ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล บ้านสวนพลูคือ “สวนสวรรค์” ของพืชพรรณนานา ควรแก่การได้ชมสักครั้งในชีวิต แน่นอนว่าผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการรังสรรค์สวนสวรรค์แห่งนี้ ก็คือท่านเจ้าของบ้าน ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แต่ก็ต้องชมเชยน้ามัยที่เป็นผู้ช่วยที่ “รู้ใจ” โดยสามารถที่จะเข้าใจในความต้องการของท่านเจ้าของบ้าน และถ่ายทอดความเข้าใจนั้นออกมาเป็นผลงานในการดูแลสวนได้อย่างหมดจด โดยที่ผมไม่เคยเห็นท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ต้องปากเปียกปากแฉะ จ้ำจี้จ้ำไช ในการมอบหมายงานต่าง ๆ ให้น้ามัย และบ่อยครั้งที่น้ามัยสามารถทำงานได้ดีกว่าที่สั่ง ทั้งนี้ก็ด้วย “หัวใจ” ที่น้ามัยมีให้กับต้นไม้ดอกไม้ทั้งหลาย เหมือนว่าเป็นเจ้าของอยู่ด้วยส่วนหนึ่ง ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการดูแลต้นไม้ในบ้านสวนพลู ว่าปุ๋ยที่ดีที่สุดก็คือ “เงาของเจ้าของ” พร้อมกับยกบทพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 จากเรื่อง “เงาะป่า” ในตอนที่กล่าวว่า “ดวงบุปผามาลีไม่มีจิต ยังหันหาอาทิตย์ที่แสงฉัน เมื่อยามค่ำน้ำค้างพร่างไพรวัน รับแสงจันทร์อบอุ่นไม่ขุ่นมัว” นั่นก็คือ ต้นไม้ทั้งหลายล้วนมีชีวิตและ “จิตใจ” คือสามารถสื่อสารหรือรับรู้และถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ จากคนที่ดูแลหรือเจ้าของนั้นได้ ต้นไม้ดอกไม้ต่าง ๆ ต้องการเอาใจใส่ดูแล ไม่ต่างอะไรกับคนที่รักกันที่ต้องการความใกล้ชิดและเอาใจใส่กันและกัน นั่นแหละที่ทำให้ต้นไม้ดอกไม้ในบ้านสวนพลู รวมถึงในที่อื่น ๆ ที่อยู่ในการดูแลของท่าน (ตอนนั้นท่านยังไม่ได้ปลูกบ้านที่เชียงใหม่ แต่มีบ้านพักตากอากาศอยู่ที่ดอยขุนตานไว้นานแล้ว ซึ่งก็มีความสวยงามมาก ๆ เช่นกัน) ล้วนแล้วแต่มีความสวยงามเป็นอย่างยิ่ง อีกอย่างหนึ่งคือ “การดูแลอย่างประณีต” เอาใจใส่ทุกรายละเอียด อย่างที่ได้กล่าวถึงการจัดวางผังที่ดินของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ว่า ต้องเริ่มจากการเปิดพื้นที่ให้ต้นไม้ดอกไม้ได้รับแสงแดดอย่างพอเพียง และแดดที่ดีที่สุดก็คือ “แดดเช้า” ที่ส่องแสงจากทิศตะวันออก เพราะเป็นแดดที่ต้นไม้ดอกไม้ต้องการ สำหรับการเจริญเติบโต การบานของดอก และการแพร่ขยายพันธุ์ (เรื่องแดดนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ท่านได้เสนอแลกเปลี่ยนที่ดินของท่านที่ริมแม่น้ำปิง กับ ม.ร.ว.พักตร์พริ้ง ทองใหญ่ อดีตภริยาของท่าน เพราะที่ดินเดิมของท่านอยู่อีกฝั่งของแม่น้ำปิงที่รับแดดตะวันตก ท่านจึงขอแลกเปลี่ยนมาอีกฝั่งหนึ่งที่หันหน้ารับแดดตะวันออก ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน) ต่อมาคือเรื่องของดิน ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า ท่านโชคดีที่ได้มาซื้อที่ดินที่แต่เดิมคนจีนได้ปลูกต้นพลูมานับสิบ ๆ ปี จึงมีปุ๋ยโดยเฉพาะ “ขี้หมู” นั้นอุดมสมบูรณ์ เพราะต้นพลูชอบขี้หมูมาก (เรื่องปุ๋ยจากมูลสัตว์นี้ ผมเคยไปเที่ยวชมศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรแห่งหนึ่งที่จังหวัดสมุทรสงคราม ปราชญ์ชาวบ้านเจ้าของสวนได้บอกเคล็ดลับว่า บำรุงดอกและผลต้องขี้ไก่ บำรุงต้นและใบต้องขี้วัว บำรุงหัวและรากต้องขี้หมู ซึ่งที่บ้านสวนพลูจะมีการใช้ขี้ไก่และขี้วัวอยู่เป็นประจำ ส่วนขี้หมูนั้นไม่เคยเห็นเอามาใส่ อาจจะเป็นเพราะมีอยู่แต่เดิมพอสมควรแล้วนี่เอง อันนี้เป็นการคิดเดาเอาเองของผม แต่ต้นไม้ดอกไม้ทุกอย่างก็สวยงามดีไปทั้งหมด) แต่ที่ถือว่าเป็นความประณีตอย่างที่สุดของการดูแลต้นไม้ดอกไม้ก็คือ “ต้องรู้ถึงนิสัยใจคอของเขา” ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เคยให้สัมภาษณ์ไว้อย่างนั้น ทั้งนี้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า ต้นไม้แต่ละอย่าง “ชอบดิน น้ำ แดด และการดูแล” ที่แตกต่างกัน อย่างเช่น บัวต่าง ๆ ในบ่อและคลองที่บ้านสวนพลู ถ้าเป็นบัวกระด้งใบยักษ์ขนาดเด็กหรือคนตัวเล็ก ๆ ลงไปนอนได้นั้น จะชอบอยู่ใกล้ ๆ ตลิ่ง ส่วนบัวหลวงหรือบัวดอกขาว ๆ ที่บูชาพระจะชอบอยู่ห่างตลิ่ง ส่วนพวกบัวผันบัวเผื่อนจะชอบอยู่ในกระถางที่เอาไปวางไว้ในบ่อที่ขุดไว้เป็นส่วน ๆ ทั้งยังมี “ลินจง” คือบัวจิ๋วดอกขนาดสักนิ้วก้อย สีขาว ๆ ชอบที่อยู่ในโอ่งมังกรที่มีน้ำปริ่ม ๆ ส่วนบัวสายก็ชอบโอ่งมังกรเหมือนกัน แต่ต้องอยู่ในน้ำลึกเพื่อให้สายยืดออกยาว ๆ นั่นเอง นอกจากนี้พวกบัวสายบัวผันบัวเผื่อนรวมถึงลินจง อย่าได้เอาต้นไม้น้ำอื่น ๆ ไปปลูกแซมเลยเชียว เว้นแต่พวกกระจับและสาหร่ายหางกระรอก ที่พอจะอยู่ด้วยกันได้อย่างไม่รบกวนกันและกัน และเสริมกันให้แข็งแรงสวยงาม แต่บัวทุกชนิดที่ว่ามานั้นจะชอบอยู่เหมือนกันอย่างหนึ่งก็คือ แดดต้องจัด และต้องมีการให้ปุ๋ยอยู่เป็นประจำ ซึ่งก็เป็นปุ๋ยเม็ดที่ฝังลงไปในดิน รวมถึงการหมั่นเด็ดใบและดอกที่แห้งเหี่ยวออกไปอย่างสม่ำเสมอ รักษาน้ำให้สะอาด และอย่าลืมที่จะต้องหมั่นหาเวลาไปชื่นชมดอกบัวเหล่านั้นให้สม่ำเสมอเป็นประจำ ที่บ้านสวนพลูนี้มี “ไม้มหัศจรรย์” ที่ผมชื่นชอบเป็นพิเศษอยู่อย่างหนึ่ง นั่นก็คือกล้วยไม้ที่ชื่อว่า “ช้างกระ” ที่ตื่นเต้นกับกล้วยไม้ไทยชนิดนี้เป็นอย่างมาก ก็เพราะเป็นต้นไม้ต้นแรกที่ “เตะตา” ผมเมื่อเดินเข้าบ้านสวนพลูในวันแรก เมื่อตอนปลายปี 2519 เนื่องจากพอเดินเข้ามจากประตูหน้าบ้าน พอผ่านศาลาสุโขทัยหลังใหญ่ซึ่งสร้างไว้รับแขกและประกอบพีธีการงานต่าง ๆ ที่อยู่ทางขวามือติดกับรั้วหน้าบ้านแล้ว ต่อเนื่องกันไปทางด้านขวานี้ก็คือสวนไม้ดัดที่มีบ่อบัวผันบัวเผื่อน ประดับด้วยรูปสลักหินนางอัปสร จากปราสาทเขาพระวิหาร (ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า ท่านปลัดกระทรวงมหาดไทย นายพิศาล มูลศาสตรสาทร เป็นคน “ยกมา” ให้) แล้วจึงจะเป็นหมู่เรือนไทยที่ท่านพักอยู่ ตรงสวนไม้ดัดนี้แหละ ด้านข้างทิศตะวันออกจะก่อเป็นกำแพงด้วยศิลาแลง สูงสัก 2 เมตร กว้างสัก 3 เมตร เป็นที่เกาะเกี่ยวอยู่ของหมู่กล้วยไม้ช้างกระ ที่กำลังออกดอกช่อยาว ๆ เป็นกระจุกดอกลายจุดเล็ก ๆ สีชมพู มองดูเหมือนงาช้างสีขาวที่แตะแต้มด้วยกระสีชมพูไปตลอดทั้งกิ่ง ส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ เมื่อเวลาเดินผ่านเฉียดเข้าไปใกล้ ๆ โดยจะออกปีละ 1 ครั้งตอนต้นฤดูหนาวเท่านั้น ปีต่อ ๆ มาที่ผมเริ่มสนิทกับน้ามัยพอควรแล้ว ผมจึงแอบถามน้ามัยว่า น้ามัยดูแลช้างกระบนกำแพงแลงนี้อย่างไร จึงได้งามนักหนา น้ามัยเล่าให้ฟังว่า ตอนที่สร้างศาลาสุโขทัย มีศิลาแลงเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จึงให้เอามาก่อเป็นกำแพงขึ้นตรงด้านหน้าของสวนไม้ดัด แล้วก็เอาต้นช้างกระกว่า 10 ต้นมาปักและรัดกับกำแพงแลงนี้ไว้ห่างกันสัก 1 ศอก จนเต็มกำแพงตรงด้านบน จากนั้นก็รดนำเช้าเย็น สัก 2 ปีจึงออกดอก มีอยู่ปีหนึ่งมีลูกศิษย์คนหนึ่งมาขอตัดช่อดอก บอกว่าจะเอาไปใส่แจกันให้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไว้ชื่นชมใกล้ ๆ ปรากฏว่าปีต่อมาไม่ออกดอกเลย จากนั้นก็ไม่มีใครกล้าตัดดอกออกจากต้นที่กำแพงแลงนี้อีก ผมจำได้ว่าในปีที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เสียชีวิต ช้างกระพวกนี้ก็ไม่ได้ออกดอกเช่นกัน