“อาคม” ยันหนี้สาธารณะอยู่ในกรอบ 60 % ชี้คกก.วินัยการเงินการคลังเป็นผู้กำหนด ปัดนายกฯปิดฐานะการคลัง ไล่ไปดูเอกสารงบฯ ด้าน “อดีตรมช.คลัง” เหน็บถามช้างตอบม้า สอนมวย ตัวเลขการคลังคนละเรื่องเงินคงคลัง
เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ในการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 65 ต่อมานายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง ชี้แจงถึงกรณีที่นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่าคำแถลงนายกฯต่อสภาไม่สมบูรณ์ส่อขัดกฎหมายวินัยการเงินการคลังว่า การจัดงบประมาณปี65 อยู่บนพื้นฐานที่รัฐบาลคาดว่าสถานการณ์โควิด-19 น่าจะคลี่คลายขึ้น สองปีที่ผ่านมาเราเผชิญวิกฤตโควิดอย่างมาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องใช้เงินเพิ่มมากขึ้น โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังได้มีการแก้ไขสัดส่วน เพื่อผ่อนคลายระดมเงินมาใช้ช่วยการแพร่ระบาดโควิด โดยมีงบประมาณ 3 ฉบับที่เข้ามาเกี่ยวข้อง คือ พ.ร.บ.วิธีงบประมาณปี61 พ.ร.บ.การเงินการคลัง และพ.ร.บ.ระเบียบการบริหารหนี้สาธารณะ ในมาตรา 11 ของพ.ร.บ.วิธีงบประมาณ ระบุชัดว่ากรณีจัดเก็บรายได้ต่ำกว่ารายจ่ายให้แถลงวิธีการหาส่วนที่ขาดดุลต่อรัฐสภาด้วย ในกรณีที่จะต้องมีการกู้เงินเพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายวินัยการเงินการคลัง และกฎหมายการบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งคำแถลงของนายกรัฐมนตรี เขียนไว้ชัดว่าจะใช้ 2 วิธีหลักในพ.ร.บ.ร่วมทุน คือ กิจการบางอย่างที่เป็นงบประมาณลงทุนของราชการอาจจะไปใช้ลงทุนร่วมกับภาคเอกชนด้วย และการบรรจุโครงการไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้แผนบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งมีหลายโครงการที่ส่วนราชการต่างๆขอใช้เงินกู้ ส่วนโครงการกิจการร่วมทุน PPP ซึ่งเป็นโครงการของราชการ ปกติจะใช้งบประมาณแผ่นดิน เราก็จะใช้เป็นงบประมาณร่วมทุน เช่น กรณีมอเตอร์เวย์ ในส่วนที่เป็นO&M ในเรื่องการบริหารจัดการมอเตอร์เวย์ หรือโครงการบำบัดน้ำเสียของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือโครงการทางหลวงแผ่นดินที่เชื่อมไปยังพื้นที่ชายแดน ในเขตอาเซียน ก็จะใช้หลักการกฎหมายหนี้สาธารณะ ในกรณีที่เป็นเงินกู้ต้องออกคนละครึ่ง โดยรัฐกู้เพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งใช้งบประมาณแผ่นดิน
รมว.คลัง กล่าวต่อว่า ส่วนหนี้สาธารณะจะทะลุเพดานหรือไม่ขณะนี้ยังอยู่ในกรอบร้อยละ 60 ที่คณะกรรมการวินัยการเงินการคลัง เป็นผู้กำหนด อย่างไรก็ดี การพิจารณาแผนการบริหารหนี้สาธารณะ รัฐบาลมีการจัดทำทั้งแผนระยะสั้น คือ แผนการบริหารประจำปี และระยะปานกลาง คือ แผนการบริหาร 3 ปีข้างหน้า โดยดูจากสภาวะเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการชำระหนี้ของเรา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเสนอต่อคณะกรรมการวินัยการเงินฯ เพื่อพิจารณา ส่วนการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน ส่วนใหญ่จะเป็นการจัดเก็บภาษี โดยจะมีการใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกให้ประชาชนมาเสียภาษีมากขึ้น
ด้าน นายพิสิฐ กล่าวโต้ตอบว่า การชี้แจงของรมว.คลังเป็นเพียงบางส่วน และไม่ใช่ส่วนที่ตนแสดงความเป็นห่วง เพราะการร่วมทุนกับเอกชนเป็นเรื่องที่ทำอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เป็นห่วง คือ นายกฯประกาศในคำแถลงของสภาฯว่าวิธีการแก้ปัญหา เรื่องของงบลงทุน จะอาศัยการกู้เงินในการออกกฎหมายตามพ.ร.บ.หนี้ เพราะหลักของการบริหารจัดการงบประมาณที่ดีควรจะอยู่ส่วนกลาง ด้วยการเก็บภาษีทุกอย่างมารวมไว้ตรงกลางแล้วกระจายออกไป โดยให้สภาฯมีการตรวจสอบ เปิดเผยข้อมูล แต่ทุกวันนี้ตัวอย่างของพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน หรือพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท มีการออกกฎหมายอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาสั้น ไม่มีข้อมูลปรากฎให้ส.ส. หรือส.ว.ตรวจสอบ และรัฐบาลก็ใช้ไปเรื่อยๆ และถือว่านี่คือการทดแทนที่เราใช้งบลงทุนต่ำ จึงถือเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องในหลักบริหารจัดการงบประมาณที่ดี ตนจึงขอให้ระมัดระวังไม่ทำอีก ซึ่งรัฐบาลอาจมีเหตุผลเรื่องโควิด-19 แต่งบประมาณประจำปีควรจัดการ เพื่อมาทำเรื่องโควิดให้มากกว่านี้ แทนที่จะอาศัยการกู้เงินที่ง่ายแต่จะสร้างผลกระทบที่ตามมาในเรื่องตัวเลขหนี้ที่เราเห็นกันมาแล้ว ส่วนที่บอกว่านายกฯแถลงฐานะการคลังมีการชี้แจงตัวเลขคงคลัง ขอยืนยันว่าเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะฐานะการคลังกับเงินคงคลังคนละเรื่องกัน โดยนายกฯพุดเฉพาะเงินคงคลัง แต่ฐานะการคลังเป็นเรื่องของรายรับรายจ่าย และการขาดดุลเงินสด และผลที่จะมีต่อหนี้ในที่สุด