ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า เพจเฟซบุ๊ก Chulalongkorn University ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปเผยแพร่บทสัมภาษณ์ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับการ วัคซีนจุฬา-คอฟ19 ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด mRNA เทคโนโลยีการผลิตเดียวกับ วัคซีนไฟเซอร์ บิออนเทค และ วัคซีนโมเดอร์นา เพื่อให้ชาวไทยและอาเซียนสามารถเข้าถึงวัคซีนคุณภาพดี ในราคาที่ถูก ทั้งนี้ประเทศไทยกำลังจะเริ่มการทดลองวัคซีนโควิดชนิด mRNA ในมนุษย์เป็นครั้งแรก หากประสบความสำเร็จ ประเทศไทยอาจกลายเป็นผู้ผลิตวัคซีนรายสำคัญในเอเชีย ในฐานะผู้ผลิตรายเล็ก ที่มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เทียบเท่ากับวัคซีน ไฟเซอร์ บิออนเทค และโมเดอร์นา ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่า วัคซีนทั้ง 2 ตัว มีประสิทธิภาพสูงในการต่อต้าน โควิด-19 และปัจจุบัน มีผู้ได้รับวัคซีนเหล่านี้ไปแล้วหลายร้อยล้านคน ในเอเชีย ปัจจุบันมีประเทศที่พัฒนาวัคซีนชนิด mRNA ขึ้นเอง และกำลังอยู่ระหว่างขั้นทดลอง ได้แก่ ประเทศจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และประเทศไทยเป็นประเทศล่าสุด โดย ศ.นพ.เกียรติ ได้กล่าว แรงบันดาลใจการพัฒนาวัคซีนขึ้นภายในประเทศมาจากในช่วงที่ไข้หวัดใหญ่ H1N1 ระบาดในปี พ.ศ.2552-2553 ประเทศไทยต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปี ในการรอรับวัคซีน ดังนั้นจึงต้องการพัฒนาและผลิตใช้เอง เพื่อที่ว่าเมื่อเกิดการระบาดใหญ่ครั้งใหม่ จะไม่ต้องรออีก เนื่องจากการรอ อาจทำให้เสียโอกาส ซึ่งไทยอาจจะไม่ทันขบวนวัคซีนป้องกันโควิด-19 รุ่นแรก แต่ยังมีโอกาสที่จะแข่งขันกับวัคซีนรุ่นที่สองและสาม เพื่อต่อต้านสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นใหม่ โดยเป้าหมาย คือผลิตวัคซีนให้เพียงพอและมีราคาที่เข้าถึงได้ สำหรับประเทศไทย รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านด้วย สำหรับแรงบันดาลใจที่ทำให้เปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยี mRNA เนื่องมาจากการก่อตั้งห้องปฏิบัติการวิจัยวัคซีน เมื่อหลายสิบกว่าปีที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก โรคฉี่หนู และโรคมะเร็ง ด้วยการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ มากมาย ในปี 2560 ซึ่งในปีนั้นทาง ดรูว์ ไวซ์มัน ผู้บุกเบิกเทคโนโลยี mRNA จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ฟิลาเดลเฟีย ได้มาสนทนาที่ งานประชุมประจำปี และได้ร่วมงานในการผลิตวัคซีน mRNA สำหรับโรคภูมิแพ้ แต่เมื่อเกิดการระบาดของ โควิด-19 จึงได้ตัดสินใจที่จะมุ่งเน้นไปที่การวิจัยพัฒนาการผลิตวัคซีน โควิด-19 แทน ทั้งนี้ ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า ข้อดีของวัคซีน mRNA คือผลิตได้รวดเร็วกว่า ในปริมาณมาก และช่วยลดต้นทุนในระยะยาว วัคซีนเหล่านี้ใช้สารพันธุกรรมชิ้นเล็ก ๆ เพื่อทำให้เซลล์สร้างโปรตีนของไวรัสที่เฉพาะเจาะจง เช่น โปรตีนสไปค์ หรือปุ่มขาของไวรัส SARS-CoV-2 ใช้เพื่อเข้าสู่เซลล์โฮสต์ โดยใช้ข้อมูลเกี่ยวกับลำดับพันธุกรรมของไวรัส ซึ่งหมายความว่า ไม่จำเป็นต้องรอจนกว่าสายพันธุ์ใหม่ ๆ จะเข้ามาในประเทศไทยเพื่อเริ่มพัฒนาวัคซีน ซึ่งความคืบหน้าในการผลิตวัคซีนจุฬา-คอฟ19 เวลานี้ได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจในการศึกษาก่อนขั้นคลินิก จากการใช้กับหนูทดลอง กลุ่มไพรเมท ด้วยการเริ่มทดลองทางคลินิก และจะทดลองกับมนุษย์ ในเดือนมิถุนายน 64 นี้ โดยวัคซีนรุ่นต่อไปสำหรับไวรัสสายพันธุ์ B.1.351 และ B.1.1.7 อีกทั้งยังได้ติดตามข้อมูลของสายพันธุ์ B.1.617 ที่พบครั้งแรกในประเทศอินเดีย อย่างไรก็ตามอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดในการพัฒนาวัคซีน คือ เรื่องของเงินทุน เนื่องจากเป็นศูนย์การศึกษา ทำให้การสนับสนุนส่วนใหญ่มาจากรัฐบาลที่มีกระบวนการของบประมาณสนับสนุนที่ต้องใช้เวลานาน เช่น ช่วงแรกมีผลการทดลองทางคลินิกที่น่าสนใจประมาณต้นเดือนพฤษภาคม 2563 แต่ต้องใช้เวลาของบประมาณเกือบ 6 เดือน ในการขอรับเงินทุนเพื่อเริ่มการทดลองในมนุษย์ นอกจากนี้ยังต้องใช้เวลาในการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการผลิตวัคซีน mRNA ให้กับผู้ผลิตในประเทศไทยอีกด้วย