ทำไป ทำมาวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 31 พ.ค.- 1มิ.ย. ที่ผ่านมา กลับไม่ใช่ สมรภูมิระหว่าง “ฝ่ายค้าน” กับ “รัฐบาล” เท่านั้นเสียแล้ว ! เมื่อลึกๆแล้วเกิดอาการกินแหนงแคลงใจกันระหว่าง “แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล” ด้วยกัน อย่าง “พรรคภูมิใจไทย” กับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มาแล้วหลายครั้ง หลายคราว ในระหว่างที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าแก้ไขวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กลับมาโจมตีประเทศ เป็นระลอกที่สาม เมื่อศึกโควิด ครั้งนี้มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็น แม่ทัพใหญ่ แต่ขณะเดียวกันยังต้องไม่ลืมว่า “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็ต้องถือธงนำด้วยเช่นกันแม้ในตามลำดับชั้นสายบังคับบัญชา พล.อ.ประยุทธ์ ย่อมเป็นใหญ่ ทั้งในฐานะนายกฯแล้ว ยังพ่วงตำแหน่ง ด้วยกันอีกหลายเก้าอี้ ซึ่งล้วนแล้วแต่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า “นายกฯยึดอำนาจ” คุมงานแก้โควิดแบบรวมศูนย์เสียเอง การประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ฯ วันแรก เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ลูกพรรคภูมิใจไทยก็สร้างความฮือฮา ทำดรามาทางการเมืองอีกครั้ง โดย “ชาดา ไทยเศรษฐ์” ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ที่หลายคนต้องยกให้เป็น “เจ้าพ่อสะแกกรัง” ลุกขึ้นอภิปรายการจัดสรรเม็ดเงินงบประมาณ โดยแสดงความไม่เห็นด้วยที่งบประมาณในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ถูกตัดลงแทบทุกกรม กอง ทั้งที่กระทรวงสาธารณสุข คือด่านหน้าที่จะรับมือกับไวรัสโควิด -19 ไม่ต่างจากการส่งทหารไปรบ แต่ไม่ให้อาวุธ แล้วคิดว่าศึกครั้งนี้จะชนะอย่างนั้นหรือ ? “ หรือสำนักงบประมาณคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะไม่รักนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เสียแล้ว ท่านถึงได้ตัดงบประมาณแบบนี้ ผมก็อยากจะบอกว่า หัวหน้าครับถ้าเขาไม่รักก็กลับบ้านเราเถอะ” ประโยคที่ชาดา ชวน “อนุทิน” กลับบ้านถ้าพล.อ.ประยุทธ์ ไม่รักนี่เอง ดูเหมือนจะยิ่งตอกย้ำว่า บาดแผลระหว่าง พรรคภูมิใจไทยกับ พลังประชารัฐ ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาลนั้นแท้จริงแล้วยังคงอยู่ และปะทุกันในทุกระดับ เพราะไม่อย่างนั้น ส.ส.อ่างทอง อย่าง “ภราดร ปริศนานันทกุล” ของพรรค คงไม่โพสต์กระแทก “นายกฯ” ว่าเป็น “ตัวถ่วงวัคซีน” สร้างความฮือฮามาแล้ว อย่างไรก็ดีใช่ว่า ระดับแกนนำของพรรคภูมิใจไทยเอง ไม่เคยเจอฤทธิ์เดชของส.ส. “กลุ่มดาวฤกษ์” ของพลังประชารัฐที่เขย่า “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ชนิดไม่เลิกไม่รา ตั้งแต่การไม่โหวตยกมือไว้วางใจให้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จนลากยาวมาถึงเมื่อครั้งที่ ศักดิ์สยาม ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นรัฐมนตรีที่ไปเที่ยวผับย่านทองหล่อ จนทำให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ ที่กระจายเชื้อโควิด หรือไม่ แต่ถึงกระนั้น หลายคนย่อมประเมินได้ว่า แม้จะเกิดความไม่พอใจกันระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับแกนนำของพรรคภูมิใจไทย มาตั้งแต่เมื่อคราวที่มีการโหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 จนทำให้มีเสียงเรียกร้องให้ภูมิใจไทยถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล แต่แล้วทุกอย่างก็ดูเหมือนว่าจะเป็นเพียงแค่ “การแสดง” เป็นดราม่าทางการเมืองเท่านั้น เพราะนาทีนี้ ใครจะเลือกประกาศถอนตัวจากการเป็นรัฐบาล สละเรือไปก่อนถึงวันเลือกตั้งใหม่ เพราะหากทำเช่นนั้น ก็แทบจะไม่ได้อะไร มิหนำซ้ำ พรรคภูมิใจไทยเองก็ไม่สามารถหันไปร่วมกับ “พรรคฝ่ายค้าน” ได้เพราะอย่าลืมว่า ระหว่าง “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ และเจ้าของพรรคเพื่อไทย ตัวจริง กับ “เนวิน ชิดชอบ” ตัวจริงเสียงจริงของภูมิใจไทย ต่างอยู่ในสภาพที่เรียกว่า “ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ” จึงหมายความว่าแท้จริงแล้ว พรรคภูมิใจไทยต้องเลือกยืนอยู่ในสถานะ “รัฐบาล” ไปพร้อมๆกับการเตรียมความพร้อม ทั้งการสะสมเสบียง ทุนรอนไปจนถึงเตรียม วางคนลงสนามเลือกตั้ง เมื่อโอกาสมาถึง คือการเลือกทางเดินที่เหมาะสมมากกว่า การหันหลังกระโดดลงจาก “เรือเหล็ก” และยังไม่สามารถไปอยู่ร่วมกับ พรรคเพื่อไทย โจทก์เก่าได้อีก ความเคลื่อนไหวทางการเมือง ในภาคสนาม ของทั้งพรรคพลังประชารัฐ ไปจนถึง “พรรคนอมินี” ของ “ พี่น้อง 3ป.” ที่มีข่าวว่า “บิ๊กฉิ่ง” ฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ไปเตรียมการเอาไว้แล้วในนาม “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพิ่งให้การรับรองไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา คือจุดโฟกัสที่คอการเมืองกำลังจับตา ว่าจะขยับ ต่อไปอย่างไร นอกเหนือไปจากการมีพรรคพลังประชารัฐ ที่เคลื่อนไหวในระดับพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่า แม้วันนี้พี่น้อง “ 3ป.” ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ยังคงนั่งอยู่ในตำแหน่งอย่างแน่นหนา แต่การอยู่อย่างมั่นใจในอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จนั้น ยังต้องมองไปถึง “วันข้างหน้า” ว่าจะวางเกมการเมืองอย่างไร การเปิดเกมรุกเข้าไปในพื้นที่ฐานเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ โดยพรรคพลังประชารัฐที่ผ่านมา ย่อมสร้างความไม่พอใจให้ทั้งฝ่ายค้าน รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันก็คงไม่เว้น และที่น่าสนใจไปมากกว่านั้น การรุกของ “3ป.” นั้นนอกจากจะ “มือทำงาน” อย่าง “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นมือทำงานที่ฝากผลงานคว้าเก้าอี้ส.ส.จากการเลือกตั้งซ่อม ให้พรรคมาแล้วทั้งที่นครศรีธรรมราช ทั้งที่สนามเลือกตั้งซ่อมลำปาง มาแล้ว จนมีข่าวว่า บิ๊กป้อม อาจจะให้ร.อ.ธรรมนัส ลงมาคุมทัพในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. อีกด้วยแล้ว ยังน่าสนใจว่า ภายในพรรคภูมิใจไทยเอง แท้จริงแล้วใช่ว่า ถนนทุกสายจะขึ้นตรงกับ เนวิน เพียงคนเดียว อย่าลืมว่า ภายในพรรคยังมีท่อน้ำเลี้ยงที่น่าสนใจด้วยกัน ถึงสองสาย หนึ่งคือสายโคราช อย่าง “กำนันป้อ” วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.คมนาคม เจ้าของโรงแป้งมันเอี่ยมเฮงอุตสาหกรรม และอีกหนึ่งคือ “นาที รัชกิจประการ” ที่แม้วันนี้เธอเองจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองเนื่องจากแจ้งบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ส่วนสามี คือ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” ได้โควต้าพรรคนั่งรมช.ท่องเที่ยวและการกีฬา ทั้งคู่ต่างเป็นเจ้าของธุรกิจรายใหญ่ในภาคใต้ปั๊มน้ำมันพีที (พีทีจี เอ็นเนอยีฯ), สวนปาล์ม, รังนก และฟาร์มกุ้ง มีรายงานความเคลื่อนไหวในระดับพื้นที่ว่าในส่วนของภาคใต้นั้น แม้นาที จะอยู่ภายใต้สังกัดพรรคภูมิใจไทย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องอยู่ตลอดไป โดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงขึ้นในวันข้างหน้า การรุกเข้าพื้นที่ภาคใต้ อันเป็นฐานที่มั่นของพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยกันหลายจังหวัด คือปัญหาใหญ่ที่สร้างรอยร้าวระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับ พลังประชารัฐ อย่างชัดเจน แต่ถึงกระนั้นใช่ ว่า พรรคพลังประชารัฐ จะหยุดเล่นเกมที่มองเห็นอนาคตแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม การเคลื่อนไหวของนาที แม่ทัพภาคใต้ของพรรคภูมิใจไทย ต่างหากที่ยังไม่มีใครบอกได้ชัดเจนว่า หากสามารถสร้างผลงานสำเร็จ เข้าตากรรมการได้แล้ว โอกาสที่จะย้ายสังกัดนั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ ยังไม่มีใครรู้ แต่ที่แน่ๆ เรื่องนี้ อาจทำให้ “คนโตเมืองบุรีรัมย์” ไม่สบายใจนัก !