ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “บันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune” โดยระบุ “May 31, 2021 #หลัง7 วัน จะเกิดความเคยชิน
-ตอนเห็นตัวเลขคนป่วย Covid19 ขึ้นหลัก 1,000 คน ก็ตื่นเต้นตกใจใหญ่ พอคงที่ไปได้ 1 สัปดาห์ก็เคยชิน... ตอนนี้ แม้แต่ 2,000 คนก็ยังเคยชิน ... ตอนเห็นตัวเลขคนตายขึ้นหลักเลข 20 ราย ก็เสียใจ และ รู้สึกว่าจะต้องทำอะไรสักอย่าง ... แต่ตอนนี้ คนเสียชีวิตวันละ 40 ราย ก็เริ่มเคยชิน
-ทำไมสวดศพ ถึง 7 วัน และรอ 100 วัน เผา ... ความเคยชิน หรือ การยอมรับกับสถานการณ์ใหม่ เป็นการปรับตัวของสมอง เพื่อลดการทำร้ายสมองของเรา ....
เวลาที่เราต้องมีความเครียด หรือ เผชิญเหตุร้าย สมองจะมีฮอร์โมนความเครียด กลุ่ม cortisol ออกมา กระตุ้น ระบบต่างๆ ให้ทำงานหนักขึ้น นั่นหมายถึงการใช้ทรัพยากรในร่างกายเพิ่มขึ้น ความเหนื่อยล้าเพิ่มขึ้น ... เป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง ซึ่ง หวังว่าจะแลกมาด้วยผลลัพธ์ที่ดี ที่ทำให้เราผ่อนคลายจากสถานการณ์ที่ไม่ดี ทำให้มีความสุข จากการทำงานหนักของเรา ..
แต่สารของความเครียดนี้ ก็มีอันตรายกับร่างกายเรา ดังนั้น นานๆ ที เป็นเรื่องดี แต่ถ้าบ่อยๆ หรือ ต่อเนื่อง เป็นเรื่องอันตราย เพราะระบบต่างๆในร่างกายจะอ่อนล้า และ มีประสิทธิภาพลดลง รวมถึงระบบภูมิคุ้มกัน ความจำ ตรรกะในการคิด แม้แต่ ความอยากสืบพันธุ์ ก็ลดลง ... ความเครียด ดีในระยะสั้น แต่ไม่ดีในระยะยาว ... ร่างกายจึงจัดให้มีกลไก ในการลดความเครียดลง คือ ความเคยชิน
-ความสามารถของมนุษย์ในด้านจินตนาการ เป็นสิ่งที่ประเสริฐ เหนือสัตว์อื่น .. และความสามารถในการจินตนาการนี้ ทำให้เรามีความเครียดกับสิ่งที่เราคาดการณ์ โดยที่ ความเจ็บปวดยังมาไม่ถึงตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีสำหรับ ความเจริญ และ การอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์ ซึ่งแข็งแรงน้อยกว่าสัตว์โลกอื่นๆ อีกหลายชนิด ทำให้เราหลุดจากการเป็นผู้ถูกล่า มาเป็นผู้ล่า ...
แต่ด้วยความเครียด ที่เกิดจากจินตนาการ และ เรายังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง ทำให้เราสามารถเรียนรู้ และ ยอมรับความเคยชินได้ เมื่อผลที่เกิดตามจินตนาการยังมาไม่ถึง ... เป็นการลดการทำร้ายตัวเอง .. ซึ่งเป็นกลไกการป้องกันตัวเองที่ดีนะครับ ... ความรู้สึกเครียดน้อยลง ... เคยชิน เป็นเรื่องดีนะครับ
-แต่ที่จะดีกว่านั้น คือ การตระหนักรู้ว่า ไม่ควรต้องเครียดจนเกินไป และ ไม่ลดละที่จะแก้ปัญหา ..หากเคยชิน แล้ว ย่อหย่อนการแก้ไขปัญหา นั่นคือ อันตราย เพราะเราจะเริ่มลำบากอีกที ตอนที่เรื่องร้ายมาถึงตัว
-อย่า เพิ่งเคยชินกับสถานการณ์ โรคระบาด covid19 นะครับ ... ผ่อนคลายบ้าง แต่ไม่เคยชินนะครับ ... คนเราเคยชินง่ายมากครับ แค่สัปดาห์เดียวก็เคยชินแล้ว”