ปูดยาต้านไวรัส ฟาวิพิราเวียร์ที่แปดริ้วใกล้หมดสต็อก สวนทางผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 ที่ยังทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นรายวัน ล่าสุดตายเพิ่มอีก 2 ราย ขณะนายก อบจ.ฉะเชิงเทรา วอนรัฐบาลช่วยปลดล็อกปล่อยอิสระ อปท. จัดหาซื้อยาต้านไวรัสและวัคซีนป้องกันโรค ร่วมแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคให้แก่ประชาชนในพื้นที่ของตนเองได้
วันที่ 30 พ.ค.64 เวลา 10.30 น. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายกิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายก อบจ.ฉะเชิงเทรา ว่า จากการที่ได้ร่วมปรึกษาพูดคุยกันกับทาง นพ.มณเทียร คณาสวัสดิ์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.ฉะเชิงเทรา (สสจ.) พร้อมด้วย ผอ.โรงพยาบาลหลายแห่ง ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ในการร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด 19 ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา นั้น
ได้รับข้อมูลว่าขณะนี้ยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาต้านไวรัสที่นำมาใช้ในการักษาโรคโควิด 19 ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา เริ่มมีปริมาณเหลือน้อยลงมากแล้ว เนื่องจากได้รับการจัดสรรมาให้ในปริมาณที่ค่อนข้างน้อยมาก ซึ่งสวนทางกันกับจำนวนของผู้ป่วยในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ที่ยังคงพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะนี้มีมากกว่า 1 พันรายแล้ว จึงอยากวิงวอนขอให้ทางรัฐบาลได้ช่วยจัดสรรยาฟาวิพิราเวียร์ ส่งมาให้แก่ทางสำนักงานสาธารณสุข จ.ฉะเชิงเทรา เพิ่มเติมด้วย
เนื่องจากตนมีความเป็นห่วงกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโรคในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนชาว จ.ฉะเชิงเทรา หลังจากนี้ไป ขณะที่ทาง อบจ.ฉะเชิงเทรา สามารถให้การสนับสนุนต่อทางหน่วยงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ได้เพียงในเชิงของการป้องกัน เช่น การสนับสนุนน้ำยาฆ่าเชื้อ เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และหน้ากากป้องกันการแพร่เชื้อเท่านั้น
โดยไม่สามารถที่จะใช้เงินงบประมาณท้องถิ่นมาทำการสนับสนุนในการจัดหาซื้อยาต้านไวรัส หรือวัคซีนในการป้องกันโรคได้ เพราะไม่มีอำนาจหน้าที่ และทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่รับวินิจฉัยกรณีปรึกษาความเห็นทางกหมาย ตามที่สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย และ สมาคม อปท.อื่นๆ รวม 3 สมาคม ขอให้พิจารณาให้ความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19
อีกทั้งจากคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามความเห็นของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจากหนังสือด่วนที่สุด ที่ มท.0808.2/ว.252 นั้นยังชี้ว่า อปท. ไม่สามารถจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด 19 ได้เองจากผู้ผลิตโดยตรง นอกจากนี้ยังมีหนังสือมาจาก นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เกี่ยวกับคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ ผผ 0902/303 ลงวันที่ 1 ก.พ.64 ว่าภาครัฐเท่านั้นที่จะดำเนินการจัดซื้อและบริหารวัคซีนกระจายวัคซีนตามแผนการบริหารจัดการวัคซีนได้
ทั้งที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตนได้มีความพยายามที่จะจัดหาซื้อวัคซีน มาฉีดให้แก่พี่น้องประชาชนแล้วก็ตาม เนื่องจากทางอธิบดีกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีคำสั่งมาอย่างเด็ดขาดว่าห้ามไม่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซื้อวัคซีนป้องกันโควัน 19 โดยเด็ดขาดจึงไม่สามารถทำได้ ซึ่งหากสามารถทำได้แล้วตนเองก็พร้อมที่จะจัดสรรงบประมาณ ในการหาซื้อมาฉีดให้แก่พี่น้องประชาชนอย่างแน่นอนในทันที นายกิตติ กล่าว
และกล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันทางสำนักงาน อบจ.ฉะเชิงเทรา ได้มีการตั้งกองสาธารณสุขขึ้นมาแล้ว แต่ยังไม่มี ผอ.หรือหน่วยงานใดโอนเข้ามาสังกัด แต่หากทาง อบจ.มีอำนาจหน้าที่ ที่สามารถจัดหาซื้อวัคซีนและยาต้านไวรัสเองได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมายหรือคำสั่งคำวินิจฉัยใด ตนก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนหรือจัดหาซื้อมาให้แก่ รพ.สต.ในแต่ละตำบล ทำการฉีดให้แก่ประชาชนในทันที
แต่ปัจจุบันสามารถทำได้เพียงแค่การให้การสนับสนุนอุปกรณ์เพื่อป้องกัน ที่ยังคงมีการร้องขอกันเข้ามาอย่างมากมาย จาก อปท.ในระดับตำบลทั้ง อบต. และเทศบาล จนทำให้การจัดหาซื้อมาให้ยังทำได้ไม่ทัน จึงอยากขอร้องประชาชนชาว จ.ฉะเชิงเทรา ว่า หากไม่มีความจำเป็นต้องออกจากบ้าน ก็ขอให้อยู่แต่กับบ้านไปก่อน หากมีความจำเป็นจริงๆ แล้วเท่านั้น จึงจะออกจากบ้านไปทำธุรกิจ เพื่อความปลอดภัยต่อตัวเราเอง และคนในครอบครัวด้วย
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า อยากฝากอะไรไปถึงยังทางรัฐบาลบ้าง นายกิตติ บอกว่าอยากให้ช่วยปรับปรุงแก้ไขข้อกำหนด หรือระเบียบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ อปท.สามารถจัดซื้อยาฟาวิพิราเวียร์และวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ได้เอง ซึ่งตนเองนั้นยินดีที่จะให้การสนับสนุนในการจัดสรรงบประมาณไปช่วยเหลือหน่วยงานต่างๆ จัดซื้อมาให้กับพี่น้องประชาชน นายกิตติ กล่าว
ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานถึงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ล่าสุดในวันนี้ว่าศูนย์ข้อมูลข่าวสารโควิด 19 จ.ฉะเชิงเทรา ได้มีการรายงานยอดจำนวนผู้ติดเชื้อในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ที่ยังคงมีอัตราการติดเชื้อที่สูงขึ้น และยังทำลายสถิติสูงสุดซ้ำอีกอย่างต่อเนื่อง ที่จำนวน 201 ราย โดยเป็นการระบาดภายในเรือนจำ 97 ราย และผู้ป่วยภายนอก 104 ราย จากเดิมที่เคยมียอดการระบาดสูงสุดเมื่อวันที่ 28 พ.ค.64 จำนวน 147 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 รายในวันนี้
ทำให้ จ.ฉะเชิงเทรา มีจำนวนผู้ป่วยสะสมมากถึง 1,545 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 11 ราย จากการระบาดระลอกแรก 21 รายเสียชีวิต 1 ราย ผู้ป่วยจากการระบาดระลอกสอง 28 ราย และมีผู้ติดเชื้อจากการระบาดครั้งล่าสุดมากถึง 1,496 ราย เสียชีวิต 10 ราย โดยที่ยังคงมีผู้ติดเชื้ออยู่ในระหว่างการรักษาจำนวน 964 ราย ท่ามกลางสถานการณ์ที่ “ยาฟาวิพิราเวียร์” กำลังมีปริมาณในสต็อกเหลือน้อยลงในขณะนี้