กรมส่งเสริมการเกษตร ชวนปลูกมะม่วงหิมพานต์ พืชเคี้ยวมันคุณค่าสูง ดันเกษตรแปลงใหญ่สร้างอัตลักษณ์วิถีชุมชน มะม่วงหิมพานต์ (Cashew Nut) เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญพืชหนึ่งของประเทศ นิยมปลูกเพื่อนำเมล็ดมารับประทาน และส่งออก รวมถึงน้ำมันจากเปลือกเมล็ดนิยมใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมหลายด้าน เช่น น้ำมันขัดเงา กาว สีทาบ้าน หมึกพิมพ์ นอกจากนี้ ส่วนต่างๆ นิยมใช้ประโยชน์ทางการแพทย์หลายอย่าง นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ปี 2564 กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำโครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชเคี้ยวมัน ได้แก่ มะคาเดเมีย และมะม่วงหิมพานต์ เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตพืชเศรษฐกิจ โดยการรวมกลุ่มเกษตรกรที่สนใจการผลิตพืชเคี้ยวมัน จัดอบรมให้ความรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสนับสนุนปัจจัยจัดทำแปลงต้นแบบให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในส่วนภาคใต้ดำเนินการเฉพาะมะม่วงหิมพานต์ ในพื้นที่จังหวัดระนอง เน้นการอนุรักษ์พันธุ์ดั้งเดิม คือ พันธุ์เกาะพยาม ซึ่งมีลักษณะเด่น ผลเทียมมีสีเหลืองอมแดงจางๆ เมล็ดแท้ มีสีน้ำตาลอมเทา รูปร่างเมล็ดอวบใหญ่ ขนาดเมล็ดใหญ่ ให้เนื้อเมล็ดหลังกะเทาะเปลือกประมาณ 25% ปริมาณผลผลิตเฉลี่ย 5 ปี ประมาณ 4 กิโลกรัม/ต้น/ปี การดำเนินงานใช้กระบวนการแปลงใหญ่ เป็นกลไกการส่งเสริมและการบริหารจัดการด้านการผลิต พัฒนาคุณภาพ และการตลาด ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรนำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติจริง พร้อมขยายผลให้แก่เกษตรกรรายอื่นๆ ต่อไป นายถาวร ศรีสุข เกษตรจังหวัดระนอง ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันจังหวัดระนอง มีพื้นที่ปลูกมะม่วงหิมพานต์ หรือภาษาถิ่นเรียกว่า “กาหยู” ประมาณ 6,000 ไร่ โดยปลูกมากในตำบลเกาะพยาม ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ กลางทะเลอันดามัน มีพื้นที่ทั้งหมด ประมาณ 10,371 ไร่ เกษตรกรเกาะพยาม ได้รวมกลุ่มจัดตั้งแปลงใหญ่มะม่วงหิมพานต์ขึ้น ในปี 2561 ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองระนอง มีสมาชิก 40 คน พื้นที่ 1,256 ไร่ ปัจจุบันมีการบริหารจัดการกลุ่มที่เข้มแข็ง มีการพัฒนาตามประเด็นแปลงใหญ่ 5 ด้าน ได้แก่ การลดต้นทุนการผลิต จะเน้นการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ การตัดแต่งกิ่งหลังการเก็บเกี่ยว การส่งเสริมให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูก โดยคัดเลือกเมล็ดพันธุ์จากต้นพันธุ์ดีมีคุณภาพ เพาะขยายพันธุ์เอง การส่งเสริมให้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง และใช้สารชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช ทำให้สามารถลดต้นทุนจากเดิมไร่ละ 800 บาท เหลือไร่ละ 400 บาท ผลผลิตจากเดิมไร่ละ 50-60 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นเป็น 110 กิโลกรัม ได้รับการรับรองคุณภาพตามมาตรฐาน GAP และสินค้า OTOP สามารถแปรรูปจำหน่ายได้ราคาดี มีการบริหารจัดการตลาด โดยรวบรวมผลผลิตในรูปแบบกลุ่มส่งตลาด สร้างตลาดเครือข่ายรวบรวมสินค้า การตลาดออนไลน์ และต่อยอดเป็นวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรชุมชนเกาะพยาม สำหรับการส่งเสริมการผลิตพืชเคี้ยวมัน ก็จะขยายผลไปที่เกษตรกรรายใหม่ๆ ให้เข้ามาเรียนรู้ร่วมกับแปลงใหญ่และรวบรวมสมาชิกเพิ่มเติม มีแปลงต้นแบบที่เป็นแหล่งเรียนรู้ ในส่วนกิจกรรมส่งเสริมการเกษตรเชิงท่องเที่ยว เน้นสัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนเกาะพยาม เที่ยวชมตลาดใต้ม่วง ซึ่งเป็นตลาดจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนจากเกษตรกรโดยตรง การจัดกิจกรรมทัวร์สวนกาหยู มีการสาธิตและให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองต้ม อบ คั่ว เผา กะเทาะ ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิม คือ ใช้เตาฟืน จะทำให้ได้กลิ่นหอมน่ารับประทาน เป็นการนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่มาต่อยอด ก่อให้เกิดรายได้ต่อชุมชนและตัวเกษตรกรเอง รวมทั้งเป็นการทำการเกษตรเชิงอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจในชุมชนขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน ด้านนางประนอม ประสพบุญ ประธานแปลงใหญ่มะม่วงหิมพานต์ตำบลเกาะพยาม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มะม่วงหิมพานต์ เป็นพืชทนแล้ง ปลูกง่าย เจริญเติบโตเร็ว ดูแลง่าย แต่ก่อนนั้นปล่อยไปตามธรรมชาติ แต่หลังจากเกษตรอำเภอมาแนะนำให้รวมกลุ่ม และได้เข้าสู่แปลงใหญ่ มีการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ ปัจจุบันนอกจากสินค้ามะม่วงหิมพานต์แล้ว ได้พัฒนาต่อยอดพัฒนาสินค้าผลิตภัณฑ์ อื่นๆ เช่น สะตออบแห้ง ผลไม้รวมอบแห้ง ที่หลากหลายขึ้น และหากสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลายลง อยากให้ทุกคนมาเที่ยวชมเกาะพยาม ท่านจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่นี่ รับรองว่าจะมีรอยยิ้มกลับไปแน่นอน