ทุกวันนี้จะเห็นตัวเลขของผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3 ในประเทศไทยยังไม่ลด เพราะยังพบคลัสเตอร์ใหม่ๆเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ใจกลางเมืองของประเทศ ซึ่งส่งผลให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าได้ไม่เต็มที่
เม็ดเงินที่รัฐบาลใช้อัดฉีดในการกระตุ้นเศรษฐกิจแทบจะกลายเสมือน “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ”
ซึ่ง “นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากผลกระทบการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 3 ที่มีความรุนแรง รวมถึงการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอน ทำให้กว่าที่เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้เท่ากับก่อนเกิดโควิด-19 อาจต้องรอไปถึงไตรมาสแรกของปี 2566
ทั้งนี้ที่ผ่านมาภาครัฐ และ ธปท. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือในหลายกลุ่มธุรกิจ เช่น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผ่านมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) แต่ยังมีข้อจำกัดในการให้ความช่วยเหลือ ทำให้ความช่วยเหลือเดิมไม่เพียงพอ จึงต้องยกระดับการช่วยเหลือเพิ่มขึ้น โดย ธปท. ได้ร่วมมือกับกระทรวงการคลัง ในการออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท ด้วยการปลดล็อกข้อจำกัดของซอฟต์โลนเดิม เพื่อให้ลูกหนี้เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น รวมถึงขยายเวลาการช่วยเหลือเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับธุรกิจที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว พร้อมทั้งขยายวงเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม เพื่อให้เพียงพอในการฟื้นตัว และกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมและเอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน โดยเฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปี อัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรก อยู่ที่ไม่เกิน 2% ต่อปี พร้อมทั้งเว้นดอกเบี้ยให้ 6 เดือนแรก
ขณะเดียวกันได้เพิ่มกลไกการค้ำประกันผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยเฉพาะรายเล็กจะได้รับการค้ำประกันในสัดส่วนที่สูงกว่าส่วนอื่นๆ เพราะส่วนใหญ่มีสภาพคล่องไม่มาก มีสายป่านสั้น และต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว
จึงเป็นการส่งสัญญาณเตือนไปยังรัฐบาล และผู้ประกอบการให้ระวังตัวเอง ในการวางแผนทำธุรกิจอย่างไม่ประมาท!
และเพื่อเป็นการตอกย้ำ! ให้เห็นถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเจาะลึกตัวอย่างในเดือนเมษายน 2564 ซึ่ง “น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2564 เริ่มได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอก 3 ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนลดลงจากเดือนก่อนในทุกหมวดการใช้จ่าย โดยเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่เห็นได้ชัดที่ปรับลดลง อาทิ หมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่ อย่างไรก็ดีการส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้า และช่วยพยุงการผลิตภาคอุตสาหกรรม ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐมีบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ต้องจับตาในเวลานี้ เนื่องจากเป็นความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อภาคการส่งออก และการผลิตในระยะข้างหน้า คือ 1.ตู้คอนเทนเนอร์ไม่เพียงพอ และยังกระจุกตัวอยู่ในบางประเทศ ซึ่งสถานการณ์นี้อาจยืดเยื้อไปถึงไตรมาส 4 ของปีนี้ ทำให้กลุ่มสินค้าที่มี margin น้อยได้รับผลกระทบรุนแรง เช่น อาหารแปรรูป เครื่องนุ่งห่ม ในขณะที่กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย เนื่องจากผู้ซื้อบางรายชะลอคำสั่งซื้อ และผู้ผลิตบางรายชะลอการผลิต
2.กลุ่ม Semiconductor กำลังการผลิตลดลงจากภัยธรรมชาติในช่วงก่อนหน้า ซึ่งสถานการณ์นี้อาจยืดเยื้อไปถึงต้นปี 65 กลุ่มที่ได้รับผลกระทบบ้าง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าบางรุ่นที่ใช้ชิปขั้นสูง ซึ่งการผลิตจะล่าช้าและมีต้นทุนสูงขึ้น ส่วนกลุ่มยานยนต์ได้รับผลกระทบไม่มากนัก เพราะผู้ผลิตบางรายมีการสต๊อกวัตถุดิบไว้แล้ว และมีการบริหารจัดสรรชิปให้โมเดลที่มีความต้องการสูงก่อน โดยพบการหยุดผลิตชั่วคราวในบางยี่ห้อและบางรุ่นเท่านั้น
3.สินค้าเหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็กจากผลของจีนปิดโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐานสิ่งแวดล้อม และจำกัดการส่งออกเหล็ก ซึ่งสถานการณ์อาจยืดเยื้อถึงไตรมาส 3 ปีนี้ ภาวะดังกล่าวส่งผลให้ต้นทุนธุรกิจก่อสร้างสูงขึ้น Margin ลดลง โดยเฉพาะรายเล็กที่อาจพบการทิ้งงาน เนื่องจากขาดทุน ขณะที่รายใหญ่ยังพอแบกต้นทุนได้บ้างจากที่มีสัญญาค่า K ในขณะที่กลุ่มค้าวัสดุก่อสร้าง จะได้รับประโยชน์จากราคาขายที่สูงขึ้น
ด้านสถาบันการเงินที่ผนึกกำลังในการช่วยเหลือภาครัฐ และเอกชน เพื่อให้พ้นวิกฤติในช่วงนี้ ซึ่ง “ผยง ศรีวณิช” ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ภาคธนาคารเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการช่วยเหลือให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤต ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะความช่วยเหลือทางการเงินเท่านั้น ยังได้ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ต่อยอดนำดิจิทัลแพลตฟอร์มและข้อมูลของภาครัฐเข้ามาช่วยเสริมกลไกภาครัฐในการกระจายวัคซีนไปยังประชาชน เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเร็วที่สุด
นอกจากนี้ยังได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ออกมาตรการสินเชื่อรายย่อย มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องและลดภาระทางการเงินให้กับผู้ประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้เม็ดเงินจำนวนมากหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ มีผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นรากฐานของเศรษฐกิจไทยเกี่ยวข้องถึง 2.5 ล้านราย หรือประมาณ 81% ของผู้ประกอบการ SMEs ทั้งประเทศ และเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการจ้างงานมากที่สุดถึง 9 ล้านคน คิดเป็น 77% ของการจ้างงานในภาค SMEs หรือมากถึง 54% ของการจ้างงานทั้งหมด
“ภายใน 6 เดือน ทางสถาบันการเงินในสมาคมธนาคาร คาดว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อมาตรการฟื้นฟูฯ ได้ราว 1 แสนล้านบาท และประเมินว่าหัวใจของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือความเร็วในการได้มาซึ่งวัคซีน และความเร็วในการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง เพราะกิจการต่างๆ จะฟื้นตัวได้ต้องอาศัยการเคลื่อนที่ การมีวัคซีนจะทำให้เกิดการเคลื่อนที่และเอื้อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยคาดการณ์ว่าหากกระจายวัคซีนเป็นไปตามแผน ในไตรมาส 4 ปีนี้ก็น่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว และปีนี้มีโอกาสที่จะเห็น GDP เติบโตได้ 1.5% ถ้าภาครัฐกระจายวัคซีนได้อย่างทั่วถึงในเดือนกรกฎาคมนี้ตามแผน แต่ถ้าลากยาวออกไปถึงเดือนสิงหาคม ผลกระทบก็จะเกิดเป็นระลอกๆ”
สุดท้าย! “สติ-กำลังใจ” เท่านั้น ที่จะทำให้ทุกอย่างผ่านพ้นไป