จักรวาลช่างงดงาม ลึกลับ และชวนฝัน กับภาพจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ช่วงวาระสุดท้ายของดาวฤกษ์ก่อนจะสิ้นอายุขัย
NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ “พื้นที่เล็ก ๆ แสนเจิดจ้า ณ ชายขอบเนบิวลาถุงถ่านหิน
#เนบิวลาถุงถ่านหิน (Coalsack Nebula) หรือ คาลด์เวล 99 (Caldwell 99) เป็นเนบิวลาที่อยู่บริเวณกลุ่มดาวหงส์ ห่างจากโลกราว 600 ปีแสง เป็นวัตถุท้องฟ้าที่นักถ่ายภาพดาราศาสตร์แถบซีกโลกใต้คุ้นเคยเป็นอย่างดี มีลักษณะเป็นกลุ่มฝุ่นและแก๊สหนาทึบขนาดใหญ่ที่อุณหภูมิต่ำมากและบดบังแสงของดาวฤกษ์ที่อยู่ด้านหลังเอาไว้ จึงจัดอยู่ในประเภท เนบิวลามืด (Dark Nebula)
อย่างไรก็ตาม วัตถุท้องฟ้าแต่ละวัตถุนั้นปลดปล่อยพลังงานออกมาในช่วงความยาวคลื่นที่แตกต่างกัน หากใช้อุปกรณ์ถ่ายภาพที่เหมาะสม ผลลัพธ์ที่ได้ก็อาจทำให้เห็นรายละเอียดทางวิทยาศาสตร์อีกแง่มุมหนึ่งได้ เช่นเดียวกับภาพนี้ที่ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลในช่วงคลื่นแสงที่ตามองเห็นและช่วงคลื่นอินฟราเรด แสดงให้เห็นพื้นที่เล็ก ๆ ของเนบิวลามืดที่กลับสว่างสดใส มันคือช่วงวาระสุดท้ายของดาวฤกษ์ที่มีมวลใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ เรียกว่า “Protoplanetary Nebula” เป็นช่วงที่เกิดขึ้นก่อนดาวฤกษ์จะจบสิ้นอายุขัยและกลายเป็นเนบิวลาดาวเคราะห์ (Planetary Nebula)
บริเวณตรงกลางของภาพ (ส่วนที่เป็นสีฟ้าและน้ำเงิน) เป็นบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงกว่าบริเวณรอบข้าง โดยหลังจากดาวฤกษ์ขยายออกจนมีขนาดใหญ่มากเกินไป สสารส่วนนอกสุดของดาวจะหลุดและขยายออกไป จากนั้นอุณหภูมิที่ศูนย์กลางจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีอุณหภูมิ 30,000 เคลวิน เมื่อนั้นดาวฤกษ์ที่อยู่ใจกลางจะมีพลังงานมากเพียงพอที่จะทำให้มวลสารที่ปลดปล่อยออกมาก่อนหน้านี้ส่องสว่างขึ้น และกลายเป็นเนบิวลาดาวเคราะห์ในที่สุด
เรียบเรียง : นายธีรยุทธ์ ลอยลิบ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา
อ้างอิง :
[1] https://www.nasa.gov/image-feature/the-coalsack-nebula
[2] https://www.nasa.gov/feature/goddard/caldwell-99”