โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แจงกรณีปรากฏข่าวว่า ไทยเปลี่ยนท่าทีการเข้าร่วมโครงการโคแว็กซ์ ชี้เพียงทาบทาม “ยืม”วัคซีน
วันที่ 29 พ.ค. 25642 นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงกรณีปรากฎเป็นข่าวว่า ไทยเปลี่ยนท่าทีการเข้าร่วมโครงการโคแว็กซ์ โดยกระทรวงการต่างประเทศได้สั่งการ (เมื่อวันที่ 28 เมษายน2564) ให้คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ทาบทามกลไกจากโครงการโคแว็กซ์ภายใต้องค์การอนามัยโลกหรือ WHO เพื่อจัดทำความตกลงแลกเปลี่ยนวัคซีน หรือ vaccine swap arrangement ดังนี้
1.ความตกลงแลกเปลี่ยนวัคซีนเป็นการจัดทำความตกลงระหว่างสองฝ่าย โดยประเทศหนึ่งประสงค์ขอรับวัคซีนจากอีกประเทศที่ยังไม่มีความต้องการใช้หรือที่มีเกินความต้องการมาใช้ก่อน และจัดส่งคืนภายหลังเมื่อมีวัคซีนในประเทศเพียงพอ การจัดทำความตกลงดังกล่าวเป็นแนวปฏิบัติที่หลายประเทศทำอยู่ เช่น ระหว่างเกาหลีใต้กับสหรัฐฯ
2.การทาบทามจากโครงการโคแว็กซ์เพื่อจัดทำความตกลงการแลกเปลี่ยนวัคซีนเป็นเรื่องที่แยกจากการเจรจาความตกลงจัดซื้อวัคซีนหรือเข้าร่วมโครงการโคแว็กซ์ และเป็นเพียงมิติหนึ่งของความร่วมมือที่ฝ่ายไทยสามารถมีกับโครงการโคแว็กซ์
3.อีกมิติของความร่วมมือระหว่างไทยกับโครงการโคแว็กซ์คือในแง่ของการเป็นประเทศผู้บริจาค โดยเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2563 รัฐบาลไทยได้มอบเงินสนับสนุนจำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือราว 3,000,000 บาทให้แก่ข้อริเริ่มส่งเสริมการวิจัย จัดสรร ผลิตวัคซีน หรือ The Access to COVID-19 Tools (ACT) Accelerator ผ่าน WHO เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและจัดสรรวัคซีนและยาในฐานะเป็นสินค้าสาธารณะของโลก และรัฐบาลไทยจะสนับสนุนเงินเพิ่มเติมอีกจำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3,000,000 บาทผ่านกลไก ACT Accelerator มอบให้โครงการโคแว็กซ์โดยตรงเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านวัคซีนสำหรับประชาคมโลก
4.นอกจากนี้ ไทยกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะร่วมมือกับโครงการโคแว็กซ์ในอนาคต โดยการบริจาควัคซีน (ที่ผลิตในไทย) ให้กับโครงการโคแว็กซ์เมื่อ ไทยมีวัคซีนเพียงพอสำหรับในประเทศแล้ว
5. ดังนั้น การทาบทามจัดทำความตกลงแลกเปลี่ยนวัคซีน เป็นเพียงหนึ่งมิติของความร่วมมือ/การหารือที่ฝ่ายไทยกำลังดำเนินการกับโครงการโคแว็กซ์ ซึ่งสะท้อนความมุ่งมั่นในการดำเนินการทุก ๆ ด้านที่เป็นไปได้ ไม่มองข้ามโอกาสต่าง ๆ ในการจัดหาวัคซีนสำหรับคนไทยในช่วงที่มีการแพร่ระบาดระลอกที่ 3 เป็นการทำงานเชิงรุกในการขยายขอบเขตของการจัดหาวัคซีนที่ถูกต้องที่กระทำกันในทุกวงการเพื่อโอกาส อันเป็นประโยขน์ต่อประชาชนที่กว้างขวางยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศได้เสนอให้นายกรัฐมนตรีมีหนังสือถึงประธานาธิบดีปูติน เพื่อจัดซื้อวัคซีนสกุนติก 5 ซึ่งได้รับการตอบรับด้วยดี
อีกทั้งกระทรวงการต่างประเทศได้ทาบทามทำความตกลงแลกเปลี่ยนวัคซีน กับประเทศอื่น ๆ ด้วยนอกเหนือจากโครงการโคแว็กซ์ อาทิ อิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ซึ่งประเทศต่าง ๆ ได้รับข้อเสนอของไทยไปพิจารณา และบางประเทศ (อาทิ ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้) ได้แจ้งตอบมาแล้วว่า ยังเผชิญกับภาวะขาดแคลนวัคซีนในประเทศ