สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
พระอุปคุปต์ เป็นรูปเคารพที่สร้างขึ้นแทนพระอรหันต์สาวกสำคัญรูปหนึ่ง ซึ่งได้รับการยกย่องว่า มีความเป็นเลิศทางอิทธิฤทธิ์ในสมัยหลังพุทธกาล เช่นเดียวกันกับที่ พระโมคคัลลาน์ ได้รับการยกย่องสมัยเมื่อครั้งพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์ชีพ ท่านมีอีกชื่อว่า "พระบัวเข็ม" ความเป็นมาในการบูชา ‘พระอุปคุปต์’ สืบสาวราวเรื่องได้ว่าเริ่มต้นมาจากชาวมอญครับผม
มอญ เป็นชนชาติโบราณที่อาศัยอยู่ในแถบตอนล่างของพม่า เขตเมืองเมาะตะมะ เมาะลำเลิง พะสิม หงสาวดี ก่อตั้งเป็นอาณาจักรศิริธรรมวดี โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองหงสาวดี นับถือศาสนาพุทธลัทธิลังกาวงศ์ ก่อนจะถูกพวก "พยู "หรือ พม่า รุกรานจนต้องอพยพหลบหนีและกลายเป็นเมืองขึ้น กระทั่งถูกกลืนชาติในที่สุด อย่างไรก็ตาม ปรากฏหลักฐานค่อนข้างแน่ชัดว่า มอญ เป็นกลุ่มชนชาติที่กระจายตัวอยู่ทั่วไปในแถบสุวรรณภูมิตั้งแต่ยุคทวารวดี เนื่องจากความสัมพันธ์ทางศาสนาและการค้า รูปงานประติมากรรมและงานสถาปัตยกรรม ที่ค้นพบในแถบ นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์
ในช่วงกรุงศรีอยุธยา ชาวมอญจำนวนมากอพยพหนีภัยพม่าเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารกษัตริย์แห่งสยามประเทศ โดยตั้งบ้านเรือนอยู่ชานพระนครกรุงศรีอยุธยาและบริเวณเมืองนนทบุรี ในสมัยกรุงธนบุรีชาวมอญได้ตั้งบ้านเรือนเป็นหลักเป็นฐานอยู่บริเวณบ้านสามโคก ปทุมธานี และบริเวณเกาะเกร็ด นนทบุรี เนื่องจากพระองค์ทรงมีพระราโชบายที่จะรวบรวมผู้คนให้เข้ามาตั้งรกรากในพระนครธนบุรีที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่
การอพยพของชาวมอญที่เป็นต้นตระกูลมอญปากเกร็ดนั้น เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในช่วงสมัยรัชกาลที่ 2 ซึ่งทรงโปรดฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณ ปากเกร็ด สามโคก และที่ปากลัด นครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง) อันเป็นจุดเริ่มต้นให้ชาวมอญกระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย แต่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีที่เคร่งครัด กลายเป็นเอกลักษณ์แม้จะผสมกลมกลืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชาวไทยไปแล้วก็ตาม ที่จะยกมากล่าวถึงนี้คือ “ประเพณีลอยกระทง” ที่ชาวมอญมีคติความเชื่อแตกต่างจากไทยมาแต่ครั้งอดีต และนับเป็นต้นกำเนิดแห่ง “การบูชาพระอุปคุปต์”
ขณะที่สยามประเทศเชื่อเรื่อง “การบูชาพระแม่คงคา” ตลอดจนประเพณีการจองเปรียง หรือตำนานของนางพระยากาเผือก อันเป็นการผสมผสานระหว่างคติฮินดูกับพุทธศาสนา ชาวมอญ กลับมีความเชื่อว่าประเพณีลอยกระทงผูกพันกับ “พระอุปคุปตเถระ” พระมหาเถระผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ ปรากฏเรื่องราวทางพุทธศาสนาว่า ท่านบำเพ็ญธรรมอยู่กลางมหานทีอันกว้างใหญ่ในโลหะปราสาท เมื่อครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช โปรดฯ ให้กระทำสังคายนาพระไตรปิฎกเป็นครั้งที่ 3 ปรากฏพญามารมาก่อกวนมณฑลพิธี จนต้องอาราธนา ‘พระอุปคุปต์’ มาปราบ การสังคายนาพระไตรปิฎกจึงสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
ในสมัยที่ชาวมอญตั้งเรือนอยู่ที่เมืองสะเทิม เมืองหงสาวดี และเมืองเมาะตะมะ หรือในราชสำนักของกษัตริย์มอญก็ดี ประชาชนชาวมอญทั้งหลายที่อาบน้ำอาบท่าลงในแม่น้ำลำคลอง น้ำที่สกปรกเหล่านั้นก็หลั่งไหลลงสู่มหาสมุทร ดังนั้น เพื่อเป็นการขอขมาลาโทษต่อ “พระอุปคุปตเถระ” เมื่อถึงวันเพ็ญ เดือน 12 ของทุกปี ชาวมอญจึงพากันบูชาพระอุปคุปต์ โดยการสร้างเป็นแพไม้ไผ่ขนาดใหญ่ มุงด้วยใบจาก ภายในบรรจุอาหารคาวหวาน ข้าวของเครื่องใช้ รูปจำลองขององค์พระอุปคุปต์ ซึ่งทุกเรือนชานบ้านช่องจะพากันบริจาคข้าวของสิ่งละอันพันละน้อย จากนั้นนำแพไม้ไผ่ไปลอยลงแม่น้ำใหญ่หรือทะเล หากผู้ใดตกทุกข์ได้ยากขาดแคลน เมื่อพบเจอแพบูชาก็สามารถนำข้าวของต่างๆ ไปใช้ อันนับเป็นการทำกุศลของชาวมอญอีกลักษณะหนึ่ง
ธรรมเนียม “การบูชาพระอุปคุปต์” นี้ แพร่หลายในหมู่ชาวพม่า โดยมีการสร้างรูปเคารพในลักษณะพระพุทธรูปไม้ นั่งอยู่กลางน้ำ บนพระเศียรคลุมด้วยใบบัว และมีเข็มปักติดอยู่ทั่วพระกาย สื่อความหมายถึงพระธรรมที่ทรงแสดงปราบพญามาร นอกจากนี้ ชนชาติเขมรยังรับคติความเชื่อเรื่องพระอุปคุปต์มาจำลองเป็นเทวประติมากรรมขนาดเล็ก ทำด้วยสัมฤทธิ์ เป็นรูปองค์พระนั่งอยู่ในเปลือกหอยลักษณะต่างๆ
สำหรับประเทศไทย รูปเคารพอุปคุปต์ เข้ามาแพร่หลายในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยพระรามัญได้นำมาถวายพระวชิรญาณภิกขุ (ต่อมาคือ รัชกาลที่ 4) ซึ่งต่อมากลายเป็นที่นิยมและมีการจัดสร้างกันอย่างกว้างขวางจนถึงปัจจุบัน โดยเชื่อในพุทธคุณว่าเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ ก่อให้เกิดลาภผล ความมั่งมี ขจัดภยันตราย และมีอิทธิฤทธิ์ในทางขอฝนอีกด้วยครับ