ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต [email protected] “เมื่อเรารู้สึกว่าฟ้าเป็นเสมือนฝาชีเหล็กและโลกเป็นดั่งผืนทะเลทรายแห้งแล้ง เมื่อนั้นเราก็ต้องการที่จะหลบหนีไปจากมัน แทนที่จะแผ่ขยายตนเองออกไปเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น” ญาณทัศนะ ชัมบาลามิได้ปฏิเสธเทคโนโลยีหรือมุ่งที่จะ “กลับไปหาธรรมชาติ” อย่างไร้เดียงสา ทว่าในโลกซึ่งเราก็มีชีวิตอยู่มีที่ว่างพอให้เราเห็นคุณค่าของตัวเองเห็นคุณค่าของฟากฟ้าและแผ่นดิน เราอาจรักตัวเอง อาจเงยหน้ายืดไหล่ขึ้นเพื่อแลดูดวงอาทิตย์แจ่มจรัสในฟากฟ้า” ว่ากันว่า...ในบรรดาสิ่งที่บั่นทอนชีวิตของเราอย่างถึงที่สุดในโลกของวันนี้คือความหวาดกลัว มันเป็นความร้ายกาจแห่งยุคสมัยที่ถือเป็นสากล...มันเป็นสิ่งที่ทำลายความเคารพตนเอง (Self-Esteem) และสกัดกั้นการพัฒนาตนเอง...มันเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อจินตนาการของมวลมนุษย์ที่จะคิดฝันและมันเป็นอาวุธชิ้นสำคัญของผู้ปกครองที่คอยใช้ทิ่มแทงเพื่อเหยียบย่ำความรู้สึกอันหาญกล้าของประชาชนผู้ต่ำต้อยที่จะหยัดยืนก้าวขึ้นมาเป็น “นักรบ” ผู้ท้าทาย...ท้าทายด้วยการมีชีวิตอยู่อย่างเต็มเปี่ยมในโลกดั่งที่มันเป็น ทั้งนี้เพื่อค้นหาถึงแก่นแท้และด้านตรงข้ามของปัจจุบันขณะภายในโลกนี้ “ถ้าเราเปิดตาขึ้นมาถ้าเราเปิดจิตถ้าเราเปิดใจขึ้น เราจะพบว่าโลกนี้เป็นสถานที่วิเศษ มันมิใช่สถานที่วิเศษ เพราะว่ามันอาจเสกให้เรากลายเป็นบางสิ่งบางอย่างโดยไม่คาดฝัน แต่มันเป็นสถานที่วิเศษ เพราะว่ามันเป็นสถานที่ที่จริงยิ่งและเรืองรองยิ่ง” ชัมบาลา “หนทางอันศักดิ์สิทธิ์ของนักรบ” (Shambala : Sacred Path of the Warrior) ญาณทัศนะที่ถือเป็นสารัตถธรรมอันยิ่งใหญ่ที่โลกวันนี้ กระหายและปรารถนาที่จะได้รับโดยเชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช “คุรุทิเบต”...ผู้สอนพุทธศาสนาชาวทิเบตที่ได้รับความนิยมและก่ออิทธิพลให้เกิดขึ้นในสำนึกของคนรุ่นใหม่ด้วยพลังและลีลาในการเทศนาด้วยองค์รวมของความคิดที่ท้าทายต่อกระบวนการวิพากษ์วิจารณ์ในบริบทแห่งความเติบใหญ่ด้านจิตวิญญาณ โดยเฉพาะนัยแห่งการกล่าวถึงความจริงแท้และความดีงามในส่วนของปัจเจกบุคคลที่ล้วนต่างมีศักยภาพที่จะฝึกตนให้สมบูรณ์ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนมีชีวิตชีวากล้าและลุ่มลึกจนสามารถก้าวย่างเข้าสู่การดำรงอยู่อย่างแท้จริง ด้วยจุดหมายของการเป็นนักรบ...เป็นผู้นำทางที่มีแบบแผนทุกอย่างอันสมบูรณ์ ขณะที่ประเทศในเอเชียปลายๆประเทศมีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับอาณาจักรของความ คิดฝัน...ในทิเบตก็เช่นกัน ตำนานเล่าขานดังกล่าวนี้ถือเป็นรากเหง้าเป็นต้นตอแห่งศิลปศาสตร์และอารยธรรมของสังคมเอเชียปัจจุบัน ตามตำนานเล่าว่าอาณาจักรแห่งนี้เป็นสถานที่แห่งสันติสุขและความรุ่งเรือง ซึ่งปกครองโดยผู้ปกครองของผู้ทรงสติปัญญาและการุณย์ทั้งอาณาประชาราษฎร์ก็ล้วนรอบรู้และเมตตาปรานี ดังนั้นอาณาจักรนี้จึงเป็นสังคมในอุดมคติสถานที่แห่งนี้ถูกขนานนามว่า “ชัมบาลา” มีนักวิชาการหลายต่อหลายคนได้พากันระบุว่าเรื่องราวเกี่ยวกับ “ชัมบาลา” เป็นเพียงเรื่องเล่าขานที่หาความจริงไม่ได้ แต่ในขณะที่มีการสรุปเหมือนหนึ่งว่าตำนานของเรื่องเรื่องนี้เป็นเรื่องที่โกหกขึ้น เชอเกียม ตรุงปะ ได้ให้คำอธิบายว่า “เราอาจเห็นได้ชัดถึงร่องรอยแห่งความปรารถนาของมนุษย์ที่ฝังรากแน่นอยู่ในสิ่งที่เป็นตำนานนี้ ที่จริงแล้วในบรรดาคุรุทิเบตหลายท่านมีประเพณีซึ่งถือว่าอาณาจักรชัมบาลามิใช่สถานที่ซึ่งดำรงอยู่ภายนอก หากเป็นรากฐานของสภาวะหยั่งรู้และการประจักษ์แจ้งอันเป็นศักยภาพที่ดำรงอยู่ภายในตัวมนุษย์ทุกคน จากทัศนะนี้เองจึงไม่สำคัญว่าอาณาจักรชัมบาลาจะเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องเท็จ หากควรที่เราจะเป็นคุณค่าและดำเนินตามอุดมคติของสังคมอริยะ ซึ่งแสดงอยู่” จากคำอธิบายข้างต้นนั้นสามารถจะนำให้เราได้เห็นภาพรวมที่ถ่องแท้ของชัมบาลาว่าคือสิ่งใดกันแน่ไม่ว่าจะเป็นภายใต้วิถีแห่งญาณทัศนะหรือภายใต้วิถีแห่งการสอนสั่ง...การใช้ภาพ “อาณาจักรชัมบาลา” เป็นแกนกลางของคำสอนแห่ง เชอเกียม ตรุงปะ หมายถึงการแสดงถึงอุดมคติของการตรัสรู้ซึ่งปราศจากลัทธินิกาย นั่นก็คือการเสนอให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของการยกระดับจิตวิญญาณของตนและผู้อื่นโดยไม่ต้องอาศัยแนวทางหรือญาณทัศนะของศาสนาใด เพราะแม้ว่าสายความคิดของชัมบาลาจะยืนพื้นอยู่บนหลักคิด และความนุ่มนวลของวัฒนธรรมแบบพุทธ แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีรากฐานที่เป็นอิสระของตนเองซึ่งมุ่งตรงที่จะนำมนุษย์ของวันนี้ให้มีสภาวะเป็น “มนุษย์ที่แท้” ท่ามกลางมวลปัญหาอันหนักหน่วงของสังคมมนุษย์...ท่ามกลางสภาวการณ์ของโลกที่ตกอยู่ในห้วงแห่ง “วิกฤตของวิกฤต”...ห้วงแห่งความหวาดกลัวต่อโรคภัยไข้เจ็บที่กำลังรานรุกอยู่อย่างโหดเหี้ยม สงครามปรมาณูอันน่าสะพรึง..หายนะแห่งความยากจนที่แผ่ลุกลามออกไปกว้างยิ่งขึ้นด้วยเงื่อนไขแห่งความไม่มั่นคงทางภาวะเศรษฐกิจ ตลอดจนความปั่นป่วนวุ่นวายของสภาพสังคมและการเมือง รวมไปถึงความพิกลพิการแห่งจิตใจในแง่มุมต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนทำให้โลกต้องตกอยู่ในเงื่อนงำที่จมปลักอยู่แต่ความปั่นป่วนยุ่งเหยิงเท่านั้น “เมื่อคุณใช้ชีวิตสอดคล้องกับความดีงามพื้นฐาน เมื่อนั้นคุณก็ได้สั่งสมความผุดผ่องตามธรรมชาติขึ้น” ผลของการขัดเกลาตนเองตามแนวทางของนักรบก็คือ คนย่อมเรียนรู้ที่จะขจัดความทะเยอทะยานและความเกร็ง และจากนี้เองคุณย่อมพัฒนาสมดุลภายในขึ้น ดุลยภาพนี้เกิดขึ้นมิใช่จากการถือมั่นอยู่กับสถานการณ์ หากแต่เกิดจากการผูกมิตรกับฟ้าและดิน ดินก็คือธาตุมูล หรือความเป็นจริง ฟ้าก็คือญาณทัศนะหรือสงสัย ความลังเล หรือความเคอะเขิน ในฐานะที่คุณเป็นคุณ คุณจำเป็น ต้องผ่อนคลายกับตนเอง เพื่อจะได้ตระหนักอย่างเต็มที่ว่าวินัยก็คือการสำแดงออกของความดีงามพื้นฐาน คุณจำเป็นต้องตระหนักเห็นคุณค่าของตัวเอง เคารพตนเองและปลดปล่อยความสงสัย ความกระด้างกระเดื่องไป เพื่อว่าคุณจะได้ใช้ความดีงามและสติปัญญาพื้นฐานเพื่อผลประโยชน์ต่อผู้อื่น คำสอนของชัมบาลาตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่ามีปรีชาญาณอันเป็นรากฐานของมนุษย์อยู่ ซึ่งอาจช่วยคลี่คลายปัญหาทั้งหลายของโลกได้ ปรีชาญาณประการนี้มิได้เป็นสมบัติเฉพาะของวัฒนธรรมใดหรือสิทธิของศาสนาใด ทั้งมิได้มาจากตะวันตกหรือตะวันออก ทว่ามันสืบสายวัฒนธรรมต่างๆตลอดช่วงกาลที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ ความเป็นนักรบในความหมายของชัมบาลาไม่ได้หมายถึงการไปรบราผู้อื่น เพราะนั่นถือเป็นความก้าวร้าว...และความก้าวร้าวนับเป็นบ่อเกิดของปวงปัญหาหาใช่การแก้ไขแต่อย่างใดไม่ คำว่า “นักรบ” ณ ที่นี้มาจากภาษาทิเบตว่า “ปราโว” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้กล้า” และความเป็นนักรบตามนัยนี้ จึงนับเป็นวัฒนธรรมแห่งการไม่หวาดกลัว ไม่หวาดกลัวความจริงในตนเอง ไม่ว่าเราจะเป็นใครก็ตาม ซึ่งที่สุดแล้วคำจำกัดความของความกล้าก็คือ “ไม่กลัวตัวเอง” ญาณทัศนะของชัมบาลาคือสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับความเห็นแก่ตัวและเมตตาได้ ในขณะ เดียวกัน...ขณะที่เรากลัวตัวเองและกลัวภัยคุกคามจากโลกปัจจุบัน เมื่อนั้นเรากลับเห็นแก่ตัวอย่างง่ายดาย...เรามักปรารถนาจะสร้างรังเล็กๆของตนขึ้น สร้างเปลือกขึ้นห่อหุ้มตัวเองเพื่อว่าเราจะได้อยู่เพียงลำพังอย่างปลอดภัยในนั้น แต่โดยสถานะแห่งความเป็นจริงที่แท้เราอาจหาญกล้าได้มากกว่านั้น เราต้องพยายามคิดให้กว้างไกลออกไปกว่าบ้านของเราไกลกว่าไฟที่ลุกอยู่ในเตาหรือไกลกว่าการตื่นขึ้นมาทำงานในตอนเช้า...เราจะต้องพยายามขบคิดว่าเราจะสามารถช่วยโลกนี้ได้อย่างไร เพราะถ้าเราไม่ช่วยก็จะไม่มีใครอื่นช่วยเลย...สิ่งนี้ถือเป็นภารกิจอันเปรียบได้ดั่งพันธะชีวิตที่สำคัญ...แต่ด้วยความหมายอันถูกต้อง การช่วยผู้อื่นก็มิได้หมายถึงการสละชีวิตของตัวไป คุณไม่จำเป็นต้องลนลานรีบไปเป็นนายกรัฐมนตรี หรือประธานาธิบดีเพื่อที่จะช่วยผู้อื่น แต่คุณสามารถเริ่มต้นจากญาติมิตรและผู้คนรอบๆตัว “ในการที่จะสถาปนาสังคมวิริยะสำหรับมนุษย์เราจำเป็นที่จะต้องค้นให้พบว่าเรามีของจริงสิ่งแท้อะไรอยู่ในตัวบ้าง สิ่งนั้นอาจสามารถมอบให้แก่โลก นั่นคือภาระแรกสุดจากนั้นเราต้องพยายามพิจารณาดูประสบการณ์ของเราทั้งหมดเพื่อที่จะหยังเห็นให้ได้ว่าเรามีสิ่งมีค่าอะไรอยู่ในตัว ซึ่งจะสามารถยกระดับสภาวะความเป็นอยู่ทั้งของตนเองและผู้อื่นได้” “ชัมบาลา” หนทางอันศักดิ์สิทธิ์ของนักรบ โดย เชอเกียม ตรุงปะ ผลงานแปลของ “พจนา จันทรสันติ” นับเป็นหนังสือที่มีคุณค่าที่สุดในทัศนะของผมในรอบปีนี้...ด้วยการเป็นบริบทแห่งคำสอนในภาวะร่วมสมัยที่ตัวตนอันเป็นความหมายแห่งชีวิตของโลกและความเป็นมนุษย์ถูกทำลายลงด้วยวิกฤตแห่งวิกฤติในความเป็นศรัทธาพร้อมๆกัน ศักดิ์ศรีของมนุษย์มิได้ดำรงอยู่บนพื้นฐานของความมั่งคั่งทางวัตถุ คนมั่งคั่งอาจใช้จ่ายเงินมหาศาลเพื่อเนรมิตบ้านให้โอ่อ่าหรูหรา แต่นั่นอาจเป็นเพียงความภูมิฐานอย่างฉาบฉวย ศักดิ์ศรีนั้นอุบัติขึ้นจากการใช้สอยสิ่งที่มีอยู่ในตัวมนุษย์แล้ว โดยการกระทำสิ่งต่างๆด้วยน้ำมือของตนเอง ทำขึ้นอย่างงดงามและเหมาะสมที่นั่น คุณอาจทำสิ่งนี้ได้ แม้ในท่ามกลางสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด คุณก็อาจทำชีวิตให้งามสง่าขึ้นมา ญาณทัศนะชัมบาลามิใช้เป็นเพียงปรัชญาล้วนๆ หากเป็นปฏิบัติการฝึกฝนขัดเกลาตนเพื่อเป็นนักรบ มันเป็นการเรียนรู้ที่จะปฏิบัติต่อตนเองให้ดีขึ้น เพื่อว่าคุณจะสามารถช่วยสร้างสรรค์สังคมอริยะขึ้น ในกระบวนการดังกล่าว ความเคารพตนเองเป็นสิ่งสำคัญมาก ทั้งยังมหัศจรรย์และเลอเลิศ คุณอาจไม่มีเงินซื้อเสื้อผ้าราคาแพง แต่คุณก็ไม่จำเป็นต้องไปรู้สึกว่าปัญหาทางเศรษฐกิจผลักดันคุณให้ตกเข้าไปอยู่ในโลกมืดอันบีบคั้น คุณยังคงเต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและความดีงาม การได้สัมผัสถึงภาวะความเป็นอยู่ที่สูงขึ้นของโลกนั้นเป็นสภาวะที่เบิกบานมาก แต่ในขณะเดียวกันมันก็นำความเศร้ามาด้วย นี่คล้ายกับความรัก เมื่อคุณรักใครสักคน การอยู่กับคนรักนั้นเป็นสิ่งที่พึงเบิกบานและเจ็บปวด ในขณะเดียวกันคุณจะรู้สึกทั้งสุขและทุกข์ แต่นี่มิใช่ปัญหา ทว่ากลับเป็นเรื่องวิเศษยิ่งเพราะนี่คืออารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ในอุดมคติทีเดียว ในทำนองนี้เองที่นักรบจะเริ่มเข้าใจถึงความหมายของความมั่นใจที่ปราศจากเงื่อนไข ความมั่นใจในภาษาธิเบตก็คือ ซิจิซิ หมายถึง “ส่องสว่าง” หรือ “เป็นประกาย” จิ หมายถึง “ยอดเยี่ยม” หรือ “สูงส่ง” และบางครั้งก็มีความหมายในทำนอง “แข็งแกร่ง” ดังนั้นซิจิจึงหมายแสดงถึงการส่องสว่าง หมายถึงความเบิกบาน ในขณะเดียวกันก็สูงส่ง เหตุนี้ ‘ชัมบาลา’ จึงจักสอนวิถีการแห่งการเป็นนักรบให้แก่เรา วิถีนักรบอันเป็นการเรียนรู้ที่จะปฏิบัติต่อตนเอง แม้ว่าจะต้องตกอยู่ในโลกที่มืดมนบีบคั้น...ญาณทัศนะชัมบาลาได้สอนให้มนุษย์ทุกคนล่วงพ้นวิกฤติตรงนี้ได้เพียงด้วยการเห็นความสำคัญในการเคารพตนเอง อันเป็นวิถีแห่งนักรบอันแท้จริง “เมื่อคุณเคารพตนเองคุณก็ยังคงเต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและความดีงาม” ‘เชอเกียม ตรุงปะ’ ได้เสียชีวิตไปด้วยวัยเพียง 47 ปี ‘ชัมบาลา’ ถือเป็นหนังสือที่สร้าง สรรค์ขึ้นในช่วงสุดท้ายแห่งชีวิตของเขา หลังจากที่ได้ใช้ญาณทัศนะนี้สอนสั่งผู้คนในช่วง 7 ปีก่อนหน้านั้น...ภายใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมานี้ ‘ชัมบาลา’ ถูกพิมพ์ออกมาหลายครั้ง พ.ศ.2530 - 2551 และ ดูเหมือนว่า ‘ชัมบาลา’ ในปี พ.ศ.นี้จะเข้าไปอยู่ในด้านลึกแห่งจิตวิญญาณของผู้ร่วมสัมผัสได้มากกว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้ว...อาจด้วยเหตุผลแห่งวิกฤติของวิกฤติที่กำลังเป็นอยู่ และเป็นไปในขณะนี้ที่เป็นดั่ง “หายนะที่ไร้ทางออกอันเป็นนิรันดร์” ญาณทัศนะของชัมบาลาสอนดั่งนั้น...สอนให้ไม่กลัวความจริงในตนเอง...เมื่อไม่กลัวตัวเองเราจะค้นพบถึงความดีงามที่แท้จริง...ความดีงามที่ไม่ได้เกิดจากเงินเป็นล้าน...แต่เป็นความดีงามในรากฐานของการมีชีวิตอยู่... “เมื่อเราได้ยินเสียงอันไพเราะก็เท่ากับเราได้สดับฟังแก่นแท้อันดีงามของเราเอง...เมื่อเราก้าวออกไปสู่สายฝน เรารู้สึกสะอาดสดชื่น และเมื่อเราเดินออกจากห้องที่อึดอัดปิดล้อมเราย่อมดื่มด่ำในอากาศสดชื่นที่พรั่งพรูเข้ามา เหตุการณ์เหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นเพียงชั่วเสี้ยววินาที แต่มันล้วนเป็นประสบการณ์ที่แท้จริงของความดีงาม...มันอุบัติขึ้นกับเราอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในวิธีอันแท้จริงแห่งความเป็นนักรบ” ความเป็นนักรบคือหนทาง หรือคือเส้นที่ร้อยผ่านตลอดชีวิตของคุณ มันไม่ได้เป็นเพียงแค่วิธีการหรืออุบายบางอย่างซึ่งคุณนำมาประยุกต์ใช้เมื่อต้องเผชิญกับอุปสรรค หรือเมื่อยามทุกข์ทนกลัดกลุ้ม ความเป็นนักรบคือการเดินทางอย่างต่อเนื่อง การเป็นนักรบก็คือการเรียนรู้ที่จะเป็นจริงในทุกๆขณะของชีวิต นี่คือวินัยของนักรบ