NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ อัพเดทความคืบหน้าของ "ยาน Parker Solar Probe" ที่มีเป้าหมายเพื่อไปสำรวจดวงอาทิตย์ ยาน Parker Solar Probe ตรวจพบคลื่นวิทยุของดาวศุกร์ในช่วงเวลาสั้นๆ ยืนยันว่ายานได้บินผ่านชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์แล้ว การศึกษาครั้งนี้ถือเป็นการวัดบรรยากาศของดาวศุกร์โดยตรงครั้งแรกในรอบเกือบ 30 ปี และมีความแตกต่างจากในอดีตมากซึ่งอาจจะเป็นเบาะแสสำคัญในการศึกษาว่าทำไมดาวศุกร์และโลกมีความแตกต่างกันมาก ดาวศุกร์กับโลกมีกระบวนการก่อตัวที่คล้ายคลึงกัน จึงมีขนาดและโครงสร้างที่ใกล้เคียงกัน แต่สภาพอื่น ๆ ในปัจจุบันของทั้งคู่แตกต่างกันมาก ดาวศุกร์ไม่มีสนามแม่เหล็ก และมีอุณหภูมิพื้นผิวสูงที่สุดในระบบสุริยะ ซึ่งการส่งยานอวกาศไปสำรวจพื้นผิวดาวศุกร์แต่ละครั้งสามารถปฏิบัติภารกิจได้เพียง 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น การศึกษาดาวศุกร์จึงค่อนข้างเป็นไปได้ยาก จากปัจจัยเหล่านี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทำความเข้าใจได้ยากว่าดาวศุกร์มีวิวัฒนาการอย่างไร วันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 2020 ยาน Parker Solar Probe บินเฉียดเข้าใกล้ดาวศุกร์รอบที่สาม เพื่อใช้ประโยชน์จากแรงโน้มถ่วงของดาวศุกร์เหวี่ยงยานให้เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ได้มากขึ้น ภารกิจนี้ควบคุมโดยห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์ของมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ ซึ่งเป็นการบินเฉียดผ่านดาวศุกร์ที่ใกล้ที่สุด ห่างจากพื้นผิวเพียง 833 กิโลเมตร หนึ่งในเครื่องมือของยาน Parker Solar Probe คือ FIELDS เป็นเครื่องมือที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้วัดสนามไฟฟ้าและสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ เมื่อยาน Parker Solar Probe อยู่ใกล้ดาวศุกร์มากที่สุด เครื่องมือ FIELDS ได้ตรวจพบสัญญาณวิทยุความถี่ต่ำ คล้ายกับที่ยานกาลิเลโอตรวจจับสัญญาณได้บนดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี ซึ่งภารกิจสิ้นสุดไปเมื่อ ปี ค.ศ. 2003 โลกและดาวศุกร์มีชั้นแก๊สที่มีประจุไฟฟ้าอยู่บริเวณบรรยากาศชั้นบนที่เรียกว่า ไอโอโนสเฟียร์ (Ionosphere) กลุ่มของแก๊สที่มีประจุไฟฟ้าเหล่านี้จะปล่อยคลื่นวิทยุออกมา นอกจากจะใช้ยืนยันว่ายานได้บินผ่านชั้นบรรยากาศแล้ว นักวิจัยยังสามารถคำนวณหาความหนาแน่นของชั้นไอโอโนสเฟียร์ของดาวศุกร์ได้ การตรวจวัดบรรยากาศชั้นไอโอโนสเฟียร์ของดาวศุกร์โดยตรงเกิดขึ้นครั้งล่าสุด เมื่อปี ค.ศ. 1992 โดย ยาน Pioneer Venus Orbiter เป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์อยู่ในระยะ "solar maximum" ที่เกิดจุดบนดวงอาทิตย์ (sunspot) และพายุสุริยะมากที่สุด จากนั้นหลายปีต่อมา ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดินชี้ให้เห็นว่า เมื่อดวงอาทิตย์เข้าสู่ระยะสงบ “solar minimum” หรือช่วงที่ดวงอาทิตย์มีความแปรปรวนน้อยที่สุด พบว่า แม้บรรยากาศดาวศุกร์ส่วนใหญ่ยังคงเหมือนเดิม แต่ชั้นไอโอโนสเฟียร์ซึ่งอยู่ด้านนอกสุดกลับเบาบางกว่าช่วง solar maximum มาก ซึ่งผลการวิเคราะห์ในครั้งนั้นจะต้องอาศัยการศึกษาโดยการวัดทางตรงเท่านั้น แม้ว่าในครั้งนี้ยาน Park Solar Probe ตั้งใจบินเฉียดดาวศุกร์เพื่อให้เคลื่อนที่ช้าลง และสามารถเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ได้มากขึ้น แต่ก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการรวบรวมข้อมูลวิทยาศาสตร์และข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับดาวศุกร์ ซึ่งอาจเป็นกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจวิวัฒนาการของชั้นบรรยากาศดาวศุกร์ได้ คลิป : https://www.youtube.com/watch?v=z5vK6-wuoOE&feature=youtu.be เรียบเรียง : ธราดล ชูแก้ว - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. อ้างอิง : https://www.nasa.gov/.../Parker-Discovers-Natural-Radio..."