เพจเฟซบุ๊ก ข่าวสารงานพระพุทธศาสนา ได้เผยแพร่ข้อมูลจาก มติมหาเถรสมาคม เรื่องการใช้ชื่อ "โรคโควิด" เป็นภาษาบาลี "โควิโท"
โดยเนื้อหาระบุว่า
ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 12/2564 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า ตามที่มหาเถรสมาตมได้มีมติครั้งที่พิเศษ 4/2564 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 เห็นชอบให้เจริญพระพุทธมนต์ บทรัตนสูตร เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ประชาชน และความเป็นสิริมงคลต่อประเทศ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 นั้น
ในการเจริญพระพุทธมนต์ ได้มีการนำบทคาถาไล่โควิด มาเป็นบทเจริญพระพุทธมนต์ดังกล่าว เพื่อให้การใช้ศัพท์ "โรคโควิด" ในบทเจริญพระพุทธมนต์ให้ถูกต้องตามหลักภาษาบาลี และเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศไทย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นควรนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดพิจารณา
ในการพิจารณาการใช้ศัพท์คำว่า "โควิด" เป็นภาษาบาลี สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้อาราธนาพระภิกษุ และเชิญบุคคลเข้าร่วมถวายความเห็นประกอบการพิจารณา ตังนี้
1. พระธรรมราชานุวัตร วัดโมลีโลกยาราม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
2. พระเทพศากยวงศ์บัณฑิต วัดบวรนิเวศวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
3. นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย ผู้แทนสำนักพระราชวัง
ที่ประชุมได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง สรุปความว่า คำว่า "โรคโควิด" หรือ "โควิด" เป็นศัพท์เฉพาะ (อสาธารณนาม) ซึ่งเป็นอักษรย่อที่มาจากภาษาอังกฤษว่า "COVID' หรือ Corona Virus Disease เมื่อนำมาเขียนเป็นภาษาบาลื ต้องปริวรรตอักษรเป็นอักษรโรมันที่ใช้เขียนภาษาบาลี และเป็นภาษาบาลีสากล โดยเปรียบเทียบกับ ภาษาอังกฤษ เปรียบเทียบกับตัวสะกดในแม่กดในภาษาไทย และเปรียบเทียบกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2563 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หน้า 1
เล่มที่ 137 ตอนพิเศษ 48 ง ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ว่า "โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)
ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบให้ใช้ศัพท์ว่า "โควิโท" เป็นชื่อ โรคโควิด เป็นภาษาบาลี และ เป็นอสาธารณนาม
ลงชื่อ นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เลขาธิการมหาเถรสมาคม