"เพื่อไทย" อัดรัฐจัด "งบฯ65" ผิดทิศผิดทาง ผิดที่ผิดเวลา เหตุตัดงบโควิดออก ละทิ้งประชาชน แนะกลับไปทำใหม่ ถ้า"ประยุทธ์" ทำไม่ได้ก็ลาออก วันที่ 28 พ.ค. 64 พรรคเพื่อไทยจัดเสวนา ในหัวข้อ“งบ 65 ผิดทิศผิดทาง ผิดที่ผิดเวลา” โดยผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจร่วมวิพากษ์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 2565 ได้แก่ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการ และผู้อำนวยการศูนย์นโยบาย นายจักรพงษ์ แสงมณี นายทะเบียน และทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย นายพิชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลพลเอกประยุทธ์มีพฤติกรรมการบริหารประเทศด้วยการ “ถูกด่า” วันนี้จึงขอทำหน้าที่ตั้งข้อสังเกต วิจารณ์การตั้งงบประมาณปี 65 และ พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ซึ่งมีปัญหา 5 ข้อ คือ 1.ล้มเหลว รัฐบาลบริหารมาแล้ว 7 ปี แต่เศรษฐกิจไม่ขยายตัว ทำให้การจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า จึงต้องตัดลดงบประมาณปี 65 และออก พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทเพิ่มเติม นอกจากจะสร้างหนี้ให้กับประเทศแล้ว ยังสวนทางกับการเร่งฟื้นฟูพัฒนาประเทศอีกด้วย 2.เสื่อมถอย รัฐบาลเน้นกู้มากกว่าลงทุน และการกู้เกือบทั้งหมดก็เป็นการกู้มาใช้ ส่อเป็นงูกินหาง ทำเศรษฐกิจประเทศล้มครืน 3.หนี้ล้น รัฐบาลหารายได้ไม่เป็น และ “ดีแต่กู้” ปัจจุบันหนี้สาธารณะประเทศพุ่งเกิน 9 ล้านล้านบาท และกำลังจะทะลุเพดานวินัยการเงินการคลังที่ 60% 4. ใช้เงินไม่มีประสิทธิภาพ ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลใช้งบไปแล้ว 20.8 ล้านบาท จีดีพีโตเฉลี่ยเพียงปีละ 1% แต่หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงถึง 92% จากตัวอย่างการใช้เงิน 1 ล้านล้านที่ผ่านมา ไตรมาสแรกยังติดลบ 2.6% ซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างมาก 5. แยกแยะจัดลำดับความสำคัญไม่ได้ ไม่ว่าจะเรื่องการจัดหาวัคซีน หรือการจัดงบประมาณ ส่วนที่ต้องเพิ่ม เช่น การศึกษา แรงงาน สาธารณสุข กลับปรับลด หากรัฐบาลไม่มีการบริหารจัดการและวางแผนที่ดี เศรษฐกิจไทยจะไม่สามารถฟื้นได้ และจะยิ่งทำให้ประชาชนลำบากอย่างยาวนาน นายไชยา กล่าวว่า รัฐบาลไม่สามารถจัดลำดับความสำคัญของการใช้งบประมาณในสถานการณ์โควิดได้ ไม่รู้ว่าหากยังไม่สามารถระงับการระบาดของโควิด จะไม่มีวันแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ เห็นได้จาก การใช้จ่ายใน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ โดยวานนี้ (27 พ.ค.64) รัฐบาลเสนอให้สภาพิจารณาพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 ซึ่งเอื้อแต่ผู้ประกอบการรายเดิมที่มีทุน 400-500 ล้านบาท แต่ผู้ประกอบการรายเล็ก เอสเอ็มอี หรือพ่อค้าแม่ค้ารายเล็กในหลายพื้นที่กลับเข้าไม่ถึง ทั้งที่ควรเอาเงินงบประมาณส่วนนี้ไปตั้งกองทุน คล้ายกองทุนหมู่บ้าน เพื่อให้พ่อค้ารายเล็กที่ไม่สามารถพึ่งพาเงินกู้ผ่านสถาบันการเงิน สามารถกู้เงินจำนวนไม่มากไปพยุงกิจการเล็กๆโดยให้ชุมชนในหมู่บ้านกำกับดูแลและตรวจสอบได้ นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ขอตั้งฉายางบประมาณปี 65 เป็นฉบับ “5 ผิด” ผิดกฎ ผิดจำนวน ผิดที่ ผิดเวลา ผิดคนใช้ ดังนี้ 1.ผิดกฏวินัยทางการเงินการคลัง ใน 2 มิติ โดยมิติแรก งบลงทุนน้อยกว่างบขาดดุล ขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 20 (1) ทันที แม้กระทรวงการคลังจะนำเอารายได้นอกงบประมาณเข้ามาโปะความล้มเหลวของการจัดงบประมาณ เช่น ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ หรือการลงทุนรัฐร่วมเอกชน (PPP) แต่ถือว่าเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง มิติที่สอง คือ หนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ทะลุเกิน 60% แล้ว จาก พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ความเสียหายจากผลกระทบการระบาดของโควิด-19 เดือนละ 1 แสนล้านบาท รวมการขาดดุลงบประมาณปี 65 อีก 7 แสนล้านบาท ซึ่งขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และกรอบของวินัยการเงินการคลังแล้ว 2.ผิดจำนวน : การตั้งงบประมาณปี 65 ที่ 3.11 ล้านล้านบาท ลดลง 5.6% ทั้งที่เศรษฐกิจอยู่ภาวะชะลอตัว จัดเก็บภาษีไม่ได้และยังมีหนี้สูง หากเปรียบเหมือนคนเรากำลังตกอยู่ก้นเหว ขาดน้ำขาดอาหาร ไปต่อไม่ได้ 3.ผิดที่ : โดยรัฐบาลตัดงบประมาณส่วนที่ไม่ควรตัด เพราะตัดลดรายจ่ายด้านสวัสดิการและสังคมสงเคราะห์ในภาวะที่พี่น้องประชาชน “ขาดตาข่ายทางสังคม” ทั้งตัดสังคมสงเคราะห์ งบด้านการศึกษาระดับประถมวัยและมัธยมศึกษา ตัดงดส่วนของเอสเอ็มอี โดยเฉพาะงบด้านแรงงานที่ตัดลดลงถึง 30% สวนทางกับการตกงานมากที่สุดในรอบ 12 ปี 4.ผิดเวลา : กระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานที่ยังไม่ใช่เวลาในการใช้งบประมาณ แต่กลับได้รับการจัดงบ แม้จำนวนลดลงแต่เป็นแค่ภาพลวงตา เพราะสัดส่วนต่องบประมาณของกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้นจาก 6.5% เป็น 6.6% และเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณติด 1 ใน 5 ที่ได้รับงบมากที่สุด 5.ผิดที่คนใช้ : พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ใช้จ่ายงบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในการพิจารณางบประมาณของสภาจะต้องเกิดการถกเถียงอย่างรุนแรง เพื่อให้เห็นจุดอ่อนมากที่สุดและต้องแก้ไขโดยเร็วที่สุด นายจักรพงษ์ กล่าวว่า การจัดสรรงบประมาณปี 65 ประมาณการณ์จัดเก็บรายได้ ที่ส่งผลต่อการคาดการณ์จีดีพีผิดพลาด ซึ่งรวมเป็นความผิดพลาด 3 ด้านได้แก่ ความผิดที่ 1 คาดการณ์จีดีพีผิดพลาดทำให้จัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า : โดยรัฐบาลคาดว่า จีดีพีปี 64 จะขยายตัว 4.5% และคาดว่าปี 65 จะโตอีก 4.5% แต่ครึ่งปี 64 จีดีพีติดลบ เมื่อฐานผิดตอนแรก ทำให้การจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า โดยใน 6 เดือนแรกของปีงบ 64 รัฐจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการแล้ว 1.22 แสนล้าน และคาดว่าสิ้นปีงบประมาณจะจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้าถึง 2 แสนล้านบาท ความผิดที่ 2 : เมื่อจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้าก็ต้องกู้ขาดดุล ความผิดที่ 3 : ผิดที่พลเอกประยุทธ์เป็นผู้จัดทำงบประมาณฉบับนี้ นายจักรพงษ์ กล่าวว่า เมื่อครั้งรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี จีดีพีในปี 2555 โต 6% ปี 56 โต 5% แต่เพียงแค่เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีคนเดียวเป็นพลเอกประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. ตั้งแต่ปี 2557 จนถึง 2561 ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 จีดีพีไทยเติบโตเฉลี่ยเพียง 2.6% สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดช่วง 5 ปีที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์บริหารประเทศ กู้มากกว่าหารายได้ สุดท้ายเมื่อเจอกับวิกฤตโควิด-19 เหมือนมาแก้ผ้าพลเอกประยุทธ์ทันที เผยให้คนไทยทั้งประเทศรู้ว่าเศรษฐกิจไทยเปราะบางแค่ไหน การที่พลเอกประยุทธ์เลือกจ่ายเงินเยียวยาแบบไม่มียุทธศาสตร์ 8 แสนล้านบาท ใน พ.ร.ก.กู้ 1 ล้านล้านบาท เป็นตัวชี้วัดได้เป็นอย่างดีว่า การแจกจ่ายเงินไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะจีดีพีไทยในปี 63 ติดลบ 6% นายจักรพงษ์ เสนอให้พลเอกประยุทธ์ทบทวนการจัดสรรงบประมาณปี 65 โดยปรับคาดการณ์จีดีพีใหม่ให้สอดคล้องกับการจัดเก็บรายได้ในปัจจุบัน หากทำไม่ได้พลเอกประยุทธ์ควรลาออกเพื่อให้คนอื่นที่มีความสามารถมาทำแทน “เปรียบประเทศไทยเหมือนคน ถ้าร่างกายแข็งแรงยังพอสู้โควิด-19 ได้ แต่เมื่อมีโรคประจำตัว เมื่อเจอโควิด อาการหนัก เข้าไอซียูทันที สิ่งที่โควิดเผยให้ประชาชนได้เห็นว่าพลเอกประยุทธ์ ไม่มีวิสัยทัศน์ ตีโจทย์ไม่ออก โควิดระบาดในปี 63 รายได้ท่องเที่ยวหายไปหลายล้านบาท ยังไม่มีวิธีแก้ไข คิดเพียงว่าใส่เงินเข้าไปแบบไม่มียุทธศาสตร์ สร้างผลกระทบเชิงลบและจะขยายตัวไปทุกส่วนของภาคธุรกิจแล้ว” นายจักรพงษ์ กล่าว