"เศรษฐกิจพอเพียง" แนวคิดสำคัญ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อก้าวข้ามปัญหาปากท้องที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 ระบาดต่อเนื่อง "1 ไร่พอเพียง" แบบอย่างของการสร้างภูมิคุ้มกันในครัวเรือน เพื่อมีกิน มีใช้ เหลือแบ่งปันในชุมชน หากมีการล็อกดาวน์ ตลาดปิดไม่ต้องกังวล ไม่อด แถมมีรายได้ และเป็นคลังอาหารให้ชุมชน บ้านแบบอย่าง "1 ไร่พอเพียง" ของ มานิต โตขาว บ้านเลขที่ 32 ม.5 ต.ป่าเว อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ใครผ่านไปผ่านมา ต้องเจอกับรั้วมะขาม ที่เก็บยอดขายได้ถึงกิโลละ 150 บาท มีแม่ค้ามาซื้อถึงบ้าน เป็นพืชหนึ่ง ในหลายอย่าง ที่ทำเงินให้กับครอบครัว โตขาว เพราะนอกจากจะเป็นรั้วที่สามารถกั้นบริเวณ ยังสร้างรายได้ ออร์เดอร์สั่งทุกวัน สร้างรายได้งาม มีรายได้และมีคลังอาหาร ช่วงโควิด19 แต่นอกจากรั้วมะขามแล้ว หากเดินเข้าในบริเวณบ้านหลังนี้ยังใช้เนื้อที่คุ้มค่าที่สุด บริเวณบ้านประมาณ 1 ไร่ ปลูกพืช หลากหลายชนิด ทั้งไม้ผล อาทิ ชมพู่ ฝรั่ง ขนุน มะละกอ มังคุด เงาะ มะนาว หมาก และพืชผักสวนครัว อาทิ ใบเหลียง ผักกูด ผักชี ผักบุ้ง กะเพรา สาระแน่ ฟักเขียว ที่ขายได้ รวมถึงปลาดุก กบ ไก่ไข่ เป็ด นกกระทา หมู และผึ้งโพรง จุดสำคัญ ที่นี่ทำนาเอง โดยเก็บข้าวเปลือกมมีเครื่องสีข้าวขนาดเล็ก รำ ปลายข้าว สามารถนำมาเป็นอาหารเป็ด หมู ไก่ไข่ ลดต้นทุนได้อีกด้วย แนวคิดของ มานิต โตขาว บอกว่าการทำเศรษฐกิจพอเพียง เป็นวิธีลดความเสี่ยงด้วยการปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นแบบผสมผสาน ถือเป็นแนวทางประกอบอาชีพของเกษตรกรยุคใหม่ที่นับวันจะเห็นได้จริง ในสังคมปัจจุบัน ตามรอยพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ถือปฎิบัติมา หากหน่วยงาน หรือ ประชาชนทั่วไป สนใจจะเรียนรู้แลกเปลี่ยน สามารถติดต่อได้ที่ มานิต โตขาว เบอร์โทรศัพท์ 0895893528 / 0862680132