บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) ประเทศไทยมีการใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ “เซลล์แสงอาทิตย์” หรือ “โซลาร์เซลล์” (Solar Cell) จากพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้ามานานแล้ว รูปธรรมเริ่มปี 2519 โดยหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุขและมูลนิธิแพทย์อาสาฯ ปี 2526 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ. EGAT)) เริ่มส่งเสริมและติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้า ในการสำรวจเทคโนโลยี 10 อันดับในรอบศตวรรษที่ 20 หนึ่งในนวัตกรรมที่ติดอันดับก็คือ “พลังงานจากแสงอาทิตย์” ถือเป็นพลังงานทดแทนทางเลือกที่สำคัญ ที่เมืองกวางเจา มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีนมีอาคาร “สร้างพลังงาน” ที่ใช้ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์พลังงานลม ชื่ออาคาร “Pearl River Tower” เป็นอาคารทรงแบน สูง 303 เมตร 71 ชั้น สร้างปี 2549-2552 เป็นยุคดิจิทัล (Fourth Wave) หลายสิบปีก่อนมีความพยายามถ่ายทอดวิชาความรู้เกี่ยวกับโซลาร์เซลล์ เช่น การอบรมพลังงานแสงอาทิตย์เน้นการออกแบบติดตั้ง ทั้งโดยบริษัทเอกชนเองหรือภาครัฐ เอ็นจีโอ หรือคนจิตอาสาต่างๆ ที่ไม่เน้นเทคโนโลยีช่าง เพียงเพื่อชาวบ้านทั่วไปเข้าอบรมการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Panel) เพื่อแก้ปัญหาเรื่องไม่มีไฟฟ้าใช้ ซึ่งวิธีการนี้ได้ทำที่หมู่บ้านอินเดียที่ห่างไกล สอนชาวบ้านผู้หญิงอินเดียก็ได้ ระยะแรกผู้คนหวังเรื่องโซลาร์เซลล์กันมาก เป็นสิ่งประดิษฐ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างหนึ่งที่จะมาเป็นพลังงานทดแทนได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล หากชาวบ้านทำกันเยอะๆ เพียงคนละ 1 วัตต์ (watt) สำหรับประเทศไทยก็ได้เป็นล้านๆ วัตต์ ใครทำรีสอร์ทแบบอนุรักษ์ก็ช่วยลดโลกร้อน เช่น ทำไฟโซลาร์เซลล์รั้วเพียง 1 ดวง ใช้แผง 40 วัตต์ ราคา 4000 บาท แบตเตอรี่ 1 ใบ จะมีไฟฟ้าใช้เกือบทั้งคืน เป็นเวลา 20 ปีฟรี ใน 1 ปี จะลดไฟฟ้าได้ถึง 12000 วัตต์ เป็นต้น การบุกเบิกโครงการโซลาร์เซลล์ในท้องที่ห่างไกลทุรกันดาร ปี 2523 กรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ได้จัดตั้งศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.) หรือ การจัดการศึกษาสำหรับชุมชนบนพื้นที่สูง หรือ “แบบอาศรม” ในพื้นที่ชุมชนเขตทุรกันดารป่าภูเขาสูง เป็นแนวคิดใหม่ในการจัดการศึกษาโดยใช้ชุมชนเป็นพื้นฐาน โดยส่งครูอาสาสมัคร กศน. หรือ ครูดอย หรือครู ศศช. 1-2 คนเข้าไปสอน เฉลี่ยเดือนละ 20 วัน ปี 2539 เปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา แม่ฟ้าหลวง” ข้อมูลปี 2537 พบว่าจังหวัดเชียงใหม่มี ศศช.ถึง 773 แห่ง ข้อมูลปี 2563 โครงการ Solar Cell ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนไทยภูเขา โดย มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการนำร่องการบริหารระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับชุมชนชายขอบ (ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา (กศน.), รร.ตชด และ สพฐ.) ใน "โครงการนำร่องการบริหารระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในสถานศึกษาและศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาในพื้นที่โครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระยะที่ 1" (2551-2554) จำนวน 36 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตาก และแม่ฮ่องสอน ด้วยระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบ Stand Alone (Off grid) กำลังไฟฟ้าสูงสุด 480 วัตต์ (Wp) สำหรับการใช้งานอุปกรณ์ในแต่ละวันเฉลี่ย 1.5 หน่วย (กิโลวัตต์/ชั่วโมง : kW/hr.) สำหรับโทรทัศน์การสอนทางไกลผ่านดาวเทียม และเครื่องใช้ไฟฟ้าจำเป็นพื้นฐาน เช่น หลอดไฟส่องสว่าง เครื่องเล่น VCD เครื่องขยายเสียง วิทยุสื่อสาร โดยเฉพาะเพื่อการสอนหนังสือในช่วงเวลากลางคืน (ช่วงหัวค่ำ) เป็นต้น สำหรับระยะที่ 3 (2559-2562) ภายใต้ “โครงการไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับชุมชนชายขอบ (ICT for Marginalized Area)” วัตถุประสงค์เพื่อลดปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีในพื้นที่ชนบทให้สามารถเข้าถึงข้อมูลและสารสนเทศได้อย่างเท่าเทียมกัน จำนวน 20 แห่ง การส่งเสริมโซลาร์เซลล์จากภาครัฐ ปี 2552 อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์เป็นช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ภาครัฐโดย กฟผ. ไม่ค่อยสนับสนุน solar cell ข้อมูลสิ้นปี 2561 ประเทศไทยมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ไปแล้วทั้งสิ้น 3,449 MW ประกอบด้วย solar farm, solar PV rooftop และโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ซึ่งกระทรวงพลังงานได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ติดตั้งไปแล้ว 3,250 MW จากเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 6,000 MW ตามแผน PDP 2015 ทำให้ยังคงเหลืออีก 2,750 MW ต่อมาได้จัดทำแผน PDP 2018 โดยมีเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นอีก 12,725 MW ในอีก 18 ปี ข้างหน้า โดยแบ่งแยกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ โซลาร์ภาคประชาชน 10,000 MW และจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในโครงการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ 2,725 MW และล่าสุดเป็นที่ฮือฮาแปลกใจมากสำหรับผู้เกี่ยวข้องคือ อภิมหาโปรเจ็กท์โซล่าฟาร์ม 30,000 MW มูลค่ากว่า 600,000 ล้านบาท โดยกองทัพบกเป็นหน่วยงานประสานโครงการ เป็นการผลิตพลังงานไฟฟ้าจำนวนมากที่เกินกว่าความต้องการมาก ยังขาดนโยบายแผนงานโครงการภาครัฐที่เป็นรูปธรรม เดิมกระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน มีโครงการหลักได้แก่ (1) โครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ในเขตพื้นที่ชนบท ปี 2546 – 2558 รวม 100 แห่ง ระบบละ 2 kW (2) โครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง ปี 2559 รวม 846 แห่ง ระบบละ 2.5 kW ใน 56 จังหวัด คาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในปี 2573 จากปัจจุบันอยู่ที่ไม่เกิน 30,000 MW จะเพิ่มขึ้นเป็น 70,000 MW ที่ความสามารถผลิตไฟฟ้า 44,443 MW รัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบายเรื่องการใช้พลังงานทดแทน โดยเลือกพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้า การขายไฟคืนให้การไฟฟ้าของโซลาร์เซลล์หลังคาบ้าน ด้วยความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่รัฐไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากมีการต่อต้านจากชุมชนในพื้นที่ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าขยะ รัฐบาลจึงส่งเสริมให้มีโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา โดยจัดทำ “โครงการโซลาร์รูฟเสรี” ตามมติสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตั้งแต่ต้นปี 2558 เดิม กฟภ.(2553) มีโครงการ “ไฟฟ้าเอื้ออาทร” หรือโครงการเร่งรัดขยายบริการไฟฟ้าโดยระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แก่หมู่บ้านในพื้นที่ห่างไกล 300,000 หลังคาเรือน งบประมาณรวม 3,500 ล้านบาท แต่มีจุดอ่อน คือ ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจและหวงแหน กล่าวคือ ภาครัฐและ กฟผ.ไม่ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้งานโซลาร์เซลล์ การบริหารจัดการจึงไม่มีประสิทธิภาพไม่ก่อให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน โครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน” หรือการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บนหลังคาที่อยู่อาศัย “Solar Rooftop” ภาคประชาชน เป็นระบบผลิตไฟฟ้า “แบบออนกริด” (on Grid) ขายไฟเชิงพาณิชย์ให้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในพื้นที่ กทม. นนทบุรี และสมุทรปราการ ซึ่ง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับยื่นคำร้องใช้ โซลาร์เซลล์พร้อมรับซื้อไฟฟ้าหน่วยละ 1.68 บาท ตั้งแต่ พฤษภาคม 2562 ปี 2562 นโยบายการส่งเสริมโซลาร์เซลล์ภาคประชาชน โดย กกพ. กระทรวงพลังงาน ได้ออกเกณฑ์รับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์เซลล์บนหลังคาที่อยู่อาศัย (Solar Rooftop) เป็นโครงการต่อเนื่องจากมติ สปช.ใช้เวลาศึกษา 4 ปี สรุปคือ (1) มีขนาดไม่เกิน 10 kW (2) รับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เกินจากการใช้เองในราคาไม่เกินหน่วยละ 1.68 บาท โดยมีระยะเวลารับซื้อ 10 ปี (3) ยอดรวมที่ติดตั้งทั่วประเทศไม่เกิน 100 MW ต่อปี เป็นเวลา 10 ปี (4) ต้องเดินไฟฟ้าภายในปี 2562 และ (5) ใครยื่นก่อนได้ก่อน นอกจากนี้ องค์กรกรีนพีซได้รณรงค์ร่วมผลักดันรัฐบาลนำงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อลงทุนติดตั้งโซล่ารูฟท็อปให้ครัวเรือน 1 ล้านหลัง โรงพยาบาล 8,170 แห่ง และโรงเรียน 31,021 แห่งทั่วประเทศภายในเวลา 3 ปี (พ.ศ.2564-2566) สำหรับภาคเกษตรกรรมเป็นเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกของเกษตรกรไทย ด้วยต้นทุนที่เริ่มลดต่ำลงรวมถึงมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น นวัตกรรมเครื่องกำจัดมอดในข้าว เครื่องอบข้าวลดความชื้น หรือนวัตกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ การประยุกต์เข้ากับเครื่องสูบน้ำ โดยเฉพาะเครื่องสูบน้ำบาดาล นอกเหนือจากใช้งานในไร่นา ไฟโซลาร์เซลล์นี้ยังใช้งานในเพิง กระต๊อบ หรือในบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกได้ จุดเด่นจุดด้อยสำคัญของโซลาร์เซลล์ พลังงานแสงอาทิตย์มีจุดเด่นหลายประการ เป็นพลังงานจากธรรมชาติ ที่สะอาด บริสุทธิ์ ไม่ก่อปฏิกิริยาให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ และไม่มีวันหมดไปจากโลก สามารถนำไปใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ทุกพื้นที่บนโลก และได้พลังงานไฟฟ้ามาใช้โดยตรง สำหรับชุมชนพื้นที่ห่างไกลไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ก็ผลิตไฟฟ้าใช้เองได้จากแผง “โซลาร์เซลล์” ที่ติดตั้งบนหลังคาบ้าน หรือ Solar Rooftop ระบบออฟกริด (Off Grid) หรือ แบบอิสระ (Stand Alone) ด้วยกระแสไฟฟ้าโซลาร์เซลล์มีแรงดันต่ำกว่าการไฟฟ้า เช่น 12 โวลต์ 24 โวลต์ ทำให้ปลอดภัยจากไฟดูด ไฟไหม้ และส่วนใหญ่จะเป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งง่าย และง่ายต่อการดูแลรักษาด้วยตัวเองในระบบ Plug & Play (เสียบปลั๊กแล้วใช้งานได้เลย) นอกจากนี้ เทคโนโลยีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่มีหลากหลายไม่หยุดยั้ง เช่น แผงโซลาร์เซลล์แบบ Half Cell Modules ที่ผลิตไฟฟ้าได้แม้แดดน้อย หรือ การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV : Electric Vehicle) เป็นต้น จุดอ่อนในระบบไฟฟ้าของประเทศไทย คือ การไฟฟ้าภาครัฐไทยใช้ไฟฟ้าที่แรงดัน 220 โวลท์ (V) ความถี่ 50 เฮิรตซ์ (Hz) โดยระบบไฟฟ้าทั้งประเทศจะเชื่อมเข้าด้วยกันด้วย “ความถี่” เป็นหลัก โรงผลิตไฟฟ้าทั่วประเทศก็จะผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศตลอดเวลา (ไม่สามารถผลิตเอาไปเก็บไว้ก่อนได้) เมื่อใดที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น มากกว่ากำลังผลิต ความถี่ก็จะตกลงต่ำกว่า 50 Hz ทำให้ต้องเพิ่มกำลังผลิต และเมื่อความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง หรือผลิตได้มากกว่าที่ใช้มากความถี่ก็จะพุ่งสูงขึ้นกว่า 50Hz ทำให้ต้องลดกำลังผลิตลงมา โดยศูนย์ควบคุมกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ (NCC) เป็นผู้คอยควบคุมกำลังการผลิตให้ความถี่อยู่ระหว่าง 49.5 - 50.5 Hz เพราะหากความถี่ต่ำหรือสูงกว่านี้จะทำให้เกิดปัญหากับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า หรือ เครื่องใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้งาน ฉะนั้น การเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์จึงใช้ยากในระบบการไฟฟ้ากระแสหลักที่ต้องมีการควบคุม “ความถี่” ให้คงที่ แผงโซลาร์เพื่อโครงการผลิตพลังงาน (solar farm หรือ solar plant) ที่ติดตั้งในตึกและอาคารสำนักงาน หรือที่พักอาศัย แม้ว่าภาครัฐจะให้การสนับสนุนมากขึ้น แต่เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการผลิตและติดตั้งแผงโซลาร์ยังอยู่ในระดับที่สูง จึงทำให้การใช้งานในภาคครัวเรือน อุตสาหกรรมและในภาคธุรกิจไม่เป็นไปในวงกว้าง แต่ในขณะเดียวกันโซลาร์เซลล์เป็นแหล่งสร้าง “ขยะพลังงาน” จำนวนมหาศาลที่ต้องมีภาระต้นทุนการบริหารจัดการมากเช่นกัน เช่น เรื่องการซ่อมแซมแผงฯ โรงงานรีไซเคิล และการกำจัดซากแผงโซลาร์เซลล์ ที่จะติดตามมาในอนาคตอันใกล้ เพราะ แผงโซลาร์เซลล์มีอายุการใช้งานนานถึง 20-30 ปี และต้องใช้เวลาคืนทุนนานถึง 6-16 ปี ขยะจากโซลาร์เซลล์ เป็นซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือขยะพิษอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม ข้อมูลปี 2560 มีการคาดการณ์ขยะแผงโซลาร์เซลล์พลังงานมากมายในตอนนี้จะกลายเป็นขยะในวันหน้า เพราะการขยายตัวจากการเปิดรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์เซลล์จากภาครัฐ (โซลาร์รูฟท็อปเสรี) ด้วย รวมทั้งขยะ “แบตเตอรี่” หรือ energy storage ที่มีปัญหาต้องจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ ตามแผนส่งเสริมพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP : Alternative Energy Development Plan 2558-2579) จะมีแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งรวม 6,000 MW รวมซากขยะสะสมใน 20 ปีข้างหน้าถึง 7.5 แสนตัน (ประมาณ 36 ล้านแผง) โดยปัจจุบันมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์แล้ว 2,600 MW (ประมาณ 15 ล้านแผง) และจะกลายเป็นขยะ 5.1 แสนตัน ซึ่งปัจจุบันใช้วิธี “ฝังกลบ” ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดเท่านั้น แม้ผู้ผลิตจะระบุว่าแผงโซลาร์จะมีอายุใช้งานที่ 20 ปี แต่ในระหว่างกระบวนการผลิตหรืออื่นๆ จะมีแผงที่ชำรุด หรือเสื่อมคุณภาพเกิดขึ้นในระบบต่อเนื่อง เพราะแผงโซลาร์เซลล์ในตลาดมีหลายเกรดและคุณภาพต่างกัน ฉะนั้นปริมาณขยะโซลาร์จะ “มากกว่า” ที่คาดการณ์ไว้ สำหรับแนวทางจัดการแผงโซล่าที่มีความเป็นไปได้ คือ (1) คัดแยกด้วยมือ (2) รีไซเคิล และ (3) การบดและเข้ากระบวนการสกัดโลหะออกมาใช้ประโยชน์สูงสุด เช่น เงิน, ซิลิคอน, อะลูมินัม, ตะกั่ว, แคดเมียม และอินเดียม ซึ่งนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น เช่น นำไปเป็นส่วนประกอบของจอแอลอีดี (LED) ปัจจุบันแนวทางตาม (2) (3) ยังมีปริมาณน้อยไม่คุ้มทุน นโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) จำนวน 6,000 MW ใน พ.ศ.2579 ทำให้มีการประเมินว่าปริมาณซากแผงโซลาร์เซลล์ สะสมตั้งแต่ พ.ศ.2545-2559 มีจำนวน 388,347 ตัน และคาดว่าปริมาณซากสะสมถึง พ.ศ.2563 จะอยู่ที่ 551,684 ตัน หรือ 18.38 ล้านแผง ที่ต้องกำจัด หากแผงโซลาร์เซลล์หมดอายุการใช้งานจำนวนมากและมีการกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง จะเกิดเป็นขยะพิษที่เราไม่ควรมองข้ามเพราะสารพิษที่อยู่ในซากแผงโซลาร์เซลล์ก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน รวมถึงก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นปัญหาโลกร้อน เนื่องจากมีสารคาร์บอนไดออกไซด์และสารไดออกซินที่เกิดจากการเผาที่ไม่ถูกต้อง แนวโน้มการติดตั้งโซลาร์เซลล์ตลาดโลก นับตั้งแต่ปี 2545 แนวโน้มตลาดโลกได้เติบโตอย่างรวดเร็ว การผลิตแผงโซล่าโลกเติบโตเฉลี่ย 48% ต่อปีหรือเพิ่มขึ้น 1 เท่าทุก 2 ปี เพราะนโยบายการสนับสนุนของประเทศ ออสเตรเลีย เยอรมัน สเปน กลุ่มยุโรปอื่น อิสราเอล ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ เป็นต้น การติดตั้งโซลาร์เซลล์ทั่วโลกในปี 2008 อยู่ที่ 5,559 MW เพิ่มขึ้นประมาณ 1.3 เท่าจากปีก่อนหน้า ณ สิ้นปี 2551 การติดตั้งสะสมโลกอยู่ที่ 15,200 MW แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกไทย 20 ปี (AEDP2015) ตั้งเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ไว้ 6,000 MW ข้อมูลปี 2550 ไทยมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์น้อยเพียง 32 MW หรือคิดเป็นร้อยละ 1.8 ของการใช้พลังงานทดแทนเพื่อผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมการผลิตโซลาร์เซลล์ในไทยเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก ไปต่างประเทศในกลุ่มยุโรป สหรัฐฯ ประเทศในแถบเอเชีย อินเดีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น จีน และประเทศในแถบตะวันออกกลาง มูลค่าการส่งออกในปี 2551 สูงถึง 39.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โซลาร์เซลล์ยังเป็นความหวังของสังคมโลก และสังคมไทย แต่นโยบายและการบริหารจัดการต้องมีอย่างครบวงจร เพราะมิเช่นนั้น ขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมหาศาลที่รออยู่จะจัดการแก้ไขอย่างไร