ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในการประชุม จากนั้นส.ส.ส่วนใหญ่สนับสนุนในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่ท้วงติงว่ายังไม่ครอบคลุมลูกหนี้ทุกกลุ่ม โดย นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ขอให้รัฐบาลออก พ.ร.ก. อีกฉบับเพื่อปรับรายละเอียดให้ครอบคลุมการแก้ปัญหาหนี้ ของลูกหนี้ทุกกลุ่ม เพราะจากรายละเอียดของพ.ร.ก.ที่เสนอ ไม่ครอบคลุม กับลูกหนี้ 4 ประเภท คือ กรณีมีสัญญาเงินกู้ แต่ไม่ระบุอัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขการชำระคืน, กรณีไม่มีสัญญาา, กรณีละเมิดทางแพ่ง และกรณีมีดอกเบี้ยผิดนัด ทั้งคำนวณจากเงินต้นเฉพาะงวดผิดนัด และการใช้ดุลยพินิจของศาล รวมถึงลูกหนี้รายใหม่ที่คาดหวังว่าจะได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยที่ลดลงตามพ.ร.ก. เนื่องจากเงื่อนไขของการแก้ไข พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว ยังมีเงื่อนไขที่ผูกติดกับประกาศของกระทรวงการคลัง จำนวน 4 ฉบับ ซึ่งไม่ลดอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงิน ปัจจุบันมีสินเชื่อในระบบทั้งหมด 17 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 12-13 ล้านล้านบาท เป็นของประชาชนและกลุ่มบริษัท ที่เหลือเป็นส่วนของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ทุกกรณีมีสัญญา ดังนั้นผู้ที่จะได้ประโยชน์จากพ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว มีเพียง 0.1% เท่านั้น ทั้งนี้ในหลักคิดผมเห็นด้วย แต่ผิดหวังกับการแก้ปัญหาหนี้ในระบบได้เพียง 0.1% เท่านั้น ดังนั้นตามอำนาจควรออก พ.ร.ก.อีกฉบับเพื่อให้ลูกหนี้ทุกกลุ่มได้ประโยชน์และครอบคลุมกับลูกหนี้รายใหม่
ขณะที่ นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ประธานสภาฯ ส่งพ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว ส่งศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ตีความว่า การให้อำนาจกระทรวงการคลัง เพื่อขึ้นดอกเบี้ยโดยไม่ผ่านกระทรวงนั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 หรือไม่ ซึ่งกรณีที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังออกพระราชกฤษฎีกา ปรับเพิ่มดอกเบี้ยได้ นั้นประชาชนได้รับผลกระทบและตนมองว่าอาจเป็นการช่วยเหลือนายทุน พ.ร.ก.ฉบับนี้ เหมือนน้ำผึ้งอาบยาพิษ เหมือนจะดี แต่ไม่ดี เพราะการให้อำนาจกระทรวงการคลังพิจารณาปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ว่าจะลดลงหรือเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ เป็นพระราชกฤษฎีกา ทุกๆ 3 ปีเท่ากับสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ตามอำเภอใจ เช่น ร้อยละ 7 เท่ากับเขียนเช็คเปล่าให้กระทรวงการคลังไปดำเนินการ ประชาชนมีแต่ได้รับโทษ ทั้งนี้กระบวนการออกกฎหมายของรัฐบาลใช้วิธีปิดปากสภาฯ ไม่สามารถแก้ไขได้
ด้านนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ก็มีดำริคิดเรื่องนี้ที่จะปรับปรุงแนวทางในการคิดดอกเบี้ยที่ผิดนัดชำระหนี้และลำดับการตัดชำระหนี้เพื่อส่งเสริมความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการทางการเงินในระบบการเงินไทย และส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการทางการเงินได้ดำเนินธุรกิจไปอย่างยั่งยืน ซึ่งคิดมาตั้งแต่ปี 63 และออกประกาศธปท. เรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ที่มีผลบังคับใช้กับสถานบันการเงินต่างๆ ทุกแห่ง โดยประกาศดังกล่าวได้กำหนดกำกับดูแลการคิดดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อย ซึ่งไม่ได้ครอบคลุมถึงลูกหนี้รายใหญ่ ซึ่งการที่รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉบับนี้ขึ้นมา ที่ไม่ได้เป็นประโยชน์และไม่เป็นการดำเนินการตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้จึงไม่สอดรับกับประกาศ ธปท. เพราะพ.ร.ก.ฉบับนี้ครอบคลุมและผูกพันไปถึงลูกหนี้รายใหญ่ ทำให้สถาบันการเงินต่างๆปวดหัวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ เพราะต้องปรับปรุงระบบการคิดคำนวนดอกเบี้ย และสัญญาให้สอดรับกฎหมายต่างๆ
“เรื่องนี้ทำให้เกิดความไม่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการตีความกฎหมาย รวมทั้งเกิดผลกระทบต่อภาคธุรกิจการลงทุนและการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน หาก พ.ร.ก.นี้มีผลบังคับใช้ก็จะเกิดส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและธนาคาร เป็นอุปสรรคในการปรับปรุงระบบ ทำให้ลูกหนี้รายใหญ่มีอำนาจการต่อรองกับสถาบันการเงินสูง ดังนั้นการปรับวิธีการคิดดอกเบี้ยผิดนัดช่วยให้ลูกหนี้ขนาดใหญ่มีอำนาจต่อรองมากขึ้น จะทำให้ประเทศเกิดผลกระทบและภาพรวมทางเศรษฐกิจ พ.ร.ก.นี้หลักการดี แต่ไม่ได้เอื้อให้กับนายแบงค์ แต่เอื้อให้กับลูกหนี้ของนายแบงค์ และลูกหนี้รายใหญ่ได้รับผลประโยชน์อย่างมาก จึงขอให้รมว.คลังอย่าส่งที่ไม่ชัดเจนมาให้พวกผมรับรองให้” นายศุภชัย กล่าว
จากนั้นสมาชิกได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง และใช้เวลาพิจารณารายละเอียดและอภิปราย กว่า 4 ชั่วโมง
จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติ โดยผลปรากฎว่าเสียงข้างมาก อนุมัติพ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ด้วยคะแนน 403 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียงย งดออกเสียง 2 เสียง ทั้งนี้พบว่า ส.ส.พรรคฝ่ายค้านร่วมลงมติอนุมัติด้วย