เขียนโดย จางเหลย/กวอ รุ่ย แปลโดย ไช่ เจี้ยนซิน/ลู่ หย่งเจียง ตรวจแก้โดย ศิวัตรา สินพสุธาดล การสำรวจดาวอังคารมีความแตกต่างจากการสำรวจดวงจันทร์เป็นอย่างมาก เพราะโลกและดาวอังคารมีระยะห่างกันมากถึง 400 ล้านกิโลเมตร นอกจากนี้สภาพแวดล้อมของดาวอังคารก็มีความแตกต่างกับโลกที่เราอยู่ ชั้นบรรยากาศของดาวอังคารมีความเบาบางมาก และมักจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ เช่น ฤดูกาล ช่วงกลางวัน กลางคืน และพายุ ภูมิประเทศของดาวอังคารมีความสลับซับซ้อน และมีสิ่งกีดขวางจำนวนมาก เช่น ก้อนหิน พื้นที่ลาดชัน และหุบเขา พายุฝุ่นบนดาวอังคารมีความรุนแรงกว่าบนโลกที่เราอยู่เป็นอย่างมาก แต่เรายังไม่มีวิธีการสำรวจบรรยากาศจำลองบนดาวอังคาร และไม่มีข้อมูลที่ได้จากการสำรวจจริง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้การลงจอดบนดาวอังคารของยานสำรวจอวกาศเทียนเวิ่น-1 ต้องเผชิญกับความยากลำบากมากและมีความเสี่ยงสูงในการลงจอด 9 นาทีแห่งความเสี่ยงสูง หากต้องการลงจอดบนดาวอังคารอย่างปลอดภัย ก็ต้องให้ยานสำรวจอวกาศเทียนเวิ่น-1ที่เดินทางด้วยความเร็วสูงมากนั้นชะลอความเร็วลง นายหวัง ชวน นักออกแบบยานสำรวจอวกาศเทียนเวิ่น-1 จากบริษัทวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินอวกาศของจีนกล่าวว่า อุปกรณ์ชะลอความเร็วของยานสำรวจอวกาศเป็นเทคโนโลยีชะลอความเร็วที่ยากที่สุด เพราะว่า อุปกรณ์ดังกล่าว (ซึ่งมีลักษณะคล้ายร่ม) ของยานสำรวจอวกาศเทียนเวิ่น-1 จะต้องกางออกท่ามกลางความเร็วเหนือเสียง รวมทั้งความหนาแน่นของบรรยากาศ และความดันพลศาสตร์ (Dynamic Pressure) ที่ต่ำ ปฏิบัติการในขั้นตอนนี้จึงมีความยากลำบาก และปัจจัยที่ไม่แน่นอนมาก นายหวัง ชวน อธิบายว่า หลังเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร ยานสำรวจอวกาศเทียนเวิ่น-1 จะชะลอความเร็วเนื่องจากได้รับแรงเสียดทานของชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร โดยความเร็วจะลดลงประมาณ 90% ในขั้นตอนนี้ ยานสำรวจอวกาศเทียนเวิ่น-1จะต้องมีความทนทานต่ออุณหภูมิที่สูงมาก และไม่เกิดการเอนเอียง จากนั้นยานสำรวจอวกาศเทียนเวิ่น-1 จะกางอุปกรณ์ชะลอความเร็วออก เมื่อความเร็วลดลงถึง 100 เมตรต่อวินาที เพื่อชะลอความเร็วของยานลงจอดให้เกือบเป็นศูนย์ จรวดถอยหลังของยานลงจอดจะเริ่มทำงาน โดยยานลงจอดจะบินเหนือพื้นผิวดาวอังคารประมาณ 100 เมตร จากนั้นยานลงจอดจะเลือกพื้นที่ค่อนข้างเรียบ และลดระดับลงอย่างช้าๆ ลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารอย่างปลอดภัย ในกระบวนการลงจอด ยานสำรวจอวกาศเทียนเวิ่น-1 ต้องลดความเร็วจาก 20,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ลงมาเป็นศูนย์ภายในระยะเวลา 9 นาที แม้จีนจะเคยมีประสบการณ์ส่งยานอวกาศลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ แต่ภารกิจส่งยานสำรวจอวกาศเทียนเวิ่น-1 ลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารนั้นมีความยากลำบากและสลับซับซ้อนมากกว่า เพราะด้านหนึ่งความหนาแน่นของชั้นบรรยากาศบนพื้นผิวดาวอังคารมีประมาณ 1% ของชั้นบรรยากาศบนพื้นผิวโลก และสภาพแวดล้อมบนพื้นผิวดาวอังคารมีความสลับซับซ้อนกว่าของดวงจันทร์เป็นอย่างมาก อีกด้านหนึ่งดาวอังคารมีระยะห่างไกลจากโลกมาก และมีเวลาที่เหลื่อมในการสื่อสารประมาณ 20 นาที ภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้ ช่วงเวลา 9 นาทีที่มีความเสี่ยงสูง ยานอวกาศเทียนเวิ่น-1ต้องปฏิบัติงานโดยอัตโนมัติไม่มีการควบคุมใดๆ จากภาคพื้นโลก ปัจจุบันอัตราความสำเร็จของมนุษย์ในการปฏิบัติภารกิจสำรวจดาวอังคารมีเพียงประมาณ 50% เท่านั้น อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นใน 3 ขั้นตอนดังต่อไปนี้ คือ 1. ขั้นตอนที่ยานสำรวจอวกาศเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร 2. ขั้นตอนที่ยานสำรวจอวกาศร่อนลงสู่พื้นผิวดาวอังคาร และ 3. ขั้นตอนที่ยานสำรวจอวกาศลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคาร นายซุน เจ๋อโจว นักออกแบบยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารของยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 จากบริษัทวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินอวกาศจีนกล่าวว่า 3 ขั้นตอนดังกล่าวเป็นขั้นตอนที่ทำได้ยากที่สุดในการสำรวจดาวอังคาร ในกระบวนการดังกล่าว ต้องมีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ อย่างผสมผสาน เช่น ยานอวกาศที่ถูกออกแบบพิเศษตามหลักอากาศพลศาสตร์ อุปกรณ์ชะลอความเร็ว เครื่องยนต์ เทคโนโลยีชะลอความเร็วติดต่อกันหลายครั้ง และเทคโนโลยีแรงสะท้อนกลับก่อนยานลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคาร ทุกส่วนมีความสำคัญจึงสามารถนำยานสำรวจอวกาศลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารได้อย่างปลอดภัย ทุกขั้นตอนต้องมีความถูกต้องแม่นยำ ความผิดพลาดเพียง 1 วินาทีจะทำให้การปฏิบัติภารกิจประสบความล้มเหลว เกราะหุ้มยานและภารกิจของรถสำรวจบนดาวอังคาร การที่ยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 สามารถข้าม “น้ำและภูเขาเรือนพันเรือนหมื่น” ลงจอดบนดาวอังคารด้วยความสำเร็จนั้น อุปกรณ์พิเศษชิ้นหนึ่งที่จะไม่เอ่ยถึงเลยไม่ได้ นั่นก็คือ “เกราะหุ้มยาน” สีเงิน หรือที่คนจีนเปรียบเทียบว่าเป็น “แจ๊กเกตสีเงิน” ที่ผลิตโดยโรงงาน 529 สังกัดสถาบันวิจัยที่ 5 ของกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศแห่งชาติจีนหลังผ่านการวิจัยและพัฒนาอย่างละเอียดมาเป็นเวลา 2 ปี ในวงโคจรที่เข้าใกล้ดาวอังคาร ยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 จะต้องผ่านอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงตามวงโคจรหลายรอบ โดยมีอุณหภูมิสูงสุดถึง 100 องศาเซลเซียสและอุณหภูมิต่ำสุดถึงลบ 120 องศาเซลเซียส สภาพแวดล้อมที่แตกต่างของอุณหภูมิมากกว่า 200 องศาเซลเซียสเช่นนี้ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการทำงานของอุปกรณ์ภายในยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 นอกจากนี้เวลาที่รับแสงอย่างต่อเนื่อง สภาวะสุญญากาศในระดับสูงของห้วงอวกาศทำให้ยานเทียนเวิ่น-1 ไม่สามารถถ่ายโอนความร้อนเช่นเดียวกับเครื่องบินได้ ดังนั้นพื้นผิวของยานอวกาศด้านที่หันหน้าไปทางดวงอาทิตย์จะมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทําให้มีอุณหภูมิที่แตกต่างอย่างมหาศาลกับพื้นผิวของยานอวกาศด้านที่หันหลังให้ดวงอาทิตย์ เจ้าหน้าที่วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของโรงงาน 529 สถาบันวิจัยที่ 5 ของกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศแห่งชาติจีนแนะนำว่า “สภาวะดังกล่าวจะทำให้เกิดความไม่สมดุลของอุณหภูมิภายในยานลงจอดและตระเวนสำรวจดาวอังคารอย่างรุนแรง ทําให้ “อุปกรณ์ภายใน” ของยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 บางส่วนต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่หนาวเหน็บ และบางส่วนต้องเผชิญกับความร้อนสูง ง ยิ่งไปกว่านั้นการแผ่รังสีอัลตราไวโอเลตหรือรังสียูวีพลังงานสูงและรังสีไอออนไนซ์อย่างต่อเนื่องจากห้วงอวกาศภายนอกจะทำให้พื้นผิวของยานอวกาศเกิดการสึกหรอและเสียหาย” ดังนั้น เกราะหุ้มยานที่ผลิตขึ้นเป็นพิเศษสำหรับยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 นั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์แนะนำว่า “เกราะหุ้มยาน” พิเศษตัวนี้มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า "ชั้นเคลือบควบคุมความร้อนที่มีระดับการดูดซึมต่ำ-การปล่อยออกต่ำ" เป็นวัสดุควบคุมความร้อนที่เคลือบบนพื้นผิวด้านนอกของยานอวกาศ มีประสิทธิภาพในการสะท้อนรังสีสเปกตรัมของดวงอาทิตย์และมีลักษณะการแผ่รังสีอินฟราเรดของตัวเอง สามารถลดผลกระทบจากสภาพแวดล้อมในอวกาศที่มีต่ออุณหภูมิภายในยานได้อย่างมีประสิทธิภาพ “เช่นเดียวกับชั้นเคลือบควบคุมความร้อนอื่น ๆ ‘เกราะหุ้มยาน’ จะดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์ในระดับที่ต่ำมาก และสามารถสะท้อนพลังงานส่วนใหญ่จากการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์เป็นเวลานานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงช่วยแก้ปัญหาความแตกต่างกันของอุณหภูมิภายในยานอวกาศได้อย่างตรงจุด สิ่งที่ไม่เหมือนกันคือ ทั้งการดูดซับและปล่อยพลังงานของ‘เกราะหุ้มยาน’ต่างอยู่ในระดับต่ำ เราลดการแผ่รังสีอินฟราเรดของชั้นเคลือบควบคุมความร้อนเพื่อลดการรั่วไหลของความร้อนจากภายในยานอวกาศสู่ภายนอกภายใต้สภาพสุญญากาศ ทำให้อุณหภูมิอยู่ในระดับที่เหมาะสมสำหรับการทำงานปกติของอุปกรณ์และเครื่องมือภายในยานลงจอดและตระเวนสำรวจดาวอังคาร ทำให้การเดินทางของยานเทียนเวิ่น-1 มีความปลอดภัยและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น” การเอาตัวรอดในถิ่นทุรกันดารของ “ดาวเคราะห์สีแดง" หากดูในรูปภาพลักษณะภูมิประเทศของดาวอังคารดูเหมือนทะเลทรายโกบีบนโลก แต่ในความเป็นจริงความเร็วลมบนดาวอังคารสูงถึง 180 เมตรต่อวินาที ซึ่งเป็นเกือบ 3 เท่ากว่าของความเร็วลมของซูเปอร์ไต้ฝุ่นบนโลก ลมแรงที่กระโชกราวสัตว์ป่าจะพัดฝุ่น รวมถึงก้อนหินจำนวนมากลอยขึ้นบนอากาศ ซึ่งจะส่งผลทำให้ "เซนเซอร์นำทาง" ของรถสำรวจดาวอังคารจู้หรงเต็มไปด้วยฝุ่นและ "ปีก" ของรถสำรวจจะไม่มีความคล่องตัวในการปฏิบัติงานนอกจากนี้พื้นผิวของดาวอังคารยังปกคลุมไปด้วยสิ่งกีดขวาง เช่น ก้อนหินที่หนาแน่น ดังนั้นรถสำรวจดาวอังคารจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในการเดินทาง เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าไปติดอยู่กับสิ่งกีดขวางและทำให้เกิดความล่าช้าในการปฏิบัติงาน เพื่อให้รถสำรวจดาวอังคารสามารถ "ปฏิบัติงานได้อย่างบรรลุเป้าหมาย" ในสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย นักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้พัฒนาวัสดุชนิดใหม่ที่กันฝุ่นและแม้ว่าจะเปื้อนฝุ่นก็สามารถสลัดออกได้ด้วยแรงสั่นสะเทือน นายเจี่ย หยาง รองหัวหน้าผู้ออกแบบยานสำรวจเทียนเวิ่น-1 จากสถาบันวิจัยที่ 5 ของกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศแห่งชาติจีนกล่าวว่า "นอกจากนี้เรายังมีรถสำรวจดาวอังคารที่เหมือนกันคันหนึ่งไว้ในห้องปฏิบัติการพิเศษ เมื่อรถจู้หรงต้องเจอกับสภาพถนนที่สลับซับซ้อนบนดาวอังคาร รถในห้องปฏิบัติการจะทำการจำลองการเดินทางก่อน เมื่อยืนยันความถูกต้องแล้วจึงจะออกคำสั่งไปยังดาวอังคาร" ตามแผนงานที่กำหนดไว้ หลังจาก 90 วันบนดาวอังคาร รถสำรวจดาวอังคารจู้หรงจะเสร็จสิ้นภารกิจตระเวนสำรวจ ส่วนยานโคจรรอบดาวอังคารจะปรับวงโคจรเพื่อโคจรรอบดาวอังคารและทำการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ต่อไป ---------------- วันที่ 15 พ.ค. เวลา 07.18 น. ตามเวลากรุงปักกิ่ง ยานสำรวจอวกาศเทียนเวิ่น-1 ลงจอดบริเวณพื้นที่ที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า บริเวณตอนใต้ของที่ราบยูโทเปีย (Utopia) บนดาวอังคาร ซึ่งแสดงให้เห็นว่า จีนประสบความสำเร็จในภารกิจสำรวจดาวอังคารเป็นครั้งแรก การส่งยานสำรวจอวกาศเทียนเวิ่น-1 ลงจอดบนดาวอังคารในครั้งนี้ ถือเป็นย่างก้าวที่สำคัญของจีนในการสำรวจจักรวาล และได้บรรลุเป้าหมายอย่างก้าวกระโดดจากการสำรวจระบบโลก ดวงจันทร์ สู่การสำรวจระบบสุริยะ และยังได้ทิ้งร่องรอยของยานสำรวจดาวอังคารสัญชาติจีนไว้บนดาวอังคารอีกด้วย นับเป็นความคืบหน้าที่เป็นหมุดหมายสำคัญในการพัฒนาภารกิจการบินอวกาศของจีน การสำรวจดาวอังคารมีความเสี่ยงสูง และมีความสลับซับซ้อน ภารกิจการสำรวจดาวอังคารจะต้องเผชิญกับความท้าทายในด้านต่างๆ เช่น สภาพแวดล้อมทางอวกาศระหว่างดาวเคราะห์ ชั้นบรรยากาศที่เบาบาง และภูมิประเทศบนพื้นผิวดาวอังคาร ในขณะเดียวกัน ยังมีในเรื่องของผลกระทบจากระยะทางที่ห่างไกล และความเหลื่อมของเวลา นอกจากนี้ระหว่างเดินทางและลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคาร ยังต้องเผชิญกับความยากลำบาก เช่น สภาพแวดล้อมที่แปรปรวน ขั้นตอนการลงจอดที่มีความสลับซับซ้อน และนักวิทยาศาสตร์บนโลกไม่สามารถควบคุมยานสำรวจอวกาศได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม จีนมีเทคโนโลยีสำคัญในการส่งยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารขึ้นสู่อวกาศด้วยความเร็วของจักรวาลที่ 2 เทคโนโลยีการสื่อสารและการเดินทางของยานอวกาศระหว่างดาวเคราะห์ ตลอดจนเทคโนโลยีการลงจอดบนดาวเคราะห์นอกโลก และในที่สุดจีนได้บรรลุเป้าหมายการนำยานสำรวจอวกาศลงจอดบนดาวอังคารเป็นครั้งแรก ------------ ระบบเซ็นเซอร์และอุปกรณ์สำคัญของยานสำรวจอวกาศเทียนเวิ่น-1 เขียนโดย จาน หยวน แปลโดย โจว ซวี่ ตรวจแก้โดย ศิวัตรา สินพสุธาดล หลังจากยานสำรวจอวกาศเทียนเวิ่น-1 เข้าสู่ชั้นบรรยากาศและอยู่เหนือพื้นผิวดาวอังคารประมาณ 7 กิโลเมตร ตัวเซนเซอร์ระบบการจัดเรียงเฟส (Phased Array) ที่วิจัยและพัฒนาโดยหน่วย 25 สถาบันวิจัยที่ 2 กลุ่มวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมการบินอวกาศของจีนจะเริ่มทำงาน โดยอุปกรณ์ดังกล่าวจะให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับระยะห่างระหว่างยานกับพื้นผิวดาวอังคาร และความเร็วของยาน เพื่อนำไปใช้ในการควบคุมยานเวลาที่ลดความเร็ว ลอยตัว หยุดนิ่ง และการลงจอดอย่างนุ่มนวล จนถึงการกะระยะของยานเพื่อลงจอดห่างจากพื้นผิวดาวอังคารประมาณ 5 เมตร ตัวเซนเซอร์ระบบ Phased Array ติดตั้งอยู่ด้านล่างของยานลงจอดในโมดูลที่บรรจุยานโคจรเพื่อลงจอดบนดาวอังคาร ซึ่งใช้งานได้ไกลกว่า 10 กิโลเมตร เปรียบเสมือนเป็น “กล้องส่องทางไกล” ของยานสำรวจอวกาศเทียนเวิ่น-1 ตัวเซนเซอร์ระบบ Phased Array นี้จะประสานงานกับตัวเซ็นเซอร์ตรวจวัดอื่น ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อนำทางให้ยานลงจอดอย่างปลอดภัย นายซุน อู่ หัวหน้าวิศวกร ตัวเซนเซอร์ระบบ Phased Array ระบุว่า นี่เป็นครั้งแรกที่จีนประยุกต์ใช้เรดาร์ระบบ Phased Array ในการตรวจวัดการลงจอดบนดาวนอกโลก ต่างกับโครงการการบินอวกาศพร้อมมนุษย์ที่จีนเคยทำ เนื่องจากดาวอังคารกับโลกห่างไกลกันมาก ความเหลื่อมของเวลามีมากกว่า 10 นาที จึงไม่สามารถควบคุมขั้นตอนการลงจอดจากโลกได้ จำเป็นต้องให้ยานลงจอดโดยใช้ระบบอัตโนมัติ ดังนั้นตัวเซ็นเซอร์จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก นายซุน อู่ ได้พูดถึงความเหนือกว่าทางด้านเทคโนโลยีของตัวเซ็นเซอร์ระบบใหม่อย่างละเอียดว่า “เมื่อเปรียบเทียบกับเรดาร์เพื่อตรวจวัดการลงจอดที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้งของจีนและต่างประเทศ เสาอากาศของเรดาร์ระบบ Phased Array ประกอบด้วยคลื่นรังสีหลายหน่วย ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับตาของแมลงปอสามารถสแกนลำแสงได้อย่างรวดเร็ว ปรับเปลี่ยนมุมมองอย่างคล่องตัว ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง และป้องกันการรบกวนจากรอบด้าน” “ตัวเซนเซอร์ระบบ Phased Array ที่วิจัยและพัฒนาโดยหน่วย 25 สถาบันวิจัยที่ 2 กลุ่มวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมการบินอวกาศของจีนสามารถเปลี่ยนทิศทางที่กำหนดไว้อย่างรวดเร็วถึง 9 ทิศทาง โดยใช้ซอฟต์แวร์ควบคุม และระหว่างการตรวจวัดทุกระยะสามารถคัดเลือกทิศทางที่ดีที่สุด 4 ทิศทาง การตรวจวัดระยะห่างและความเร็ว เพื่อปรับความผิดพลาดการตั้งลำของยานให้ถูกต้องและทันท่วงที อีกทั้งสามารถค้นพบระดับน้ำทะเลบนดาวอังคารได้อย่างแม่ยำ เพื่อประกันให้สามารถควบคุมทิศทางอย่างแม่นยำและถูกต้องระหว่างการลงจอด” นอกจากนี้บนดาวอังคารมักจะเกิดพายุทรายอย่างรุนแรง เมื่อยานสำรวจอวกาศเทียนเวิ่น-1 โคจรเข้าไปใกล้กับพื้นผิวดาวอังคาร เครื่องยนต์ของยานสำรวจจะพัดฝุ่นและกรวดจากบนพื้นผิวของดาวอังคารให้ลอยขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อตัวเซนเซอร์ “ระบบสัญญาณไมโครเวฟมีความได้เปรียบในการรับมือกับสภาพแวดล้อมดังกล่าว” นายซุน อู่ ระบุด้วยว่า “เราได้ปรับปรุงอุปกรณ์ของเราให้ดีขึ้นเพื่อสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมบนดาวอังคาร ได้มีการจำลองพายุทรายบนดาวอังคาร โดยการใช้เฮลิคอปเตอร์ให้บินอยู่เหนือทะเลทรายโกบีเพื่อประกันความน่าเชื่อของการตรวจวัด” ตัวเซนเซอร์ระบบ Phased Array ที่ใช้ในการสำรวจดาวอังคารในครั้งนี้มีขนาดเล็กและมีน้ำหนักเบา “อุปกรณ์ชุดใหม่นี้มีประสิทธิภาพเทียบเท่าอุปกรณ์ชุดเก่าถึง 9 ชุด” นายเจี่ย เสวียเจิ้น ผู้ออกแบบตัวเซนเซอร์ระบบ Phased Array ระบุว่า “มีแนวโน้มว่ายานสำรวจอวกาศจะสามารถบรรทุกอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์และเชื้อเพลิงได้มากยิ่งขึ้น และสามารถปฏิบัติงานเพิ่มมากขึ้น” การรับส่งและจัดการสัญญาณการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ที่มีหลายชนิดและจำนวนมหาศาล ต้องอาศัยการประยุกต์ใช้ระบบภาคพื้นดินเพื่อการสำรวจดาวอังคารที่พัฒนาโดยหอดาราศาสตร์แห่งชาติจีนและสถานีรับส่งสัญญาณภาคพื้นดิน สถานีรับส่งสัญญาณภาคพื้นดินเปรียบเหมือนกับดวงตาของคนที่มองออกไปยังท้องฟ้าเพื่อรับส่งสัญญาณ ส่วนหอดาราศาสตร์เปรียบเหมือนสมองคนที่รับผิดชอบจำแนกและจัดการสัญญาณ สององค์กรนี้รับผิดชอบรับส่งภาพ แถบสีทั้งหลาย และสัญญาณแม่เหล็กจากดาวอังคาร เพื่อถอดเป็นภาพและคลื่นที่สามารถแสดงได้บนโลก ทีมงานประเมินซอฟต์แวร์ของหน่วย 304 สถาบันวิจัยที่ 3 กลุ่มวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมการบินอวกาศจีนจะให้บริการ “เช็กระบบ” ในการประยุกต์ใช้ระบบภาคพื้นดินดังกล่าว เพื่อประกันการประยุกต์ใช้ให้ดำเนินการได้อย่างเป็นปกติ เพื่อจำลองการรับส่งและจัดการสัญญาณจำนวนมากอย่างรอบด้าน ทีมงานดังกล่าวได้ใช้วิธีการต่าง ๆ ทดสอบระบบดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการพัฒนาระบบทดสอบ และจำลองข้อมูลเสมือนจริง เป็นต้น เพื่อแก้ไขปัญหาของซอฟต์แวร์ทั้งหมด เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแนะนำว่า ระหว่างการ “ตรวจเช็กระบบ” ที่จัดขึ้นก่อนหน้านี้ ได้พบปัญหาและความผิดพลาดในซอฟต์แวร์จำนวนกว่าร้อยรายการตามลำดับ โดยจัดการปัญหาต่าง ๆ ตั้งแต่ต้น เพื่อประกันคุณภาพของการประยุกต์ใช้ในระบบภาคพื้นดิน