นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 6 ในเดือนพฤษภาคม 2564 ภายใต้หัวข้อ “มาตรการเยียวยาแบบไหนถูกใจ SME” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ มองว่าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ มากกว่าการแพร่ระบาดโควิด-19 ในปี 2563 อันเนื่องมาจากความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ของแรงงานในสถานประกอบการ และการขาดสภาพคล่องทางการเงิน โดยผู้บริหาร ส.อ.ท.ต้องการให้ภาครัฐออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือ SME ในการลดภาระค่าใช้จ่ายในการประกอบการ เช่น การลดค่าน้ำ ค่าไฟ ร้อยละ 30 และการลดค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการ ค่าส่วนกลางของห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และพื้นที่เช่าโรงงาน ร้อยละ 50 เป็นต้น ทั้งนี้จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 170 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 75 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ มองว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบต่อ SME มากกว่าการแพร่ระบาดโควิด-19 ในปี 2563 คิดเป็นร้อยละ 89.4 รองลงมามองว่าได้รับผลกระทบเทียบเท่ากับปี 2563 และน้อยกว่าปี 2563 คิดเป็นร้อยละ 5.3 และร้อยละ 4.1 ตามลำดับ ในส่วนของมุมมองเรื่องผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของ SME จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ พบว่า 3 อันดับแรก ผู้บริหาร ส.อ.ท. มีความเป็นห่วงในเรื่องความเสี่ยงจากการติดเชื้อของแรงงานในสถานประกอบการ คิดเป็นร้อยละ 91.2 รองลงมาเป็นเรื่องการขาดสภาพคล่องทางการเงินในการดำเนินธุรกิจจากการหยุดกิจการ คิดเป็นร้อยละ 74.1 และเรื่องความต้องการสินค้าและบริการที่ลดลง รวมถึงการชะลอการรับสินค้า คิดเป็นร้อยละ 67.1 สำหรับมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ SME ของภาครัฐในปัจจุบันที่ผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่ามีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบของ SME ได้ 3 อันดับแรก ได้แก่ มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ เช่น คนละครึ่งเฟส 3, เราชนะ, ม.33, ขยายวงเงินช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ เป็นต้น คิดเป็นร้อยละ 71.2 รองลงมาเป็นมาตรการลดเงินสมทบประกันสังคม เหลือฝั่งละ 2.5 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 3 เดือน คิดเป็นร้อยละ 64.7 และมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 คิดเป็นร้อยละ 61.8 อย่างไรก็ตามผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่าภาครัฐยังมีความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือ SME เพิ่มเติม เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ โดย 3 อันดับแรกได้แก่ มาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าสาธารณูปโภค 30 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นร้อยละ 59.4 รองลงมาเป็นการลดค่าเช่าพื้นที่ ค่าบริการและค่าส่วนกลางของห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า พื้นที่เช่าโรงงาน ร้อยละ 50 โดยผู้ให้เช่าสามารถนำส่วนลดไปลดหย่อนภาษีในรอบบัญชีถัดไปได้ คิดเป็นร้อยละ 55.3 ถัดไปเป็นการขยายระยะเวลาจัดเก็บภาษี VAT และเร่งคืนเงินภาษี VAT ให้กับผู้ประกอบการ SME ที่ส่งออก ภายใน 15 วัน และการอนุญาตให้นิติบุคคลที่เป็น SME เข้าร่วมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐได้ มีคะแนนเท่ากันที่ร้อยละ 53.5 ทั้งนี้ FTI Poll ยังได้เจาะลึกถึงกรณีที่ภาครัฐเตรียมจะออก พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโควิด-19 ว่าควรนำเงินดังกล่าวไปใช้ในเรื่องใด พบว่า 3 อันดับแรก ผู้บริหาร ส.อ.ท.ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 74.1 รองลงมาเป็นการช่วยเหลือ เยียวยาให้แก่ประชาชน และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ คิดเป็นร้อยละ 70.6 และแก้ไขปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 คิดเป็นร้อยละ 65.9 ขณะที่ผู้บริหาร ส.อ.ท. ยังได้ประเมินว่า จากแผนการใช้เงินกู้ 5 แสนล้านบาท จะสามารถช่วยฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ในช่วงใด โดยส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงกลางปี 2565 คิดเป็นร้อยละ 37.1 รองลงมาเป็นช่วงปลายปี 2565 คิดเป็น ร้อยละ 23.5 อีกทั้งมองว่าจำนวนเงินดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ คิดเป็นร้อยละ 21.8 และคาดว่าเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงปลายปี 2564 คิดเป็นร้อยละ 17.6 นอกจากนี้ผู้บริหาร ส.อ.ท.มองว่า หลังจากวิกฤตโควิด-19 สิ้นสุด SME ไทยควรให้ความสำคัญกับการปรับตัวเพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจในอนาคตเรื่องใดบ้าง พบว่า 3 อันดับแรก ผู้บริหาร ส.อ.ท. ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีและดิจิทัลมาช่วยในการดำเนินธุรกิจ คิดเป็นร้อยละ 75.9 รองลงมาเป็นการพัฒนาทักษะแรงงาน และเพิ่ม Multi Skill ให้กับแรงงานในสถานประกอบการ คิดเป็นร้อยละ 64.1 และการบริหารจัดการด้านการเงินเพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต คิดเป็นร้อยละ 58.8