นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ โพสต์ข้อความลงในเฟซบุค ระบุว่า
เมื่อจะมีการบริการฉีดวัคซีนแบบคิดค่าใช้จ่าย รัฐบาลควรทำอย่างไร
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 47 วรรคสาม บัญญัติไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
เมื่อมีองค์กรภาครัฐหรือเอกชนจะจัดหาวัคซีนมาให้บริการแก่ประชาชนโดยคิดค่าใช้จ่าย รัฐบาลควรทำอย่างไร ?
ถ้าดูจากความเป็นมาของเรื่องนี้จะพบว่าการดำเนินการจัดหาและกระจายวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุขหรือของรัฐบาลเองล่าช้า ไม่เพียงพอและมีทางเลือกน้อย การดำเนินการขององค์กรภาครัฐหรือเอกชนจึงเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นประโยชน์ ที่รัฐบาลควรส่งเสริม
ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินการขององค์กรภาครัฐ ที่นอกเหนือจากกระทรวงสาธารณสุขและภาคเอกชนดำเนินการต่อไปได้และประชาชนยังคงได้สิทธิตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ รัฐบาลจึงควรตั้งงบประมาณช่วยเหลือประชาชนที่จะไปฉีดวัคซีนที่มีการคิดค่าใช้จ่ายทั้งหลาย โดยอาจคำนวณจากค่าใช้จ่ายในการซื้อและขนส่งรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนแต่ละเข็ม เช่นเมื่อเร็วๆ นี้ ครม.มีมติอนุมัติค่าใช้จ่ายในการจัดหาวัคซีน 5 แสนโดส ประกอบด้วย เป็นค่าวัคซีนโควิด-19 จำนวน 271.25 ล้านบาท และค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 18.99 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในบริหารจัดการวัคซีนในการเตรียมความพร้อมในระดับพื้นที่ เพื่อรองรับการฉีดวัคซีน จำนวน 31.36 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 321,604,000 บาท โดยดำเนินงานในเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา
ถ้าคำนวณคร่าวๆ ค่าใช้จ่ายต่อโด๊สจะประมาณ 650 บาท ถ้าคิดค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกสัก 150 บาท ก็จะเป็น 800 บาท
หากใช้ตัวเลขนี้เป็นเกณฑ์ (หรืออาจจะแตกต่างไปบ้างก็สุดแล้วแต่) เมื่อประชาชนไปฉีดวัคซีนกับองค์กรใดหรือโรงพยาบาลเอกชนใดก็ตาม รัฐบาลก็สนับสนุนให้ประชาชนเข็มละ 800 บาท โดยอาจจะจ่ายเงินไปให้ผู้ให้บริการก็ได้
ก็เท่ากับประชาชนจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลตามสิทธิที่พึงได้รับและยังได้ฉีดวัคซีนเร็วขึ้นและมีทางเลือกมากขึ้นด้วย
#วัคซีนโควิด #วัคซีนซิโนฟาร์ม #โควิดวันนี้