัวเมือง เมื่อมีความสะดวกด้านการเดินทาง สิ่งอื่นๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ ด้านการพัฒนาที่ดิน ก็จะตามมา ทำให้ประชาชนมีช่องทาง การใช้ที่ดินทำกิน โดยรอบๆ แนวรถไฟฟ้ามากขึ้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ อย่างไรก็ตามนโยบายรัฐบาลของกระทรวงคมนาคม ในปัจจุบัน ได้แผนพัฒนารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกทม. และปริมณฑล ดังนี้ 1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ เปิดให้บริการเดินรถแล้ว เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2559 โดยบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) เป็นผู้รับสัมปทาน การเดินรถ ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี ,2โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลาโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้วเสร็จ 100% และงานโยธา ได้ผลงาน 83.91% เร็วกว่าแผน 0.41% ,3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ งานโยธา ได้ผลงาน 97.79% เร็วกว่าแผน 1.33% ,4.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต สัญญาที่ 1 - 3 เริ่มงานเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2558 งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้วเสร็จ 94.57% เร็วกว่าแผน 2% งานโยธา ผลงานแล้วเสร็จ 13.77% เร็วกว่าแผน 2.81% ,5.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรีงานก่อสร้างโยธาอยู่ในขั้นตอนการประกวดราคา และงานสำรวจอสังหาริมทรัพย์ รฟม. 6.โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ครม.มีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ เป็นระบบ Monorail ,7.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ครม.มีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ เป็นระบบ Monorail ,8.โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ – รังสิต งานก่อสร้าง สัญญาที่ 1 งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อ และศูนย์ซ่อมบำรุง ได้ผลงานร้อยละ 50.43 งานก่อสร้างสัญญาที่ 2 งานโยธาสำหรับทางรถไฟบางซื่อ-รังสิต ได้ผลงานร้อยละ 74.17 และงานก่อสร้างสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าเครื่องกลและตู้รถไฟฟ้า ได้ผลงานร้อยละ 2.78 ,9.โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท- มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ครม. มีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ดำเนินโครงการก่อสร้าง และ10.โครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนต่อขยายช่วงดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท คณะกรรมการ สศช. มีมติให้ชะลอการลงทุนโครงการออกไปก่อน ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวน กาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 ระยะทาง 8 กิโลเมตร รฟม.ได้นำเสนอรายละเอียดการดำเนินโครงการไปให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว โดยตั้งเป้าหมายเริ่มก่อสร้างปี 2560 ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนต่อขยาย ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-ตลิ่งชัน ระยะทาง 17.5 กม. ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดต่างๆ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงปลายปี 2560 ขณะที่อีก 1 เส้นทางรถไฟฟ้าที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ร.9) ได้พระราชทาน “รถไฟฟ้าบีทีเอส” ซึ่ง เป็นรถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทยดำเนินการโดยบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2542 ใน 2 เส้นทาง คือสายสุขุมวิท ระยะทาง 17 กม. ได้รับชื่อพระราชทานว่า “รถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา สาย 1” และเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2554 ได้เปิดให้บริการส่วนต่อขยาย สายสุขุมวิทอย่างเป็นทางการ ระยะทาง 5.25 กม. จากสถานีอ่อนนุชถึงสถานีแบริ่ง และสายสีลม ระยะทาง 6.5 กม. ซึ่งได้รับชื่อพระราชทานว่า “รถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ ๖ รอบพระชนมพรรษา สาย 2” วันที่ 23 สิงหาคม 2552 ได้เปิดให้บริการส่วนต่อขยายสายสีลมอย่างเป็นทางการ ระยะทาง 2.2 กม. จากสถานีสะพานตากสินถึงสถานีวงเวียนใหญ่ ,วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556 ได้เปิดให้บริการส่วนต่อขยายสายสีลมเพิ่มขึ้นอีก 2 สถานี ระยะทาง 2.17 กม. คือสถานีโพธิ์นิมิตรและสถานีตลาดพลู วันที่ 5 ธันวาคม 2556 ได้เปิดเพิ่มขึ้นอีก 2 สถานี คือสถานีวุฒากาศและสถานีบางหว้า ระยะทาง 3.8 กม. และล่าสุดเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2560 ได้เปิดให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สำโรง อีก 1 สถานีคือสถานีสำโรงระยะทาง 1.8 กม. ซึ่งทำให้มีระยะทางในการให้บริการรวม 38.7 กม. ใน 35 สถานี ระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นระบบขนส่งมวลชนความจุสูงแบบมาตรฐาน ที่ใช้กันแพร่หลายในเมืองใหญ่ทั่วไป ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อน วิ่งบนรางคู่ยกระดับ แยกทิศทางไปและกลับ โดยมีรางป้อนกระแสไฟฟ้าอยู่ด้านข้าง (Third Rail System) สามารถให้บริการแก่ผู้โดยสารได้มากกว่า 1,000 คน ต่อขบวน ในขณะที่การเดินทางโดยรถยนต์ ต้องใช้รถยนต์จำนวนมากถึง 800 คัน เพื่อขนส่งผู้โดยสารในจำนวนที่เท่ากัน นับได้ว่าการให้บริการของรถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นการพลิกโฉมรูปแบบการเดินทาง และเป็นการปฏิวัติมาตรฐานการให้บริการของระบบขนส่งมวลชน นอกจากการให้บริการที่ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ใจกลางกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นศูนย์รวมของธุรกิจการค้า ย่านที่พักอาศัย และแหล่งช้อปปิ้งชั้นนำแล้ว เรายังมีโครงการส่วนต่อขยายเพื่อขยายพื้นที่สำหรับให้บริการ และเข้าถึงผู้โดยสารได้มากยิ่งขึ้น สำหรับในอนาคตส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอสที่กำลังเตรียมที่จะเปิดให้บริการได้แก่ แนวเส้นทางโครงการระบบขนส่งกรุงเทพมหานคร “ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ” มีโครงสร้างรถไฟฟ้าแบบยกระดับตลอดเส้นทาง ระยะทาง 13 กิโลเมตร เป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Heavy Rail Transit System) แนวเส้นทางเริ่มต้นต่อเนื่องจากแนวเส้นทางของโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (BTS) ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ตอนที่ 1 ช่วงอ่อนนุช - แบริ่ง บริเวณซอยสุขุมวิท 107 (แบริ่ง) ไปตามแนวเกาะกลางของถนนสุขุมวิท ผ่านคลองสำโรง ผ่านแยกเทพารักษ์ แยกปู่เจ้าสมิงพราย เมื่อถึงบริเวณจุดตัดกับโครงการถนนวงแหวนรอบนอกด้านใต้แนวจะเบี่ยงจากเกาะกลางไปทางทิศตะวันตกของถนนสุขุมวิท เพื่อข้ามทางต่างระดับสุขุมวิท จากนั้นจึงเบี่ยงกลับมาอยู่ในแนวเกาะกลางถนนสุขุมวิท ผ่านแยกศาลากลาง แยกการไฟฟ้า แยกแพรกษา แยกสายลวด จนถึงจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณหน้าสถานีไฟฟ้าย่อยบางปิ้ง