โควิดไทยดับเพิ่ม 24 ราย ติดเชื้อรายใหม่อีก 4,528 ราย “ศบค.มท.”สั่ง “ผู้ว่าฯ” ควบคุม-ป้องกันโควิดในแคมป์คนงานในต่างจังหวัด พร้อมจัดทำทะเบียนแรงงานออกนอกพื้นที่ เพื่อติดตามตัว “พ่อเมืองสระบุรี” สั่งปิดโรงงานเชือดไก่ “ซีพีเอฟ” แก่งคอยสระบุรี หลังพบผู้ติดเชื้อ 245 ราย เร่งตรวจเชิงรุกคนงานทั้งหมด 5,800 คน พร้อมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ของบริษัทฯ ส่วน“คนกรุง”แห่ยอดจองวัคซีน“ไทยร่วมใจ”2วัน เฉียด2ล้าน คน “ปชป.”จี้มหาดไทยปลดล็อกให้อปท.ซื้อวัคซีนได้เอง พร้อมเสนอฉีดวัคซีนครูก่อนเปิดเทอม เมื่อวันที่ 30 พ.ค.64 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้รายงานสถานการณ์ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศพบผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 4,528 ราย แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อใหม่ 2,626 ราย และติดเชื้อในเรือนจำ1,902 ราย มีผู้เสียชีวิต 24 ราย รักษาหายกลับบ้านได้ 2,933 ราย รวมยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศ ระลอกใหม่อยู่ที่ 125,444 ราย หายป่วยสะสม 74,885 ราย ด้าน นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าฯกทม. ได้สั่งการไปยังผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด พิจารณาดำเนินการนำมาตรการด้านการควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในแคมป์คนงานก่อสร้างของกรุงเทพฯ อาทิ ออกมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายของแรงงาน ข้ามเขตภายในจังหวัดที่กำหนด ให้มีการแจ้งล่วงหน้าไปยังปลายทางไม่น้อยกว่า 7 วัน การจัดทำบัญชีหรือทะเบียนแรงงานที่มีการเดินทางออกนอกพื้นที่เพื่อประโยชน์ในการติดตามตัวและควบคุมโรค มาพัฒนารายละเอียดเพิ่มเติมให้มีความชัดเจนขึ้น เพื่อเป็นแนวทางสำหรับจังหวัดอื่นๆ นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ต่อไป ขณะที่ กรุงเทพมหานคร แจ้งข้อมูลการลงทะเบียนโครงการไทยร่วมใจ ณ วันที่ 29 พ.ค.64 เวลา 22.00 น มีผู้แจ้งความประสงค์รับการฉีดวัคซึนสะสมทั้งหมด (27 29 พ.ค.64) 1,869,036 ราย โดยเป็นผู้ลงทะเบียนผ่านแอปฯเป๋าตัง 1,194,234 ราย ผู้ลงทะเบียนผ่าน www.ไทยร่วมใจ .com 674,802 ราย ทั้งนี้ เฉพาะวันที่ 29 พ.ค.64 รวม 97,156 ราย โดยผู้ลงทะเบียนผ่านแอปฯเป๋าตัง 61,247 ราย ผู้ลงทะเบียนผ่าน www.ไทยร่วมใจ .com 35,90 9 ราย ส่วน นายแมนรัตน์ รันตนสุคนธ์ ผวจ.สระบุรี ได้แจ้งผลการดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ 1.สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรี ร่วมกับโรงพยาบาลแก่งคอย สำนักงานสาธารณสุขอำเภอแก่งคอยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตรวจคันหาผู้ป่วยเชิงรุกพนักงานโรงงานแปรรูปเนื้อไก่สระบุรีของบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) ซึ่งมีพนักงานรวมทั้งสิ้นประมาณ 5,800 คน ปัจจุบันดำเนินการตรวจเชิงรุกแล้วประมาณ 3,400 ราย ทราบผลการตรวจแล้วจำนวน 765 ราย พบผู้ติดเชื้อจำนวน 245 ราย 2.ผู้ที่ตรวจพบเชื้อดังกล่าวได้นำตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในพื้นที่ และจ.สระบุรีได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามขึ้น ณ ค่ายลูกเสือเจ็ดคต–โปงก้อนเส้า อ.แก่งคอย จ.สระบุรี สามารถรองรับผู้ติดเชื้อได้ประมาณ 160 ราย ปัจจุบันมีผู้เข้าพักแล้ว จำนวน 49 ราย 3.โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ของบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) จ.สระบุรี ได้เตรียมการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ของบริษัทฯ โดยคาดว่าจะสามารถรองรับผู้ติดเชื้อได้ประมาณ 400 ราย 4.บริษัท ฯ จะปิดสายการผลิตชั่วคราว เพื่อทำความสะอาด ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค.ถึง 3 มิ.ย.64 รวม 5 วัน 5.ปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจคันหาเชิงรุก พนักงานบริษัทดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะทราบผลตรวจภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2564 หากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบต่อไป ขณะที่ นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราชและรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขณะนี้องค์ กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) หลายแห่งมีมติ ให้นำงบประมาณส่วนใหญ่ไปช่วยแก้ไขปัญหาการระบาดของไว รัสโควิด-19 รวมทั้งกันงบประมาณ เพื่อจัดซื้อวัคซีนฉีดให้กับประชาชน แต่ยังมีอุปสรรค คือ ความไม่ชัดเจน ของท่าทีของภาครัฐ เนื่องจากทางกระทรวงมหาดไทย ได้อ้างอิงคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ยังไม่สามารถให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดซื้อจัดหาวัคซีนโดยตรงกับผู้ผลิต จึงอยากให้ทางกระทรวงมหาดไทย ปลดล็อกคำสั่งที่ยืนตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ท้องถิ่นดำเนินการจัดซื้อวัคซีนโดยตรงจากผู้ผลิต ซึ่งเป็นการช่วยภาครัฐในการกระจายวัคซีนและเป็นการแสดงให้เห็นถึงบทบาทของ อปท.ในการป้องกันโรคระบาด ตามหลักการกระจายอำนาจด้วย นอกจากนี้ยังขอเรียกร้องไปยังทางกระทรวงศึกษาธิการ ให้ฉีดวัคซีนกับครูและบุคลากรทาง การศึกษา ในสังกัดของกระทรวงก่อนที่จะมีการเปิดเทอมใหม่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครองและนักเรียน