ไอเดียเจ๋ง..ช่วงโควิดระบาด ชาวบ้าน ต.ดอนคา อ.บางแพ จ.ราชบุรี รวมกลุ่มเลี้ยงด้วงสาคูใช้ต้นสาคู และเปลือกทุเรียนที่แม่ค้าปอกขายแล้วทิ้ง นำไปเลี้ยงช่วยลดต้นทุนการ  เพียง 45 วัน จับด้วงขายรายได้หลักหมื่นต่อเดือน                 ( 28 พ.ค. 64 )  ช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด -19 ทำให้ทุกอาชีพได้รับกระทบ  แต่บางคนยังคงดิ้นรนสู้ด้วยลำแข้งพยายามหาแนวทาง ปรับเปลี่ยนอาชีพมาเสริมในช่วงนี้ เพื่อประคองครอบครัวให้ผ่านพ้นวิกฤตไปให้ได้  เช่นเดียวกับ นายอำนาจ บุญสวัสดิ์  เกษตรกร หมู่ 4  ต.ดอนคา อ.บางแพ จ.ราชบุรี  ที่ได้ผันอาชีพจากการเลี้ยงลูกพันธุ์ปลานิลไว้จำหน่ายประชาชนที่สนใจทั่วประเทศ  แต่ช่วงการแพร่ระบาดโควิด 19 ระบาดระลอกที่ 3 ซึ่งถือว่าหนักมาก  ทำให้ครอบครัวได้รับผลกระทบ มีสั่งซื้อลูกปลาน้อยลง  จึงต้องปรับเปลี่ยนหาอาชีพเสริมใหม่มาเลี้ยงด้วงสาคูได้ประมาณ 3 เดือนเศษ โดยมีเพื่อนสมาชิกในกลุ่มประมาณเกือบ 600 คน  หันมาเลี้ยงด้วงส่งขายตามตลาดนัดนำไปทอดกรอบร่วมกับแมลงอื่น ๆ  เลี้ยงง่าย โตเร็ว ใช้เวลาเพียงเดือนเศษ ก็สามารถจับขายส่งจำหน่ายตลาดได้แล้ว  ซึ่งที่นี่ยังถือเป็นการรวมกลุ่มเลี้ยงด้วยสาคูในช่วงสถานการณ์โควิด ที่ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เลี้ยงครอบครัวใช้เวลาไม่นาน  อีกทั้งที่กลุ่มเลี้ยงด้วงสาคูยังมีเทคนิคการเลี้ยงที่แปลก โดยนำเปลือกทุเรียนที่ไม่มีค่าถูกทิ้ง หลังจากที่แม่ค้าขายเนื้อทุเรียนไปแล้ว  นำมาใส่ในกะละมัง ร่วมกับวัสดุอื่น ๆ เพื่อด้วงกิน เปลือกทุเรียนสามารถลดต้นทุนการเลี้ยงได้เยอะมาก          นายอำนาจ บุญสวัสดิ์ อายุ 41 ปี อยู่บ้านเลขที่ 55 หมู่ 4 ต.ดอนคา อ.บางแพ กล่าวว่า ได้สืบหาการเลี้ยงจากยูทูป เริ่มเลี้ยงจาก 7 กะละมัง  ซื้อมา 2,800 บาท ทดลองเลี้ยงดู พบว่าออกลูกได้เยอะมาก  แม่ด้วง 5 คู่  ได้ลูกประมาณ 270 ตัว ต่อ 1 กะละมัง จึงคิดว่าด้วงสาคูน่าจะเป็นสัตว์เศรษฐกิจได้ดี จึงสั่งพ่อ แม่พันธุ์มาอีก ครั้งแรก 300 คู่      เป็นสัตว์เลี้ยงง่าย จึงทยอยสั่งมาอีก 2,000 คู่  เลี้ยงมาประมาณ 3 เดือนแล้ว  เดือนแรกขายได้ประมาณกว่า 10,000 บาท เดือนที่ 2 ได้เงินกว่า  20,000 บาท และเดือนที่ 3 ได้เงิน 50,000 กว่าบาท  เป็นสิ่งที่ตอบรับกับอาชีพช่วงสถานการณ์โควิด – 19  อยากให้คนที่ตกงาน ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรดีนั้น ให้ลองมาเลี้ยงด้วงสาคูกัน  ตอนนี้มีการส่งออกต่างประเทศไปที่จีน และอีกหลายประเทศที่ต้องการโปรตีนของด้วง   โดยนำไปตรวจสอบแล้วที่แล็ปอยู่ที่ 28 โปรตีน  เป็นด้วงสด แต่หากเป็นด้วงทอดอยู่ที่ 27 โปรตีน  ส่งขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ   และชาวบ้านทั่วไปนำไปทอดขาย                ขั้นตอนการเลี้ยงจะใช้สาคูเป็นชุดทดลองใช้ประมาณ 4 กก.  อาหารเลี้ยงสุกร 3 ขีด จุลินทรีย์ 1 ช้อนโต๊ะ  กากน้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ คลุกเคล้าผสมให้เข้ากัน  น้ำเปล่าประมาณ 4.7 กก. ต่อกะละมัง ใช้กาบมะพร้าวปิดส่วนหน้าด้านบน  ปล่อยพ่อแม่พันธุ์ 4 หรือ 5  คู่ ทิ้งไว้ 20 วัน ลูกด้วงไม่ต่ำกว่า 270 - 350 ตัว ต่อ 1 กะละมัง  โดย 1 กะละมังจะได้น้ำหนักประมาณ 8 ขีดถึง 1.3 กก.  ลงทุนไม่เกิน 90 บาท ต่อกะละมัง  ขายปลีก กก.ละ  250 บาท ขายส่ง 10 กก.ขึ้นไป กก.ละ 200 บาท หากส่งเข้าบริษัท กก.ละ 180 บาท  ทางบริษัทรับไม่อั้น             ส่วนเรื่องการใช้เปลือกทุเรียนเป็นแนวคิดทราบมาว่าทางประเทศจีนใช้ทั้งลูกทุเรียนเลี้ยงด้วงสาคู โดยเห็นตามตลาดนัดได้นำเปลือกทุเรียนนำไปทิ้ง จึงนำกลับมา ใช้ประโยชน์ด้วยการเอามาเลี้ยงด้วงสาคู  เริ่มเพาะพันธุ์ให้เป็นตัวก่อนแล้วจึงเริ่มเลี้ยงด้วยเปลือกทุเรียน  ช่วยเรื่องการลดต้นทุนได้มาก ซึ่งไม่ใช่ราคาต้นทุนที่กะละมัง 90 บาท แล้ว แต่จะเหลือต้นทุนที่กะละมัง 50 - 60  บาท  จากที่เราจะซื้ออาหารมาเป็นส่วนผสมการเลี้ยง แต่จะใช้เปลือกทุเรียนมาเป็นส่วนผสมเลี้ยงดีกว่านำไปทิ้งเสียประโยชน์  รสชาติของด้วงสาคูหากเทียบกับหนอนต่อ ด้วงสาคูจะมีรสชาติหวาน หอม  มันได้ดีมาก เพราะว่าอย่างคนไม่เคยกินด้วยสาคูแล้วลองมาชิมดูติดใจทุกคน  การเลี้ยงใช้เวลาประมาณ 35 - 40 วัน ช่วงเตรียมจับขายให้ล้างท้องด้วยเกลือ  ใบเตย ผลไม้ทุกชนิดที่ด้วงสาคูกินได้  ทิ้งไว้ 5 - 6 ชม.แล้วจึงนำมาทอดได้      ส่วนคนที่สนใจอยากเลี้ยงจะมีชุดทดลองให้ไปเลี้ยงสัก 1 กะละมัง ถ้าชอบหรือสนใจสามารถมาซื้อไปเลี้ยงอีกได้  อยากช่วยเหลือช่วงสถานการณ์โควิดที่หลายคนไม่ค่อยมีเงิน จึงอยากช่วยลดต้นทุนให้น้อยที่สุด  1 ชุดทดลองราคา 340 บาทพร้อมกะละมัง และฝาปิด  มีสาคู จุนลินทรีย์  กากน้ำตาล อาหารหมู มีแม่พันธุ์ 5 คู่ต่อ 1 กะละมัง  แต่หากจะเลี้ยงขาย มีพ่อแม่พันธุ์ ราคาตัวละ 6 บาท   เนื่องจากจะต้องเลี้ยง ไปในระยะ จากเดิมที่เคยเลี้ยงไว้ 40 วัน เพิ่มเลี้ยงไปอีก 15 วัน ก็จะเป็นตัวโตเข้าไปม้วยทำรังอาศัยอยู่ในใยมะพร้าว  โดยตัวด้วงจะสร้างรังจากกาบใยมะพร้าวลักษณะเป็นม้วนห่อตัวเอง หากเราไม่ขายก็สามารถเลี้ยงต่อไปเป็นพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ได้อีก            ด้วงสาคูจึงถือได้ว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจของกลุ่มชาวบ้านใน อ.บางแพ ที่หันมาสนใจทดลองเลี้ยงส่งออกขายตามตลาดทั่วไป เป็นสัตว์ที่มีโปรตีนสูง เมื่อนำทอดใส่ในกระทะจะมีลักษณะสีเหลืองอ่อน ลูกค้าหรือผู้ที่ชื่นชอบแมลงทอดกรอบก็บอกได้เป็นเสียงเดียวกันกันว่ารสชาติมันดี ไม่แพ้กับแมลงทั่วไปที่เคยทอดขาย ถือเป็นอีกตัวอย่างอาชีพที่ดีที่ได้ทำมาหากินสร้างรายได้ สร้างอาชีพในยุคปัจจุบัน สร้างความเข้มแข็งในกลุ่มจนประสบความสำเร็จ