น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 1 มิ.ย.64 จะเสนอ 4 โครงการช่วยเหลือประชาชน เพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ วงเงินรวม 1 แสน 4 หมื่นล้านบาทเข้าสู่การพิจารณา ซึ่งเป็นไปตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท) ที่มีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธานคณะกรรมการ ได้พิจารณาอนุมัติให้ใช้แหล่งเงินกู้แล้วโดย 4 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการเติมเงินให้ผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 13,650,000 คน เดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ใช้งบประมาณ 16,400 ล้านบาท 2.โครงการเติมเงินให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษที่เป็นผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน ซึ่งเคยเข้าร่วมโครงการเราชนะ รวมทั้งกลุ่มผู้พิการและผู้สูงอายุด้วย จำนวน 2,500,000 คน เดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาท 3.โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 เป็นการกระตุ้นกำลังซื้อผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง และช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยด้วย โดยจะเป็นการใช้จ่ายแบบร่วมจ่าย (copay) รัฐช่วยจ่ายวันละ 150 บาท ตลอดระยะเวลาโครงการรวมเป็นเงิน 3,000 บาท ซึ่งจะแบ่งเป็นช่วงแรก ไตรมาส 3 ของปีนี้จะทยอยจ่าย 1,500 บาท และไตรมาส 4 อีก 1,500 บาท ครอบคลุมประชาชน 31,000,000 คน โดยที่ผ่านมามีประชาชนเข้าร่วมโครงการแล้ว 15,000,000 คน สำหรับโครงการเฟส 3 นั้นจะเปิดให้เข้ามาลงทะเบียนรับสิทธิอีก 16,000,000 คน ใช้งบประมาณรวมกว่า 93,000 ล้านบาท 4.โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศผ่านผู้ที่มีกำลังซื้อ และสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยจะมีการเปิดลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ยิ่งใช้ยิ่งได้.com หลังจากที่ ครม.อนุมัติโครงการ กลุ่มเป้าหมาย 4 ล้านคน ใช้งบประมาณ 28,000 ล้านบาท โดยโครงการนี้รัฐจะสนับสนุน e-Voucher สำหรับจ่ายค่าสินค้า อาหาร ค่าเครื่องดื่ม และค่าบริการ (ไม่รวมลอตเตอรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ น้ำมันและก๊าซสำหรับยานพาหนะ ค่าบริการนำเที่ยว ค่าที่พัก และค่าตั๋วเครื่องบิน) ในอัตราร้อยละ 10-15 สูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน ยอดใช้จ่ายเพื่อคำนวณ e-Voucher ไม่เกิน 5,000 บาทต่อวันต่อคน แบ่งเป็น 2 ต่อดังนี้ ต่อที่ 1 ใช้จ่าย 1-40,000 บาทแรก จะรับ e-Voucher ร้อยละ 10 ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 4,000 บาทต่อคน ต่อที่ 2 ใช้จ่าย 40,001-60,000 บาท รับ e-Voucher ร้อยละ 15 ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน ทั้งนี้วิธีการใช้จ่ายผ่านโครงการ จะต้องนำเงินเข้ามาในวอลเลตบนแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง โดยใช้จ่ายในการซื้อสินค้า/บริการ ที่จะได้รับ e-Voucher ช่วงกรกฎาคม-กันยายน 2564 จากนั้นจะได้รับ e-Voucher คืนทุกต้นเดือนถัดไปหลังมีการใช้จ่าย หรือช่วงสิงหาคม-ธันวาคม 2564 โดยวงเงินสิทธิที่ได้รับนั้น ก็จะเข้ามาในวอลเลตบนแอปเป๋าตังเช่นกัน ซึ่งไม่สามารถถอนเป็นเงินสดได้ สำหรับทั้ง 4 โครงการ ครม.ได้เห็นชอบในหลักการไปแล้วเมื่อวันที่ 5 พ.ค.64 แต่ในรายละเอียดสุดท้ายยังขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ครม. หากรวมกับโครงการที่ออกมาในระยะแรก ได้แก่ เพิ่มวงเงินโครงการเราชนะ ซึ่งจะเป็นการบรรเทาภาระประชาชนในช่วงโควิดอีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท ระยะเวลา 2 สัปดาห์ รวมเป็นวงเงิน 2,000 บาท รวมเป็นเงินงบประมาณ 67,000 ล้านบาท และโครงการ ม33เรารักกัน เพิ่มวงเงิน 2,000 บาท ใช้งบประมาณรวมกว่า 18,500 ล้านบาท สามารถดูแลประชาชนได้ครอบคลุมกว่า 51,000,000 คน และจะส่งผลให้มีเม็ดเงินไหลลงสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 400,000 ล้านบาท สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้กว่าร้อยละ 1 ของ GDP