กาแฟ อาจเริ่มที่แก้วละสิบบาทถึงหลายร้อยบาท ขึ้นกับรสชาติ ที่จะได้จากกรรมวิธีการคั่ว การเก็บ การปลูก สายพันธุ์ และการชง กรมวิชาการเกษตรจึงได้มีการจัดประกวดสุดยอดกาแฟไทยเพื่อนำไปสู่การยกระดับการผลิตกาแฟคุณภาพ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์กาแฟไทย นำมาสู่รายได้ที่เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกรผู้ปลูก
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงงานประกวดสุดยอดกาแฟไทย ประจำปี 2564 (Thai Coffee Excellence 2021) ว่า เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อยกระดับชื่อเสียงของกาแฟไทยสู่ระดับสากล เพื่อเฟ้นหาสุดยอดกาแฟไทย จึงกำหนดคุณสมบัติไว้ว่า ทั้งกาแฟอะราบิกาและโรบัสตา จะต้องเป็นกาแฟที่ปลูกในแผ่นดินไทยเท่านั้น จากฝีมือของเกษตรกรหรือจากสถาบันผู้ปลูกกาแฟเช่น กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรายย่อย โดยการรับรองของเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งตัวบุคคล สถาบันและแหล่งพื้นที่ปลูก ซึ่งปีนี้มีความพิเศษคือเป็นครั้งแรกที่มีการประกวดชิงถ้วยพระราชทานสำหรับกาแฟโรบัสตา จากที่นับแต่ปี 2019 เป็นต้นมา กรมร่วมจัดกับสมาคมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับวงการกาแฟจะเป็นการประกวดอะราบิกาเป็นหลัก
ผู้ชนะจะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัลจากกรมวิชาการเกษตรอีกด้วยโดยรางวัลที่ 1 มี 4 รางวัล จะได้รับเงินอีก 50,000 บาท ทั้ง4 รางวัลคือประเภทคุณภาพกาแฟที่มีระดับคะแนนสูงสุดของกาแฟอะราบิกา 3 รางวัลและกาแฟโรบัสตา 1 รางวัล รางวัลที่ 2 จะได้รับเงินจำนวน 30,000 บาท มี 4 รางวัล และรางวัลที่ 3 มี 2 รางวัลๆละ 10,000 บาท
“การประกวดแข่งขัน ถือเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรมีการแข่งขันเพื่อพัฒนาคุณภาพกาแฟให้ดียิ่งขึ้น นำมาสู่รายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นปัจจุบันประชาชนนิยมบริโภคเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการขยายตัวของร้านกาแฟระดับพรีเมี่ยม หรือร้านกาแฟที่แสดงออกถึงไลฟ์สไตล์การบริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มกาแฟพิเศษมีอัตลักษณ์เฉพาะ ทำให้สามารถจำหน่ายได้ราคาที่สูงกว่าราคากาแฟทั่วไป เช่นปกติอะราบิกาจะขายกาแฟสารได้กิโลกรัมละ 150-200 บาทแต่หากเป็นกาแฟพิเศษที่มีการใส่เรื่องราว การปลูกที่พิเศษ หรือการสร้างความต่างจำเพาะของกาแฟแต่ละพื้นที่ลงไปอาจขายได้ราคาสูงนับพันบาทหรือหลายพันบาทต่อกก. ซึ่งการประกวดกาแฟ เป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญที่จะทำให้เกษตรกรมีกำลังใจในการพัฒนา นอกจากนั้นจะเป็นการเผยแพร่ให้เห็นว่ากาแฟไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก ซึ่งสิ่งที่ต้องการสร้างคือต่อไป คนไทยหรือชาวโลกเห็นกาแฟไทยแล้วต้องหยุดซื้อหาเป็นลำดับต้นๆ จากที่ปัจจุบันหลายคนมักนิยมซื้อกาแฟจากต่างประเทศและหยิบกาแฟไทยเป็นอันดับเกือบสุดท้ายทั้งๆที่กาแฟไทยหลายประเทศยอมรับว่ารสชาติดี ดังนั้นการประกวดครั้งนี้จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงคุณภาพและมาตรฐานของกาแฟไทย และนำมาสู่การส่งเสริมการปลูกกาแฟคุณภาพในลำดับต่อไป“
ด้านนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า อีกความพิเศษของการประกวดปีนี้ที่ต้องกล่าวถึงก็คือกองทุนพิเศษขององค์การกาแฟโลก(Internation Coffee Organization:ICO) ได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 34,000 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1 ล้านบาท ถือเป็นครั้งแรกที่องค์กรกาแฟระดับโลกสนับสนุนการอย่างเป็นทางการ นอกจากนั้นยังได้รับเกียรติจากนายจอห์น แซนเดอร์ ผู้เชี่ยวชาญกาแฟจากสมาคมกาแฟพิเศษ ซึ่งมีประสบการณ์ในวงการกว่า 33 ปี และเป็นหัวหน้าผู้ตัดสินการแข่งขันกาแฟในระดับสากลในหลายประเทศ มาเป็นประธานคณะกรรมการตัดสินการประกวดที่จะมาจากบุคลากรที่มีประสบการณ์จากภาครัฐ สมาคม และผู้ประกอบการกาแฟที่มีชื่อเสียงจากภาคเอกชนที่ได้รับการรับรองจาก Specialty Coffee Association :SCA การตัดสินจะใช้ลักษณะทางกายภาพ(physical grading) และการประเมินคุณภาพทางประสาทสัมผัส(cupping test) ตามเกณฑ์ของ SCA
ปีนี้ผู้ชนะการประกวดสุดยอดกาแฟไทยปี 2564 กระบวนการแปรรูปกาแฟอะราบิกา ด้วยวิธีแห้ง day/natural process อันดับ 1 คือนายฉิ่ง แซ่ท้าว จากจังหวัดน่าน คะแนน 86.58 วิธีเปียก wet/fully wash process คือนายชาติชาย คะบู่ จากจังหวัดแม่ฮ่องสอน คะแนน 83.92 วิธีกึ่งแห้ง semi-dry/honey process อันดับ 1 คือนางฐิติกัลป์ มันตาวลี จังหวัดเชียงราย คะแนน 83.60 และการแฟโรบัสตา ชนะเลิศอันดับ 1 คือนายธนาสิทธิ์ สอนสุภา จังหวัดชุมพร คะแนน 85.39
การมอบรางวัลจะมีขึ้นต้นเดือนมิ.ย.2564 จากนั้นจะมีการนำกาแฟที่ชนะการประกวดออกโรดโชว์ Roadshow พร้อมจัดเสวนาเพื่อให้ความรู้จากวิทยากรที่มีประสบการณ์ให้กับผู้สนใจทั่วประเทศต่อไป สำหรับการประกวดได้เริ่มให้ผู้สนในส่งกาแฟเข้ามาเมื่อเดือนมี.ค.-10 พ.ค. 64 มีผู้สนใจส่งตัวอย่างเข้าร่วม 186 ตัวอย่างจากทุกภูมิภาค แยกเป็นอะราบิกา 133 ตัวอย่าง รวมทั้ง 3 กระบวนการคือ วิธีแห้งdry/natural process วิธีเปียกwet/fully wash process และวิธีกึ่งแห้ง semi-dry/honey peocess และโรบัสตา 53 ตัวอย่าง
สำหรับกาแฟของไทยนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ข้อมูล ณ 8 ก.ย.63 ระบุว่า ไทยมีความต้องการใช้เมล็ดกาแฟประมาณ 78,953 ตันต่อปี ขณะที่ผลิตได้ 26,161 ตัน พื้นที่เพาะปลูก 2.6 แสนไร่ ทำให้ต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อมาแปรรูปส่งออก