นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.63-เม.ย.64) ว่า รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น จำนวน 1.28ล้านล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.59 หมื่นล้านบาท หรือ 4.2% ในขณะที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 1.91 ล้านล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.06 แสนล้านบาท หรือ 5.2% โดยแบ่งเป็น รายจ่ายปีปัจจุบัน อยู่ที่ 1.77 ล้านล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.18 หมื่นล้านบาท หรือ 4.9% และรายจ่ายปีก่อน อยู่ที่ 1.42 แสนล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.42 หมื่นล้านบาท หรือ 9.1% ทั้งนี้ รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 4.51แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.83 แสนล้านบาท หรือ 68.6% ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน เม.ย. 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 3.72 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.2 แสนล้านบาท หรือ 144.7% ขณะที่ผลการจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาลในช่วง 7 เดือนของปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.63-เม.ย. 64) นั้น รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ อยู่ที่ 1.22 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ จำนวน 1.28 แสนล้านบาท หรือ 9.5% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวน 7.82 หมื่นล้านบาท หรือ 6% โดยการจัดเก็บรายได้ที่ต่ำกว่าประมาณการ เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นสำคัญ สำหรับผลการจัดเก็บรายได้ในช่วง 7 เดือนของปีงบประมาณ 2564 ของ 3 กรมภาษี ได้แก่ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร รวมกันอยู่ที่ 1.26 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าเอกสารงบประมาณ 1.05 แสนล้านบาท หรือ 7.7% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.56 หมื่นล้านบาท หรือ 2% โดยกรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวมอยู่ที่ 8.75 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเอกสารงบประมาณ 7.47 หมื่นล้านบาท หรือ 7.9% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.24 หมื่นล้านบาท หรือ 2.5% ขณะที่กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้อยู่ที่ 3.31 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเอกสารงบประมาณ 2.95 หมื่นล้านบาท หรือ 8.2% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.06 พันล้านบาท หรือ 1.2% ขณะที่กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้ 7 เดือน อยู่ที่ 5.88 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าเอกสารงบประมาณ 1.4 พันล้านบาท หรือ 2.3% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย ที่ 870 ล้านบาท หรือ 1.5% ส่วนรัฐวิสาหกิจ จัดเก็บรายได้รวม อยู่ที่ 7.69 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าเอกสารงบประมาณ 3.19 หมื่นล้านบาท หรือ 29.3% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.79 หมื่นล้านบาท หรือ 46.9% และหน่วยงานอื่น ๆ จัดเก็บรายได้รวมอยู่ที่ 1.01 แสนล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.98 หมื่นล้านบาท หรือ 16.4% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.72 หมื่นล้านบาท หรือ 14.5%