นายผยง ศรีวนิช กกรรมการผู้จัดารใหญ่ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ โครงการ “ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ” ว่า นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) ภาคการเงิน โดยสมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก ได้ยืนหยัดเป็นอีก หนึ่งกำลังสำคัญ ในการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และลดภาระทางการเงินให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม โดยเฉพาะลูกค้ารายย่อย และ เอสเอ็มอี ที่เป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าอย่างเร่งด่วน ตั้งแต่การระบาด ระลอกแรก และหลังจากนั้น ก็ได้มีการการปรับมาตรการเป็นระยะ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าได้อย่าง ตรงจุด
ทั้งนี้จากการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่ รุนแรง และ ขยายวงกว้างในเวลาอันรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ได้ปรับลดการประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2564 เหลือเพียง 0.5-2.0% ซึ่งได้รวมผลลัพธ์จากมาตราการของรัฐบาลที่ได้มีการประกาศออกมาแล้วด้วย
โดยความรุนแรงของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนผู้ประกอบการ ภาคธนาคาร และภาคประชาชน ต้องร่วมมือกัน”ช่วยเหลือประเทศใน ทุกๆด้าน ทั้งการเข้าไปมีส่วนร่วมในการเร่งกระจายวัคซีนป้องกันโควิด- 19 รวมทั้งการช่วยเหลือลูกค้าธนาคารที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ก็เป็นเรื่องที่เร่งด่วนเช่นเดียวกัน จึงให้ความร่วมมือกับธปท. ได้ออกมาตรการฟื้นฟูธุรกิจ เพื่อช่วยลูกค้าประคองกิจการ รักษาการจ้างงาน เพื่อให้สามารถกลับมาทำธุรกิจได้ตามปกติ หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ได้แก่ 1.มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู วงเงินรวม 2.5 แสนล้านบาท โดยให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ ซึ่งตั้งเป้าระยะ 6 เดือนแรก คาดว่าจะปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูประมาณ 1 แสนล้านบาท และ 2.มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงินรวม 1 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจที่มีศักยภาพและมีทรัพย์สินเป็นหลักประกัน สามารถลดภาระทางการเงินชั่วคราว
ขณะเดียวกันสมาคมธนาคารไทย ยังได้หารือใกล้ชิดกับภาคธุรกิจ ผ่านสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อจัดหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการเป็นรายธุรกิจ ผ่านกลไกที่แต่ละธนาคารมี เริ่มจาก ธุรกิจค้าปลีก เนื่องจากธุรกิจค้าปลีกมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย มีเม็ดเงินหมุนเวียนและผู้ประกอบการเกี่ยวข้องจำนวนมาก โดยเฉพาะ เอสเอ็มอี มีผู้ประกอบการเกี่ยวข้องถึง 2.5 ล้านราย หรือประมาณ 81% ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั้งหมด และมีการจ้างงานมากที่สุด ถึง 9 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 77% ของการจ้างงานในภาค เอสเอ็มอี
สำหรับความร่วมมือของภาคสถาบันการเงินกับเดอะมอลล์กรุ๊ป ภายใต้โครงการ “ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ” นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้า ซัพพลายเออร์ เอสเอ็มอี ผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นคู่ค้ากว่า 6,000 ราย สามารถเข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ผ่านผลิตภัณฑ์ต่างๆที่แต่ละธนาคารมีอยู่ในส่วนของธนาคารกรุงไทย มี 2 มาตรการ 1. สินเชื่อฟื้นฟู เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ และ 2. สินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียนสำหรับคู่ค้าของเดอะมอลล์กรุ๊ป จากความร่วมมือในครั้งนี้ คาดว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีก ตลอดทั้งที่เกี่ยวเนื่อง สามารถประคองธุรกิจ รักษาการจ้างงาน และลดภาระทางการเงินในช่วงนี้เพื่อให้ธุรกิจสามารถผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ โดยธนาคารพร้อมช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจให้เข้าถึงสภาพคล่องอย่างเต็มที่
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากการระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ 3 รวมถึงการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอน รวมถึงการระบาดที่เกิดขึ้นในหลายระลอก ประกอบกับมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐบาลที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องสะดุดเป็นช่วง ๆ กระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และการใช้จ่ายของประชาชน รวมถึงเอสเอ็มอีก็ได้รับผลกระทบด้วย รายใดที่สายป่านสั้น ก็ต้องหยุดดำเนินกิจการ หลายธุรกิจขาดสภาพคล่อง ทำให้คาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอาจจะต้องรอถึงไตรมาส 1/2566 กว่าจะกลับมาเป็นปกติในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ซึ่งในขณะนี้ได้มีความพยายามช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ เอสเอ็มอี ซึ่งก็ต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง และระบบบัญชีต้องมีความโปร่งใส
ทั้งนี้ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง ได้กำหนด มาตรการฟื้นฟูฯเพื่อดูแลผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพให้สามารถประคับประคองกิจการ พยุงระดับการจ้างงาน และมีโอกาสในการฟื้นฟูเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคสถาบันการเงิน และภาคเอกชน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสามารถตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจและ สอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจำแนกมาตรการเป็น 2 หมวด ตามลักษณะปัญหาที่ต่างกันดังนี้ 1.มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท มุ่งเน้นให้สถาบันการเงินส่งผ่านสภาพคล่องดังกล่าวแก่ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบแต่ยังมีศักยภาพ
2.มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ชำระหนี้ และให้สิทธิลูกหนี้ซื้อคืน (โครงการพักทรัพย์ พักหนี้) วงเงิน 100,000 ล้านบาท มุ่งเน้นในการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว แต่ยังมีศักยภาพและมีทรัพย์สินเป็นหลักประกัน ด้วยการเจรจากับเจ้าหนี้สถาบันการเงินเพื่อหยุดหรือลดภาระหนี้
น.ส.ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัดกล่าวว่า เดอะมอลล์ กรุ๊ป ขานรับนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย ผนึกกำลังภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกับสถาบันการเงินชั้นนำทั้ง 6 แห่งสนับสนุนสินเชื่อฟื้นฟู SOFT LOAN และเพิ่มศักยภาพ ให้ผู้ประกอบการ ร้านค้า ซัพพลายเออร์ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย กว่า 6,000 ราย ได้เข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายและรักษาการจ้างงาน เพื่ออนาคตเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดยดำเนินมาตรการ “ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ” ทั้งศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์, ดิ เอ็มโพเรียม,ดิ เอ็มควอเทียร์ และสยามพารากอน
“เดอะมอลล์ กรุ๊ป จะเป็นตัวกลางประสานงานรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นของผู้ประกอบการธุรกิจ ร้านค้า ซัพพลายเออร์ SMEs ที่ต้องการเข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟูให้กับแต่ละธนาคาร และประสานการจัดประชุมในวาระต่อไประหว่างผู้ประกอบการธุรกิจกับแต่ละธนาคาร เพื่อรับทราบมาตรการ ข้อมูลและรายละเอียด เพื่อให้ได้รับการพิจารณาวงเงินได้อย่างรวดเร็ว จากนั้นเข้าสู่กระบวนการขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของแต่ละธนาคาร ซึ่งธนาคารจะติดต่อตรงกับผู้ประกอบการธุรกิจที่ยื่นขอวงเงินแต่ละราย”