"วิษณุ"การันตีพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน ไม่ผิดวินัยคลัง แนะเร่งถกงบ 65 ให้เสร็จตามกรอบ 105 วัน หวั่น แก้ไม่ได้แม้แต่ตัวเดียว ด้าน "วิรัช" ระบุ "พ.ร.ก.เงินกู้" 5 แสนล้าน เข้าประชุมสภาหลังถกงบ 65 เสร็จ ขณะที่"พท."อัดนายกฯ บริหารประเทศ7 ปี ทำไทยเสียหายหนัก-หนี้ท่วม เสี้ยม! พรรคร่วมเลิกนั่งร้านมายืนข้างปชช.แทน เมื่อวันที่ 26 พ.ค.64 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2565 ในสัปดาห์หน้าว่า ทางพรรค จะมีการประชุมกรรมการบริหารพรรค และเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น โดยยืนยันว่า พรรคร่วมรัฐบาล ต้องให้การสนับสนุน เพราะถือว่าเป็นกฏหมายสำคัญของรัฐบาล ไม่เช่นนั้นจะเกิดผลกระทบทางการเมืองตามมาอย่างไรก็ตาม หากงบประมาณไม่ผ่าน รัฐบาลก็ต้องลาออกหรือยุบสภา แต่รายละเอียดทั้งหมด ขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลัง และสำ นักงบประมาณที่จะช่วยชี้แจง เมื่อถามว่า มีกังวลหรือไม่ เพราะที่ผ่าน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ มีปัญหาเรื่องการลงมติ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนคิดว่าไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น และไม่จำเป็นต้องกำชับอะไร เพราะเมื่อมีมติออกมาแล้วก็ต้องปฏิบัติตามมติ ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ให้พิจารณาและมีคำสั่งเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 พ.ค.64 ที่มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท และมติครม. เมื่อวันที่ 7 เม.ย.63 พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพราะอาจขัดกับวินัยการเงินการคลัง และขัดรัฐธรรมนูญ ว่า เรื่องดังกล่าวคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ชี้แจงแล้วว่า เรื่องนี้ได้ตรวจสอบตั้งแต่ต้นแล้ว และยังคิดไม่ออกว่าเกี่ยวข้องอะไรกับศาลปกครอง เพราะในรัฐธรรมนูญก็เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า ถ้าจะดำเนินการร้องก็ต้องไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งนี้ก็รู้ว่าทำไมกลุ่มผู้ร้องถึงได้ไปร้องต่อศาลปกครอง เพราะเนื่องจากเขาไม่รู้ว่าจะมีการ ประกาศออกมาเมื่อไหร่ จึงได้ร้องให้มีการเพิกถอนมติของครม. "ตอนนี้เรื่องมันเกินกว่ามติครม.แล้ว อย่างไรก็ตามการยื่นเรื่องต่อศาลปกครองนั้นก็ไม่ได้ถือว่าผิด เพียงแต่เขาต้องการให้มีการเพิกถอน คือเมื่อเป็นพ.ร.ก. แล้วศาลปกครองเพิกถอนไม่ได้ แต่ถ้าเป็นมติครม. ศาลปกครองเพิกถอนได้ เขาก็นึกว่าเป็นมติครม. แต่ความจริงเป็นพ.ร.ก.ไปแล้ว ที่สำคัญคือกรณีที่บอกว่า ร่างพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ออกโดยไม่มีอำนาจตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 นั้น เราก็เช็กมาตั้งแต่พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท แล้ว ที่ระบุว่ารัฐสามารถกู้เงินได้โดยวิธีดังต่อไปนี้ มันก็เข้าหมดแล้ว" เมื่อถามว่า สภาผู้แทนราษฎจำเป็นต้องพิจารณาพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ก่อนร่างพ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องเป็นไปตามคิวคือ พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 ก่อน เพราะพ.ร.บ.งบประมาณ 2565 ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 105 วัน นับตั้งแต่วันที่ส่งร่างให้สภาฯ ที่ส่งไปเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 แม้ว่าสภาฯ จะยังไม่เปิด ก็นับวันไปแล้ว ฉะนั้นถ้าประชุม ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 2565 ในวันที่ 31 พฤษภาคม-2 มิถุนายน 2564 แค่นี้ก็เสียไปแล้ว 15 วัน จาก 105 วัน สภาฯ ก็จะเหลือเวลาการพิจารณาน้อย ถ้าไปเอาอะไรตัดหน้า หรือส.ส.บางคนกลัวโควิด-19 แล้วเสนอให้เลื่อนออกไป เวลาก็จะหายไป จึงอาจจะพิจารณาไม่เสร็จภายใน 105 วัน โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 143 ระบุว่า หากสภาฯ พิจารณาไม่เสร็จภายใน 105 วัน ให้ถือว่าสภาฯ ให้ความเห็นชอบ และอนุมัติตามได้ทุกประการ แก้ไม่ได้แม้แต่ตัวเดียว ดังนั้น จึงต้องพิจารณาให้เสร็จ เมื่อถามว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดในสภาฯ จะมีผลให้เลื่อนการพิจารณาออกไปหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า อย่าเพิ่งพูดเพราะยังไม่มีการระบาดในสภาฯ แต่เป็นการระบาดในแคมป์คนงาน และได้ยินว่าเป็นคนงานสร้างรถไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ก็ต้องให้สภาฯ พิจารณา ทางที่ดีคือพิจารณาให้เสร็จโดยเร็ว และลดความแออัด ใครไม่พูดก็อย่าไปนั่งในสภาฯ ควรเข้าไปเฉพาะเวลาที่นับองค์ประชุม "แม้ข้อกำหนดอาจจะผ่อนผันให้เปิดหน้ากากเวลาพูดได้ ก็ไม่ควรจะถอด แต่หากไม่ถอดหน้ากากตอนพูด อย่างวันนี้ผมนั่งประชุมครม. อยู่ก็เกือบเป็นลมคาไมโครโฟน มันก็เลยเหลืออยู่คำเดียวคือ อย่าพูดมาก ซึ่งทางวุฒิสภา เตรียมเสนอให้ตั้งไมโครโฟนไว้ต่างหาก ไม่ใช้ไมโครโฟนตรงที่นั่ง แล้วก็ฉีดแอลกอฮอล์ และเปลี่ยนผ้าคลุม อันตรายคือตอนที่พูดจากที่นั่งตัวเอง บางคนพอใครลุกขึ้นยืนพูด ก็ชอบย้ายมานั่งใกล้ๆ เพราะได้ออกทีวี นั่นก็จะรับน้ำลายเต็มๆ" ด้าน นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยถึงการเปิดประชุมสมัยสามัญในวันที่ 27-28 พ.ค.64 ว่า จะมีการพิจารณาพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)2 ฉบับคือ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือ และฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ จากการระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโควิด-19 ส่วนพ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ยังนำเข้าที่ประชุมไม่ได้ เนื่องจากหนังสือจากทำเนียบฯยังส่งมาไม่ถึง และถึงแม้ว่าจะส่งมาถึง ก็ต้องเว้นระยะห่างไว้ อย่างน้อย 1 วัน ถึงจะนำเข้าที่ประชุมได้ ส่วนวันที่ 31 พ.ค.-2 มิ.ย.จะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำงบประมาณ 2565 ดีงนั้น พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้าน อาจเข้าที่ประชุมภายหลังสัปดาห์ที่พิจารณาพ.ร.บ.เสร็จแล้ว ส่วน นายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ ส.ส.หนองคาย อดีตรองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมและคณะทำงานเศรษฐ กิจ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ครบรอบ 7 ปี การปฏิวัติประเทศย่ำแย่ทุกด้านโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ พล.อ.ประยุทธ์ใช้ งบประมาณแล้ว 20.8 ล้านล้านบาท และ จะใช้งบประมาณปี 65 อีก 3.1 ล้านล้านบาท โดยจะกู้ชดเชย งบประมาณ ถึง 7 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังจะมีการกู้อีก 5 แสนล้านเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งแต่แรกจะกู้ 7 แสนล้านบาท แต่พอถูกตำหนิ จากทุกฝ่ายจึงต้องลดลงมาเหลือ 5 แสนล้าน แต่ก็ยังมาก และการเก็บรายได้ปีนี้จะไม่ได้ ตามที่คาดหมายอีกกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะทะลุ 9 ล้านล้านบาท และในปีนี้ อย่างไรหนี้สาธารณะก็จะพุ่งทะลุเกิน 60% ของจีดีพี เพราะพล.อ.ประยุทธ์ รู้แต่จะกู้ แต่ไม่รู้จักการหารายได้ หนี้ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนหนี้ล้นได้ อีกทั้งหนี้ครัวเรือนก็พุ่งทะลุเกิน 90% แล้ว หนี้เสียธนาคารก็เพิ่มมากขึ้น โดยการบริหารประเทศของนายกฯมองไปทางไหนก็เห็นแต่หนี้เต็มไปหมด แต่ไม่เห็นทางออกของประเทศที่จะพัฒนาต่อไปได้เลย "7 ปีของการปฏิวัติ ข้อมูลข่าวสารเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลมีมากมาย แต่ความเสียหายที่มากกว่า การทุจริตคอรัปชั่นคือ การเสียโอกาสของประเทศ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ที่ขาดความรู้ความสามารถและขาดวิสัยทัศน์ ได้ทำให้ประเทศไทยเสียดาย และเสียโอกาสไปอย่างมาก และหากพล.อ.ประยุทธ์ ยังคงดื้อรั้นที่จะบริหารประเทศอยู่ ประเทศไทยก็จะเสียโอกาสไปเรื่อยๆ จนในที่สุดจะทำให้ประเทศไทยพัฒนารั้งท้ายในอาเซียนควบคู่ไปกับมินอ่องลาย เผด็จการทหารของประเทศเมียนมาร์ที่มีข่าวว่าพล.อ.ประยุทธ์ ติดต่อกันลับหลังตลอด จนทำให้ภาพลักษณ์ประเทศไทยไม่ต่างจากประเทศเมียนมาร์และมีโอกาสที่จะพัฒนารั้งท้ายคู่กันถ้าพล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ยอมวางมือ" ขณะที่ นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการจัดทำงบประมาณประจำปี 2565 ว่า เป็นการจัดทำงบประมาณที่ละทิ้งประชาชน ไม่สนใจสถานการณ์ปัจจุบันโดยสิ้นเชิง สังเกตได้จาก "งบกลาง" ที่ตั้งไว้สูงถึง 5.7 แสนล้านบาท แม้จะปรับลงจากปี 64 เล็กน้อย แต่ยังถือว่า เป็นงบที่มากเป็นอันดับ 1 ของงบประมาณทั้งหมดติดต่อกันเป็นปีที่ 3 นับตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี อีกทั้งยังตัดงบ "สำรองฉุกเฉิน ค่าใช้จ่ายในการบรรเทาหรือแก้ปัญหาจากการระบาดของโควิด-19"ซึ่งภายในงบกลางออกทั้งหมด ทั้งที่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังอยู่ในขั้นวิกฤต และ ในปีงบประมาณ 2563 - 2564 ก็เคยกันงบส่วนดังกล่าวสำรองไว้ หลายหมื่นล้านบาท นอกจากนี้เมื่อมาดูภาพรวมของงบกลางในปีงบประมาณ 2565 ค่าใช้จ่ายที่ใช้กับส่วนราชการมีสัดส่วนสูงกว่าทุกปี คิดเป็นเกือบ 85% เหลืองบไว้ใช้กับประชาชนในยามฉุกเฉินน้อยมาก แตกต่างจากรัฐบาลชุดก่อนหน้าที่มีการใช้งบกลาง เพื่อประชาชน หรือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจเป็นส่วนใหญ่ ทั้งหมดที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพและไม่สนใจประชาชน ดังเป็นที่ประจักษ์มายาวนานตลอด 7 ปี สอดคล้องกับข้อมูลของ ดร. กิตติ ลิ่มสกุล นักวิชาการเศรษฐมิติระดับโลก ที่ได้ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการทำรัฐประหารรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2562 ไว้ คิดเป็นมูลค่าถึง 3.19 ล้านล้านบาท โดยยังไม่รวมความเสียหายที่เกิดจากความบกพร่องของรัฐบาลในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 อีกด้วย "การจัดทำงบประมาณปี 65 ของพล.อ.ประยุทธ์ แสดงออกว่าไม่แคร์ประชาชนอย่างชัดเจน หากปล่อยให้บริหารต่อมีแต่จะสร้างความเสียหายให้ประเทศ พรรคเพื่อไทยขอให้ทุกคนร่วมจับตาการอภิปรายงบประมาณรอบนี้ และขอเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาล เลิกเป็นนั่งร้านให้นายกฯ ที่ไร้ประสิทธิภาพ ขาดวิสัยทัศน์ แล้วกลับตัวกลับใจมาอยู่ข้างประชาชน"