กรมชลประทาน เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัยและวางมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนในพื้นที่ภาคตะวันออก พร้อมทั้งเน้นย้ำให้วางแผนเก็บกักน้ำไว้สำหรับใช้ในฤดูแล้งหน้าให้เพียงพอและทั่วถึงในทุกกิจกรรมเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้น ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ และดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมร่วมประชุมติดตามสถานการณ์น้ำ และการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับอุทกภัยพื้นที่ภาคตะวันออก ในพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 9 พร้อมตรวจเยี่ยมการดำเนินงานในพื้นที่บริเวณสถานีสูบน้ำคลองพระองค์ไชยานุชิต เติมอ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี ประตูระบายน้ำหาดยาง(ทุ่งบางพลวง พื้นที่ลุ่มต่ำจังหวัดปราจีนบุรี) จังหวัดปราจีนบุรี สถานีสูบกลับคลองสะพานเติมอ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง คลองภักดีรำไพ เพื่อผันน้ำเลี่ยงตัวเมือง จังหวัดจันทบุรี และสถานีวัดน้ำ KGT.3 จุดบรรจบต้นแม่น้ำปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี ผ่านระบบ VDO Conference นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ปัจจุบัน (2 มิ.ย.64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และกลางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 1,039 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 1,504 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทาน ได้วางแผนใช้พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณทุ่งบางพลวง (ฝั่งซ้ายของแม่น้ำปราจีนบุรี) และทุ่งแห (ฝั่งขวาของแม่น้ำปราจีนบุรี) ในการหน่วงน้ำ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ และเฝ้าระวังจุดเสี่ยงเกิดอุทกภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งได้กำหนดแนวทางบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกไว้ 8 มาตรการ ได้แก่ 1.การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ สำนักงานชลประทานที่ 9 2.การตรวจสอบอาคารชลประทาน เช่น อ่างเก็บน้ำ เขื่อนทดน้ำ ประตูระบายน้ำ ฯลฯ รวมถึงพนังกั้นน้ำ ในลำน้ำสายหลักและลำน้ำสาขาให้พร้อมใช้งานอย่างเต็มศักยภาพ 3.การกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง 4.การบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์ปฎิบัติการอ่างเก็บน้ำ 5.คาดการณ์สถานการณ์น้ำเป็นประจำ 6.ชี้แจงสร้างการรับรู้ให้ผู้เกี่ยวข้องทราบถึงผลกระทบทั้งด้านเหนือและท้ายน้ำ ให้ข้อมูลประกอบการ 7.แจ้งเตือนประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง และ8.เตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักรเครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ ประสานความร่วมมือสำนักงานชลประทานพื้นที่และส่วนกลาง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีความพร้อมต่อการรับมือสถานการณ์น้ำที่อาจจะเกิดขึ้น ด้วยการกำหนดพื้นที่เสี่ยง กำหนดคน กำหนดเครื่องจักรเครื่องมือ เข้าประจำไว้ในพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ ทั้งนี้ ได้กำชับให้ทุกโครงการชลประทาน บริหารจัดการน้ำตามมาตรการที่วางไว้อย่างเคร่งครัด ด้วยการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดทั้งปี พร้อมบริหารจัดน้ำท่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งจัดหาแหล่งเก็บกักน้ำ อาทิ แก้มลิง หรือบ่อน้ำต่างๆ เพื่อเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ไว้ใช้ในฤดูแล้งถัดไป ตลอดจนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานระดับจังหวัดทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด