ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต
“ความรัก...เป็นนัยทางความรู้สึกที่เต็มไปด้วยเงื่อนไขจำเพาะอันสลับซับซ้อน มันขึ้นอยู่กับนิยามแห่งความเข้าใจในประสบการณ์ชีวิตของแต่ละบุคคล หลายๆขณะที่ความรัก ถูกเปรียบเป็นความสามัญของสัญชาตญาณอันเต็มไปด้วยแรงปรารถนา แต่อีกหลายๆขณะ ความรักก็ถูกเปรียบเป็นกลไกที่ลึกซึ้งแห่งจิต...เหตุนี้ชีวิตโดยส่วนตัวของความรักจึงเป็นเรื่องที่ชวนศึกษาและใคร่ครวญ...เป็นแบบอย่างของรสสัมผัสที่ยากแก่การตีความ...แม้ว่าเหมือนจะรู้ แต่ก็ยากที่จะเป็นสิ่งที่รู้ได้ง่ายๆ..นั่นย่อมหมายถึงว่า การสื่อสารที่เกี่ยวเนื่องกับความรักจึงมักจะมีอุบัติการณ์พิเศษเกิดขึ้นได้เสมอ...ไม่ว่าจะเป็นในทุกข์หรือสุขก็ตาม...รายละเอียดของความรักจึงเป็นเรื่องที่ตกอยู่กับวงจรของการสืบค้น...ผ่านวิถีแห่งกายและใจอันสมบูรณ์...วิถีแห่งกายและใจที่มีอำนาจเหนือตัวตนจนบังเกิดเป็นความสั่นไหวและนี่คือ..ค่าความหมายอันไม่รู้จบที่ความรักได้มอบให้แก่โลกและเราเสมอ”
ประเด็นแห่งคำกล่าวต่อความรักข้างต้น...คือจุดมุ่งหมายโดยรวมของ “ศิลปะแห่งการรัก” (THE ART OF LOVING)...หนังสือแห่งความรักที่มีค่าของ “อีริค ฟรอมม์” (ERICH FROMM) ปราชญ์และนักเขียนคนสำคัญของโลกชาวเยอรมันนี...ผู้ได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนที่เปี่ยมไปด้วยความรัก..เขามีทรรศนะโดยรวมต่อความรักว่า...ความรักนั้นไม่มีจุดประสงค์...แม้ว่าหลายๆคนอาจกล่าวและเชื่อว่ามีอย่างแน่นอน..
“พวกเขาจะบอกว่า..มันคือความรักที่ทำให้เราสนองความต้องการทางเพศ แต่งงานมีลูก และใช้ชีวิตปรกติของชนชั้นกลางได้..นั่นคือจุดประสงค์ของความรัก และนั่นคือสาเหตุที่ความรักช่างหายากในวันนี้ ความรักที่ปราศจากเป้าหมาย รักในที่ซึ่ง สิ่งเดียวที่สำคัญคือ..การปฏิบัติการรักในตัวของมันเอง...ในความรักประเภทนี้ แท้จริงมันคือ การเป็น(BEING) และไม่ใช่การบริโภค(CONSUMING)..ที่เล่นบทหลัก...มันคือการแสดงออกในตัวของมนุษย์...คือการได้แสดงเต็มที่ในความสามารถของมนุษย์ของเรา... ที่รักแสนงามของผม..ผมรักคุณมันจึงเจ็บปวด แต่ความเจ็บปวดนั้นอ่อนหวานและอัศจรรย์ ผมอยากให้คุณรู้สึกถึงมันในการหลับของคุณ”
ตัวอย่างแห่งนิยามความรักของ “ฟรอมม์” บทนี้..เขียนขึ้นในทศวรรษ 1970..เพื่อสื่อกับ “แอนนิส” ผู้เป็นภรรยาในขณะที่เขาตื่นขึ้นก่อนเธอ...และเป็นการสื่อถึงโลกแห่งชีวิตว่า...หากความรักเป็นความสามารถของบุคลิกที่มีวุฒิภาวะและเจริญงอกงามแล้ว ผลที่ตามมาก็คือ...ความสามารถที่จะรักของแต่ละปัจเจกชนในแต่ละวัฒนธรรมนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับ อิทธิพลของวัฒนธรรมนั้นมีต่ออุปนิสัยของคนโดยทั่วไป...ยิ่งถ้าเราพูดถึงความรักในวัฒนธรรมตะวันตกร่วมสมัย...เราก็หมายจะถามว่า..โครงสร้างทางสังคมของอารยธรรมตะวันตกกับจิตวิญญาณอันเป็นผลจากมัน ได้นำสู่พัฒนาการของความรักหรือไม่?...การตั้งคำถามในลักษณะนี้...ก็คือการตอบในเชิงปฏิเสธ..ไม่มีผู้ใดเฝ้าสังเกต...
“ชีวิตตะวันตกที่ไร้อคติ สามารถสงสัยว่า...ความรัก-ความรักฉันพี่น้อง ความรักของแม่และ ความรักทางกามารมณ์...เป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างหายาก และตำแหน่งแห่งที่ของมัน ก็ถูกแทนที่ด้วยความรักจอมปลอมจำนวนหนึ่ง..ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว..นั่นเป็นรูปแบบนานาของการแตกสลายลงของ...ความรัก”
ภาวะแห่งความรักกับการแตกสลาย ในพื้นที่ชีวิตของซีกโลกตะวันตกนี้..ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่า..ความรักของคนในสังคม...ก็จำต้องเป็นไปตามอุปนิสัยทางสังคมของมนุษย์สมัยใหม่นี้..แน่นอนว่า หุ่นยนต์ไม่สามารถที่จะรักได้...มันทำได้แค่แลกเปลี่ยน “ชุดบุคลิกภาพ” โดยหวังในการต่อรองที่เป็นธรรม...หนึ่งในการแสดงออกที่มีความหมายที่สุดของความรัก ก็คือการแต่งงาน ซึ่ง...ที่สุดแล้ว ทางฝ่ายสามีก็ควรจะต้องเข้าใจภรรยา และทำตัวให้เป็นประโยชน์...เขาควรชมเสื้อผ้าชุดใหม่ของเธอ อาหารจานอร่อย ส่วนในทางกลับกัน เธอก็ควรเข้าใจ เมื่อเขากลับมาบ้านอย่างเหน็ดเหนื่อยและบูดบึ้ง เธอควรตั้งใจฟังเมื่อเขาพูดเกี่ยวกับปัญหาทางธุรกิจ...ควรเข้าใจและไม่โกรธเมื่อเขาลืมวันเกิดของเธอ...การกระทำเช่นนี้ อย่างน้อย ก็แสดงถึงความสัมพันธ์ที่หล่อลื่นกันระหว่างคนสองคน ที่ปฏิบัติหน้าที่ต่อกันและกันด้วยมารยาทและพยายามทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกันขึ้นมา...แม้ว่าในเชิงลึกแล้วอาจเป็นไปได้ว่า..คนสองคนนี้..มีโอกาสที่จะกลายเป็นคนแปลกหน้าต่อกันไปตลอดชีวิต...ค่าที่ต่างฝ่ายต่างไม่ได้เข้าถึง... “ความสัมพันธ์ที่เป็นหัวใจ”...และไม่อาจดำรงอยู่ในวิถีที่สามารถเป็น “อิสระอย่างสมเหตุสมผลได้ก็ตาม”...แต่นั่นคือรายละเอียดแห่งความเข้าใจอันถ่องแท้ของความรักที่สมควรต้องเรียนรู้และรับรู้อย่างกระจ่างชัดเอาไว้..
“ในแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องความรักและการแต่งงานนี้ เน้นในการหาที่หลบภัยจากความว้าเหว่อันสุดทนใน..ความรัก...อย่างน้อยที่สุดเราก็พบที่ลี้ภัยจากความว้าเหว่..เราสร้างพันธมิตรของสองคนเพื่อเผชิญโลก...แต่ การยึดถือในตัวตนแบบคู่นี้..คือความเข้าใจผิดในแง่มุมที่ว่า มันคือความรักและความผูกพันใกล้ชิด..”
แท้จริงแล้วนี่คือเงื่อนไขในรายละเอียดที่ซับซ้อนของความเข้าใจที่เกี่ยวเนื่องกับนิยามของความรักที่แท้...ตัวอย่างจากเรื่องความรักกับเพศสัมพันธ์ที่ล้วนแล้วแต่มีโครงสร้างที่จำเป็นต้องแยกแยะเพื่อสะท้อนถึงความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวด้วยมิติของความเชื่อมั่นที่สมบูรณ์...ว่ากันว่า..ความรักไม่ใช่ผลของการสุขสมทางเพศที่พอเพียง...แต่ความสุขจากเพศสัมพันธ์ แม้แต่ในความรู้ของสิ่งที่เรียกว่า..เทคนิคของการมีเพศสัมพันธ์ ก็คือผลของความรัก..ถ้านอกจากการสังเกตเป็นประจำทุกวันแล้ว ...สมมุติฐานนี้ต้องการข้อพิสูจน์..และข้อพิสูจน์ในกรณีนี้จะพบได้จากข้อมูลทางจิตวิเคราะห์จำนวนมาก ที่แสดงให้เห็นว่า..การศึกษาปัญหาทางเพศที่พบบ่อยที่สุดคือ...ความเย็นชาในฝ่ายหญิง และการหย่อนสมรรถนะทางเพศที่รุนแรงมากน้อยต่างกันจากปัญหาทางจิตของผู้ชาย..สมมติฐานดังกล่าวนี้ได้ยืนยันถึงว่า..สาเหตุแห่งปัญหาทั้งหมดทั้งสิ้น..ไม่ได้เกิดขึ้น...เพราะการขาดความรู้ในเทคนิคที่เหมาะสม..แต่มันเกิดจากอุปสรรคขัดขวางบางอย่างที่ทำให้รักไม่ได้..ความกลัวหรือความเกลียดชังอีกฝ่ายหนึ่ง นับเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาเหล่านี้ ที่ขัดขวางคนหนึ่งให้ออกจากการยินดีมอบตนโดยสมบูรณ์ จากการกระทำได้โดยธรรมชาติ จากความไว้วางใจในคู่ของตน ในภาวะสัมผัสเรือนร่างกันอย่างสนิทชิดใกล้..แน่นอนว่า..ถ้าคนที่ถูกปิดกั้นทางเพศสามารถหลุดออกจากความกลัวหรือความเกลียดชังและสามารถรักได้..ปัญหาทางเพศของเขาหรือเธอก็จะหมดไป...
“เพื่อช่วยคู่แต่งงานที่โชคร้ายและรักกันไม่ได้จึงมีหนังสือมากมายที่ให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศอันถูกต้องโดยให้คำมั่นอันเปิดเผยหรือบอกเป็นนัยว่า..แล้วความสุขกับความรักจะตามมา..ความคิดที่เป็นต้นตอก็คือว่า..ความรักเป็นลูกของความสุขทางเพศ..และถ้าคนสองคนเรียนรู้ที่จะทำให้อีกฝ่ายพอใจทางเพศได้ พวกเขาก็จะรักกัน..เรื่องนี้เข้ากับมายคติทั่วไปของยุคสมัยที่ทึกทักเอาว่า..การใช้เทคนิคที่ถูกต้องจะเป็นทางออกให้แก่ปัญหา ทั้งไม่เฉพาะปัญหาทางเทคนิคของการผลิตเชิงอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังจะช่วยแก้ปัญหาทั้งหมดของมวลมนุษย์ได้ด้วย..ซึ่งจริงๆแล้ว เราต่างมองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า..ด้านตรงข้ามของสมมติฐานนี้ต่างหากที่เป็นจริง...”
คำถามอันยิ่งใหญ่ของ “ฟรอมม์”อันเกี่ยวเนื่องกับความรักคือการเปิดประเด็นถึงว่า..”ความรักเป็นศิลปะหรือไม่?”..และหากว่ามันเป็น.มันต้องการความรู้หรือความพยายาม...หรือว่าความรัก...เป็นความรู้สึกพอใจ...
“ใช่ว่าผู้คนจะคิดว่าความรักไม่สำคัญ แท้จริงพวกเขากระหายมัน พวกเขาดูภาพยนตร์นับไม่ถ้วนที่เกี่ยวกับเรื่องราวของความรักทั้งที่สมหวัง และทั้งที่ไร้ความสุข ฟังเพลงขยะนับร้อยๆเพลงที่เกี่ยวกับความรัก.แต่ถึงกระนั้นก็แทบจะไม่มีใครคิดว่า.. มีสิ่งที่ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับความรัก...”
สำหรับในส่วนของสมมติฐานเบื้องหลังทัศนคติที่ว่า..ไม่มีอะไรต้องเรียนรู้เกี่ยวกับความรักนั้น.. “ฟรอมม์” ได้ระบุว่า..ปัญหาของความรัก เป็นปัญหาของ “เป้า”..(OBJECT) ไม่ใช่ปัญหาในเชิงความสามารถ(FACULTY)..อันหมายถึงว่า..คนเราส่วนใหญ่มักคิดไปว่า..การรักเป็นเรื่องง่ายๆ..แต่การหาเป้าที่เหมาะแก่การรัก หรือ เป็นที่รัก นั้นยาก...ทัศนคติแบบนี้ มีหลักฐานหลายอย่างที่มีรากอยู่กับการพัฒนาของสังคมสมัยใหม่..เหตุผลสำคัญอันหนึ่งก็คือว่า..การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่20..เกี่ยวกับการเลือก เป้าที่จะรัก. ในสมัยสมเด็จพระราชินี วิกตอเรีย แห่งอังกฤษ ระหว่างปี ค.ศ.1837-1901...รวมทั้งในวัฒนธรรมดั้งเดิมจำนวนมากนั้น ต่างถือว่า...
“ความรักไม่ใช่ประสบการณ์ส่วนบุคคลที่เป็นไปโดยธรรมชาติ และอาจ นำไปสู่การแต่งงาน ตรงกันข้าม การแต่งงานเป็นการจัดการตามประเพณี-อาจจะโดยครอบครัวที่เกี่ยวข้องหรือโดยแม่สื่อ ...มันสรุปอยู่บนฐานของการพิจารณาทางสังคม ที่เชื่อว่าความรักจะเกิดขึ้นเองหลังการแต่งงาน ซึ่งในระยะสองสามชั่วคนที่ผ่านมา แนวคิดเกี่ยวกับความรักโรแมนติก กลายเป็นเรื่องที่เกือบมีลักษณะทั่วไปในตะวันตก...ขณะที่การพิจารณาทางด้านประเพณียังไม่ได้หายไปไหนโดยสิ้นเชิง...คนส่วนใหญ่ก็ต่างแสวงหา...ความรักแบบโรแมนติก..หาประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับความรักเพื่อจะนำไปสู่การแต่งงาน..แนวคิดใหม่เกี่ยวกับเสรีภาพในความรักนี้คงต้องยกระดับความสำคัญของ เป้า ขึ้นอย่างมาก..เมื่อเทียบกับความสำคัญของหน้าที่..”
“ศิลปะแห่งการรัก”(THE ART OF LOVING)..ถือเป็นหนังสือที่งดงามทางคุณค่าที่อธิบายถึงรายละเอียดอันสลับซับซ้อนของชีวิต โดยวิเคราะห์เทียบเคียงกับสถานะแห่งวารวัยของชีวิต...บริบทของสังคมรอบข้างทั้งด้านเศรษฐกิจ โครงสร้างของสังคม ศาสนา ประวัติศาสตร์ จิตวิทยา รวมทั้งปรัชญาแห่งความเป็นชีวิต..ทั้งหมดสื่อผ่านทั้งทัศนคติและวิธีคิดอันแยบยลของ “อีริค ฟรอมม์” อย่างน่าพินิจพิเคราะห์..มันคือรูปรอยแห่งการนำเสนอประเด็นของความรักในทุกๆด้าน..ที่ชวนสืบค้นและแสวงหาผ่านการอ่านอย่างละเอียดละออและตั้งใจ..นัยแห่งความรักฉันพี่น้อง ความรักระหว่างพ่อแม่กับลูก ความรักระหว่างเพื่อน...ความรักระหว่างชายหญิง..ความรักในตนเอง ตลอดจนความรักในพระเจ้า...ล้วนเปิดเผยและตีแผ่อยู่ในหนังสือเล่มนี้..เพื่อรอคอยการสัมผัสและตีความในเชิงลึกจากเราทุกคน...แน่นอนว่า..ในบทสรุปแห่งความเข้าใจต่อความรักในมิติต่างๆ.. “ศิลปะแห่งการรักได้บอกกล่าวและยืนยันถึงว่า...” ความรัก คือการปฏิบัติแห่งศรัทธา...การรักเป็น ช่วยให้คนจำนวนมาก ได้พัฒนาความสามารถในการรัก และเข้าใจได้ว่า..การรักไม่ใช่บางสิ่งบางอย่างที่เป็นธรรมชาติ แต่ทว่ามันคือ..การเรียกร้องถึงวินัย ความตั้งใจ ความอดทน และความเชื่อ ที่ตั้งอยู่เหนือการหลงตัวเอง..มิใช่แค่ความรู้สึก..แต่มันคือการปฏิบัติ โดยแท้...”
สำหรับ “ฟรอมม์”..ความรักคือการกบฏต่ออุดมการณ์การพาณิชย์..ซึ่ง.หนังสือเล่มนี้ถือได้ว่ามาจากประสบการณ์ทั้งหมดของเขาโดยเฉพาะจากความรักที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตของเขาที่มีต่อ.. “แอนนิส ฟรีแมน” หญิงม่ายอดีตภรรยาของนักกฎหมาย ซึ่ง “ฟรอมม์” ในวัย 55 ปี ได้เพียรจีบเธอ ผ่านทางจดหมายรัก การจุมพิตและการให้คำมั่นสัญญาว่าจะดูแลเธอ..ซึ่งต่อมาเขาก็ได้ปฏิบัติต่อเธออย่างต่อเนื่องถึง 28 ปี..ความมุ่งมั่นและความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งดื่มด่ำนี้เอง ที่กลายมาเป็นส่วนของสาระเนื้อหาสำคัญของหนังสือเล่มนี้...หนังสือที่ได้ชื่อว่า...สร้างแรงบันดาลใจ..สร้างความเข้าใจ..ในเรื่องความรักอย่างลึกซึ้งมายาวนานร่วม50ปี..ท่ามกลางความเปลี่ยนแปรในด้านจิตวิทยา.หรือ.นิยามต่างๆทางการแพทย์ที่มักจะนิยามอารมณ์ใหม่ๆให้แก่เราอยู่เสมอ..การที่หนังสือเล่มนี้ยังคงอยู่กับเราและไม่แปรเปลี่ยนสูญหายไปตามกาลเวลาก็คงจะเพราะว่า.. “ฟรอมม์” ได้ให้คำอธิบายต่อความรัก ผ่านมิติแห่งศิลปะแห่งการรักได้อย่างกระทบใจและชัดเจนต่อผู้คนแห่งยุคสมัย...มันคือสัญญาณของการดำรงอยู่ร่วมกันด้วยภาวะแห่งการถ้อยทีถ้อยอาศัยในทางจิตปัญญาอันล้ำลึก ที่เฝ้าผสานและคอยโอบประคองกันด้วยหัวใจแห่งการใคร่ครวญที่จริงใจและบริสุทธิ์..เป็นเนื้อในแห่งความสัมพันธ์ที่ยากจะถูกทำลาย..
มองเห็นและสัมผัสได้ในความเพียรพยามของผู้แปล “สุรพงษ์ สุวจิตตานนท์”..ที่มุ่งหวังจะแปลหนังสือเล่มนี้ออกมาเพื่อให้ก่ออรรถประโยชน์อันสูงสุดต่อการอ่านและการศึกษา..โดยเฉพาะกับองค์ความรู้ที่มากมายและเปี่ยมไปด้วยคุณประโยชน์ของ “อีริค ฟรอมม์”..เพียงแต่ว่าสำนวนแปลในภาษาไทยยังไม่เกลี้ยงเกลาและละเมียดละไมนัก หากจะเทียบเอากับโครงสร้างแห่งภาษาสื่อสารจากต้นฉบับ..ภาษาที่ใช้หลายๆขณะดูเป็นวิชาการที่มีความจำเพาะเฉพาะตัวจนเกินไป..มันตั้งอยู่ในความประดักประเดิด ต่อความเชื่อมโยงสัมพันธภาพในการสื่อสารภาษาที่แนบชิดต่อกัน..ภาษาไทยเป็นภาษาที่จะลงตัวและกลมกลืนกันในทางผัสสะด้วยคำเชื่อมระหว่างอารมณ์ความรู้สึกของภาษากับความเป็นจริงแห่งเนื้อหาใจความเสมอ..สิ่งนี้มักเป็นอุปสรรคและปัญหาของการแปลความในบ้านเราเสมอ..แม้ว่าผู้แปลจะมีภูมิรู้ต่อศาสตร์แห่งเรื่องราวที่ทำการแปลอยู่นั้นมากมายสักเพียงใดก็ตาม...
“..ถ้าเราขาดความกล้าในเชิงปัจเจก...เราจะไม่มีวันบรรลุถึงความรักได้..ในเมื่อ ความรักคือการร่วมกันภายใต้..เงื่อนไขของการธำรงไว้ซึ่งความเป็นตนเองไว้อย่างครบถ้วน..ความรักไม่ใช่การหยิบฉวยเอา เพราะความรู้สึกไม่มั่นคง..แต่มันเริ่มจากการให้..ให้ความร่าเริงยินดี ความสนใจ ความเข้าใจ อารมณ์ขัน...ความโศกเศร้า..ให้ทุกการแสดงออก..รวมทั้งการประกาศให้เห็นถึงสิ่งที่มีชีวิตชีวาทุกสิ่งในตัวเรา”