นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. ตั้งเป้าหมายว่าจะมีลูกหนี้เข้าร่วมมหกรรมไกล่เกลี่ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ออนไลน์ ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย.-31 ก.ค.64 ประมาณ 1 แสนบัญชี หรือคิดเป็นมูลหนี้ 3.8 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยมูลหนี้รายละประมาณ 3.8 แสนบาท จากปัจจุบันมีพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์อยู่ที่ 6.6 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท สำหรับลูกหนี้ 1 แสนบัญชี แบ่งเป็น 1.ลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นเอ็นพีแอลหรือเป็นเอ็นพีแอลแล้วแต่รถยังไม่ถูกยึด แนวทางช่วยเหลือจะสอดคล้องกับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 ของ ธปท. ได้แก่ การปรับโครงสร้างหนี้ ลดค่างวด ขยายระยะเวลาชำระหนี้ สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง สามารถขอพักชำระค่างวดได้ 3 เดือน หรือตามผลกระทบที่ลูกหนี้ได้รับ โดยแนวทางใหม่จะคำนวณดอกเบี้ยในช่วงพักชำระหนี้จากฐานของค่างวดที่ได้พักชำระหนี้ตามเกณฑ์ของ สคบ.ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยในช่วงที่พักชำระหนี้ถูกลงอย่างมาก ส่วนลูกหนี้ที่เคยพักชำระค่างวดหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และได้รับผลกระทบรุนแรงจนไม่สามารถชำระหนี้ต่อไปได้ สามารถคืนรถยนต์เพื่อลดภาระหนี้ได้ และหากราคาขายรถทอดตลาดที่ได้รับต่ำกว่าภาระหนี้คงค้าง ลูกหนี้สามารถขอผ่อนปรนเพิ่มเติมได้โดยผู้ให้บริการทางการเงินอาจพิจารณายกหนี้ส่วนที่เหลือให้ตามความเหมาะสม 2.ลูกหนี้ที่รถถูกยึดแล้ว แต่ยังไม่ถูกขายทอดตลาด ลูกหนี้เช่าซื้อสามารถใช้ช่องทางของงานมหกรรมไกล่เกลี่ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในครั้งนี้ เพื่อเจรจากับเจ้าหนี้เช่าซื้อที่ร่วมงานเพื่อขอรถที่ถูกยึดไปคืน โดยเจ้าหนี้เช่าซื้อจะชะลอการขายทอดตลาดและปรับโครงสร้างหนี้ โดยงานมหกรรมในครั้งนี้จะช่วยให้ลูกหนี้เช่าซื้อมีโอกาสที่จะนำรถกลับไปประกอบอาชีพหรือใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยครั้งนี้หวังว่าลูกหนี้ที่ถูกยึดรถไป ส่วนหนึ่งจะมีโอกาสที่จะได้รับรถคืน ซึ่งเป็นทางเลือกที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย 3.ลูกหนี้ที่รถถูกขายทอดตลาดแล้ว แต่ยังมีมูลหนี้เช่าซื้อส่วนที่ขาดกรณีรถถูกขายทอดตลาดแล้ว ปรากฏว่าเงินที่ได้รับนั้นน้อยกว่ายอดหนี้เช่าซื้อคงเหลือ ทำให้มียอดหนี้ส่วนขาด หรือติ่งหนี้ โดยในงานมหกรรมครั้งนี้ สคบ.และ ธปท. ได้ร่วมกันศึกษาแนวคำพิพากษาของศาลยุติธรรมเกี่ยวกับการคำนวณยอดหนี้เช่าซื้อส่วนขาด และได้จัดทำโปรแกรมการคำนวณยอดหนี้เช่าซื้อส่วนขาดแบบง่าย ๆ เพื่อให้ลูกหนี้จะได้ใช้คำนวณ โดยลูกหนี้เช่าซื้อที่มีปัญหาเกี่ยวกับยอดหนี้เช่าซื้อส่วนขาดสามารถใช้ช่องทางของงานมหกรรมไกล่เกลี่ยปัญหาที่เกิดขึ้นกับเจ้าหนี้ ทั้งในส่วนที่ยังไม่มีการฟ้อง หรือฟ้องแล้ว ซึ่งคาดหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรื่องนี้เป็นธรรมมากขึ้น และช่วยให้เจ้าหนี้และลูกหนี้เช่าซื้อสามารถตกลงกันได้ง่ายขึ้นและตรงไปตรงมา นางธัญญนิตย์ กล่าวอีกว่า มหกรรมไกล่เกลี่ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ออนไลน์ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ให้สามารถชำระหนี้ได้ลดน้อยลง เพราะปัจจุบันสินเชื่อดังกล่าวที่มีปริมาณสูงเป็นอันดับที่ 3 รองจากสินเชื่อบัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดย ธปท. เห็นว่ารถยนต์เป็นพาหนะที่สำคัญในการประกอบธุรกิจ และใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้นจึงอยากช่วยบรรเทภาระให้ลูกหนี้ที่เดือดร้อนและอาจถูกยึดรถยนต์ เพื่อให้ยังสามารถมีเครื่องมือในการทำมาหากิน และใช้ชีวิตประจำวันต่อไปได้ ส่วนแนวทางการช่วยเหลือตามมหกรรมไกล่เกลี่ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ออนไลน์นั้น จะสอดคล้องกับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 ของ ธปท. ซึ่งมีเรื่องเกี่ยวกับการช่วยเหลือลูกหนี้ในสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์อยู่แล้ว แต่แนวทางการช่วยเหลือในมหกรรมฯ ครั้งนี้จะมีควาชัดเจนเกี่ยวกับเงื่อนไขและกระบวนการต่าง ๆ มากขึ้น รวมถึงสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น โดยจะมีการรายงานความคืบหน้าในการให้ความช่วยเหลือตามมหกรรมฯ ทุกสัปดาห์ "ในงานมหกรรมไกล่เกลี่ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ จะมีแนวทางใหม่ที่แตกต่างจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 คือ การคำนวณดอกเบี้ยในช่วงพักชำระหนี้ ซึ่งจะคิดจากฐานของค่างวดที่ได้พักชำระหนี้เท่านั้น ตามเกณฑ์ของ สคบ. ดังนั้นดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ต้องจ่ายในช่วงพักชำระจะลดลงอย่างมาก ทำให้ภาระของลูกหนี้ลดลง" ทั้งนี้ ธปท.มองว่าระยะเวลาการดำเนินมหกรรมไกล่เกลี่ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ออนไลน์ที่ 2 เดือน น่าจะเพียงพอในการรองรับความต้องการในการช่วยเหลือของลูกหนี้ที่มีปัญหาได้ เนื่องจากแนวทางการให้ความช่วยเหลือของมหกรรมฯ สอดคล้องกับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 ของ ธปท. ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการถึงสิ้นปี 64 ซึ่งหากยังมีลูกหนี้ที่ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมหลังจากนี้ก็สามารถขอรับความช่วยเหลือในมาตรการระยะที่ 3 ได้ และภาพรวมเอ็นพีแอลของสินเชื่อเช่าซื้อก็ยังไม่ได้อยู่ในระดับที่น่ากังวลมากนัก ยังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ส่วนความคืบหน้ามหกรรมไกล่เกลี่ยสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต พบว่า ปัจจุบันมีลูกหนี้ที่ยื่นขอลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือผ่านระบบออนไลน์ประมาณ 3 แสนราย คิดเป็น 6-7 แสนรายการ เฉลี่ย 1 รายต่อ 2 รายการ โดยพบว่าที่ผ่านมามีลูกหนี้ที่ยื่นขอรับความช่วยเหลือ ได้รับความช่วยเหลือเรียบร้อยแล้ว ประมาณ 1.5 แสนราย คิดเป็น 70% ของยอดลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือทั้งหมด เป็นมูลหนี้ 8.6 พันล้านบาท และส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างพิจารณาเงื่อนไข หากผ่านเกณฑ์ก็สามารถรับความช่วยเหลือได้ “มหกรรมไกล่เกลี่ยสินเชื่อบุคคลและหนี้บัตรเครดิต จะดำเนินการถึงสิ้น มิ.ย. นี้เท่านั้น หลังจากดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ.64 ซึ่งในช่วงแรกๆมีลูกหนี้ให้ความสนใจขอเข้าร่วมจำนวนมาก แต่หลังๆเริ่มแผ่ว เหลือหลักพันราย ดังนั้น ธปท. อาจไม่มีการขยายระยะเวลาสำหรับมหกรรมไกล่เกลี่ยสินเชื่อบุคคลและหนี้บัตรเครดิตแล้ว โดยลูกหนี้ที่ยังต้องการความช่วยเหลือสามารถขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 ของ ธปท. ได้” โดยขณะนี้ ธปท.อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยสินเชื่อประเภทอื่นๆอีกหรือไม่ โดยที่เหลือตอนนี้จะเป็นสินเชื่อบ้าน ซึ่งเป็นสินเชื่อก้อนใหญ่ มีความยุ่งยากและซับซ้อนมาก เพราะเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน รวมถึงน่าจะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ดังนั้นจึงขอเวลาพิจารณาอย่างรอบคอบก่อน