ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 5,485 ราย ตาย 19 ราย "กทม."ผ่อนคลาย 5 สถานประกอบการ"สวนสาธารณะ-พิพิธภัณฑ์-คลินิกเสริมความงาม" ด้าน"บิ๊กตู่"ขอดูก่อน"อปท."ขอซื้อวัคซีนเองทำได้หรือไม่ แย้มให้ตัดยอดจากรัฐบาล "มท.1"สั่งเบรก"อปท."จัดซื้อวัคซีนเอง ชี้ต้องรอข้อยุติจาก"ศบค."ก่อน ส่วน"สันนิบาตเทศบาลฯ"จ่อยื่นหนังสือ"นายกฯ-ปธ.ศบค."ขอส่งเสริมท้องถิ่นซื้อวัคซีนโควิด
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 31 พ.ค.64 แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงรายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า พบติดเชื้อรายใหม่ รวม 5,485 ราย แบ่งเป็นจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,201 ราย ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 2,270 รายผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 57 ราย และรวมกับติดเชื้อจากเรือนจำ 1,953 ส่วนผู้เสียชีวิตรายใหม่ 19 รายทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 159,792 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 108,345 ราย หายเพิ่ม 3,101 ราย รักษาอยู่ 50,416 ราย แบ่งเป็นรักษาในโรงพยาบาล 20,837 ราย และโรงพยาบาลสนาม 29,579 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,233 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 390 ราย และรวมเสียชีวิต 1,031 คน
ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร(กทม.) ครั้งที่ 15/2564 โดยมี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อต่อกรุงเทพมหานคร ได้ประชุมเพื่อพิจารณาผ่อนปรนมาตรการสำหรับสถานประกอบการ เนื่องจากในขณะนี้พบว่าคลัสเตอร์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครส่วนใหญ่พบในชุมชน ตลาด แคมป์คนงาน ซึ่งอยู่ระหว่างการเข้าควบคุมโรค และสถานการณ์การระบาดยังคงทรงตัวอยู่ในคลัสเตอร์เฉพาะกลุ่มดังกล่าว ในส่วนของสถานประกอบการบางประเภทไม่พบคลัสเตอร์การระบาด ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้ผ่อนปรนเปิดสถานประกอบการบางประเภทเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของภาคธุรกิจ และให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพได้ ภายใต้มาตรการของรัฐที่กำหนดอย่างเคร่งครัด
สถานประกอบการที่ได้รับการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการให้เปิดได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.64 เป็นต้นไป มีดังนี้ 1. พิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์สถาน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น รวมถึงพิพิธภัณฑ์ในลักษณะทำนองเดียวกัน ศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ อุทยานวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แหล่งประวัติศาสตร์โบราณสถาน และหอศิลป์ ทั้งนี้ให้เปิดได้ภายใต้มาตรการที่เข้มงวด เช่น ห้ามเข้าเยี่ยมชมเป็นกลุ่มคณะที่มีการรวมตัวกันจำนวนมาก 2.สถานที่สักหรือเจาะผิวหนังหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ร้านทำเล็บ ทั้งนี้ให้เปิดได้ภายใต้มาตรการที่เข้มงวด เช่น หากพบการติดเชื้อในสถานบริการจำพวกนี้ ให้ปิด 14 วัน
3. สถานที่ให้บริการควบคุมน้ำหนัก คลินิกเสริมความงาม สถานเสริมความงาม และคลินิกเวชกรรมเสริมความงาม 4. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (ร้านสปา ร้านนวดเพื่อสุขภาพ ร้านนวดเพื่อเสริมความงาม) สถานประกอบการนวดแผนไทย(งดเว้น การอบตัว อบสมุนไพร หรืออบไอน้ำ และการนวดบริเวณใบหน้า) นวดฝ่าเท้า 5.สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ และสวนดอกไม้ ให้เปิดได้ภายใต้มาตรการที่เข้มงวด เช่น ห้ามไม่ให้มีการนั่งร่วมกลุ่ม และไม่ให้นำอาหารเข้ามารับประทาน ยกเว้นน้ำดื่ม สำหรับสถานประกอบการประเภทอื่นๆ ยังคงให้ปิดตามประกาศปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่29) ต่อไปจนถึงวันที่ 14 มิ.ย.64
ที่รัฐสภา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แสดงเจตจำนงค์ที่จะซื้อวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่ของตนเองว่า ต้องดูว่าท้องถิ่นจะสามารถจัดซื้อวัคซีนด้วยตัวเองได้หรือไม่ และวัคซีนจะเอามาจากที่ไหน ซื้อจากใคร วันนี้ยอดวัคซีนของบริษัทที่มาเจรจาขอจดทะเบียน เขาขายกับรัฐบาล สมมุติว่าถ้ามีใครจะซื้อก็สามารถตัดจากยอดของรัฐบาล ซึ่งก็ต้องแล้วแต่บริษัทเขาด้วย
ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ถึงกรณีการจัดซื้อวัคซีนทางเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แต่ติดล็อกคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่วินิจฉัยว่าระยะแรกเท่านั้นที่รัฐจะเป็นผู้ซื้อ อปท.และภาคเอกชนไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อโดยตรงได้ ว่า ตามกฎหมาย อปท.ทุกรูปแบบ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พัทยา กทม. สามารถดำเนินการจัดซื้อวัคซีนที่ต้องการได้ โดยสามารถดำเนินการได้เอง
แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยว่าการดำเนินการทำไม่ได้ แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้แจ้งตรงไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ตามกฎหมาย สถ.จะต้องแจ้งไปยัง อปท.แล้วจึงจะแจ้งมหาดไทยทราบ โดยสรุปได้แจ้งไปยัง อปท.ให้ยุติการดำเนินการ จึงยังไม่มี อปท.จัดซื้อ เพราะข้อแนะนำดังกล่าว มาถึงการพิจารณาข้อเสนอแนะผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุว่าในระยะแรกเท่านั้น ที่บอกว่าไม่สามารถให้ภาคเอกชนและ อปท.ดำเนินการจัดซื้อ แต่ถ้าพ้นระยะแรกเมื่อไหร่ก็สามารถกระทำได้ตามอำนาจหน้าที่ คงไม่ต้องไปถามผู้ตรวจการแผ่นดินอีก
อย่างไรก็ตาม อปท.มี 7 พันกว่าแห่ง ส่วน อบจ. 76 แห่ง จัดซื้อวัคซีนได้ มีระเบียบกระทรวงมหาดไทยออกระเบียบไว้ เมื่อมีโรคติดต่ออันตราย ให้ อปท.สนับสนุนการระงับการแพร่ระบาดได้ โดยสนับสนุนหน่วยงานของรัฐในการควบคุมโรคติดต่อ จะต้องประสานในทางปฏิบัติและด้านนโยบาย ซึ่งหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจขณะนี้คือกระทรวงสาธารณสุขและศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)
"เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ถ้าจะต้องมีการหารือก็ต้องได้ข้อยุติจาก ศบค. เพราะถ้ามีการจ่ายวัคซีนของรัฐผ่าน ศบค. และ อปท.ซื้อเองอีก ใน อบจ.บางที่ก็อาจจะได้วัคซีนมากเกินไป จะเกิดความเหลื่อมล้ำกับ อบจ.เล็ก ๆ ดังนั้น ดูจากกฎหมายและสถานการณ์ อย่างไรก็ต้องให้ ศบค.พิจารณาว่าผ่านระยะแรกไปหรือยังว่าจะให้เอกชนและ อปท.มาสนับสนุนฝ่ายรัฐ และถ้าเอกชนและ อปท.จะซื้อก็ต้องให้รัฐซื้อให้ เพราะเป็นวัคซีนฉุกเฉิน" พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว
ที่สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ( ส.ท.ท.) นายศุภสัณห์ หนูสวัสดิ์ เลขาธิการ ส.ท.ท. เปิดเผยว่า ในวันที่ 2 มิ.ย.นี้ นายกส.ท.ท.จะเดินทางเข้าพบปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ศบค. ขอความอนุเคราะห์สนับสนุนและส่งเสริมให้เทศบาลสามารถดำเนินการจัดซื้อวัดซีนป้องกันโควิด- 19 หรือจัดสรรวัคชีนให้เทศบาลทั่วประเทศ หลังจากที่ผ่านมาผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยว ข้องเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามกฎหมาย แต่ขณะนี้คำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน อยู่ระหว่างการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา
นายศุภสัณห์ กล่าวว่า ส.ท.ท.ในฐานะองค์กรตัวแทนของเทศบาล เห็นว่าเทศบาลมีศักยภาพมีความพร้อมที่จะดำเนินการ แบ่งเบาภาระของรัฐบาล โดยมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เทศบาลฯ รวมทั้งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้นจึงมีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและระงับโรคติดต่อ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น
"ส.ท.ท.จึงขอความอนุเคราะห์สนับสนุนให้เทศบาลที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการจัดซื้อวัคซีนป้องกัน โควิด -19 จากผู้ผลิตหรือราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือจัดสรรวัคซีนโควิด -19 ที่ได้รับการรับรองประสิทธิภาพอให้กับเทศบาลทั่วประเทศ เพื่อบริการให้กับประชาชนในเขตเทศบาล เพิ่มช่องทางการรับวัคซีนแบบปูพรมอย่างทั่วถึงเพื่อลดอัตราการป่วย การเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว" เลขาธิการ ส.ท.ท. กล่าว