เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ #กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล บันทึกภาพ #ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ในช่วงคลื่นรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ได้เป็นครั้งแรก ด้วยเทคนิคการบังแสงดาวฤกษ์ดวงแม่เอาไว้ เผยให้เห็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะขนาดใกล้เคียงดาวพฤหัสบดีที่กำลังโคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ดวงแม่ดังภาพ PDS 70 เป็นดาวฤกษ์ดวงแม่สีส้มที่อยู่ใจกลางระบบนี้ (ภายในวงกลมทึบกลางภาพ) มีอายุประมาณ 5.4 ล้านปี อยู่ห่างจากโลก 370 ปีแสง บริเวณกลุ่มดาวคนครึ่งม้า (Centaurus) ภาพถ่ายที่ได้จากกล้องฮับเบิลแสดงให้เห็นกลุ่มฝุ่นที่อยู่ล้อมรอบดาว PDS 70 ซึ่งมีดาวเคราะห์กำลังก่อตัวอยู่ ได้แก่ ดาวเคราะห์ PDS 70b อยู่ห่างจากดาวฤกษ์ดวงแม่ 21 AU (3,150 ล้านกิโลเมตร) เทียบได้กับระยะห่างจากดวงอาทิตย์ถึงดาวยูเรนัส และดาวเคราะห์ PDS 70c ที่อยู่ห่างจากดาวฤกษ์ดวงแม่ 34.5 AU (5,175 ล้านกิโลเมตร) อยู่ส่วนนอกของกลุ่มฝุ่นนี้ เทียบได้กับระยะห่างระหว่างจากดวงอาทิตย์ถึงดาวเนปจูน โดยปกติแล้วดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ภายในระบบเดียวกัน จะก่อตัวขึ้นมาพร้อมๆ กัน หมายความว่า ทั้งดาวเคราะห์ PDS 70b และ PDS 70c ก็น่าจะมีอายุประมาณ 5.4 ล้านปี ใกล้เคียงกับอายุของดาวฤกษ์ดวงแม่ หากเปรียบเทียบกับโลกที่มีอายุประมาณ 4,500 ล้านปี ถือได้ว่าระบบดาวเคราะห์นี้มีอายุที่น้อยมาก Dr. Yifan Zhou นักดาราศาสตร์ผู้นำในงานวิจัยครั้งนี้ กล่าวว่า ภาพนี้เป็นภาพถ่ายการก่อตัวของดาวเคราะห์ในช่วงที่มีอายุน้อยที่สุดที่เคยค้นพบโดยกล้องฮับเบิล แม้จะมีอายุที่น้อยกว่าระบบสุริยะของเรา แต่ดาวเคราะห์ PDS 70b กลับมีมวลมากกว่าดาวพฤหัสบดีถึง 5 เท่า หมายความว่า PDS 70b ใช้เวลาเพียง 5.4 ล้านปี ในการก่อตัวจากฝุ่นแก๊สโดยรอบจนกลายเป็นดาวเคราะห์ที่มีมวลมากขนาดนี้ได้ แต่อย่างไรก็ดี ผลการวิเคราะห์ในครั้งนี้พบว่า ในอีก 1 ล้านปีข้างหน้า PDS 70b จะมีมวลเพิ่มขึ้นเพียง 1% ของมวลดาวพฤหัสบดีเท่านั้น บ่งชี้ว่าขณะนี้ดาวเคราะห์ใกล้จะสิ้นสุดกระบวนการก่อตัวแล้ว แต่อัตราการดึงดูดมวลสารจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงนั้นจำเป็นจะต้องใช้เวลาในการเก็บข้อมูลมากขึ้นกว่านี้ การสังเกตการณ์ในครั้งนี้นับว่าเป็นอีกหนึ่งความสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงวิวัฒนาการของระบบดาวเคราะห์อายุน้อย ที่กำลังจะสิ้นสุดกระบวนการก่อตัวดาวเคราะห์ ถึงแม้ว่าข้อมูลภาพที่ได้อาจเป็นเพียงภาพรวมในช่วงหนึ่งของดาวเคราะห์เท่านั้น นักดาราศาสตร์จำเป็นต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมอีกมากเพื่อช่วยตรวจสอบว่าดาวเคราะห์ดวงนี้มีอัตราการเพิ่มของมวลเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร ความพยายามในการเฝ้าติดตามของนักดาราศาสตร์อาจทำให้เราได้ข้อมูลใหม่ ๆ ในอนาคตอันใกล้ซึ่งช่วยให้เราทราบว่าโลก ดาวเคราะห์ดวงอื่น ระบบสุริยะของเราถือกำเนิดขึ้นเมื่อใดกันแน่ และดาวเคราะห์ใช้เวลานานแค่ไหนในการก่อตัวขึ้นได้ ตลอดจนความเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาก่อนวิวัฒนาการของดาวเคราะห์ได้ เรียบเรียง : บุญญฤทธิ์ ชุนหกิจ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร. อ้างอิง : [1] https://iopscience.iop.org/article/10.3847/1538-3881/abeb7a [2] http://www.sci-news.com/.../pds-70b-ultraviolet-image... [3] https://esahubble.org/about/general/instruments/wfc3/"