NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ ยานโอไซริส-เร็กซ์ เดินทางออกจากดาวเคราะห์น้อยเบนนู มุ่งหน้ากลับสู่โลกแล้ว โดยยานโอไซริส-เร็กซ์ (OSIRIS-REx) ขององค์การนาซา ได้เดินทางไปสำรวจและเก็บตัวอย่างหินบน #ดาวเคราะน้อยเบนนู (101955 Bennu) ดาวเคราะห์น้อยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 500 เมตร เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2559 และใช้เวลาสำรวจดาวเคราะห์น้อยเบนนูนานกว่าสองปี ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมายานโอไซริส-เร็กซ์ จุดเชื้อเพลิงบนตัวเครื่องยนต์ขับดันเป็นเวลา 7 นาที เพื่อเริ่มเดินทางกลับมายังโลกแล้ว ส่งผลให้ยานเคลื่อนที่ได้เร็วถึง 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่ายานอวกาศโอไซริส-เร็กซ์จะโคจรรอบดวงอาทิตย์อีกสองรอบจากตำแหน่งวงโคจรของดาวศุกร์ ก่อนที่จะเคลื่อนที่ผ่านโลกในวันที่ 24 กันยายน 2566 จากนั้นแคปซูลที่เก็บหินตัวอย่างจะถูกแยกออกจากยานอวกาศ และปล่อยลงสู่พื้นที่ทะเลทรายทางตะวันตกของรัฐยูทาห์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ยานอวกาศโอไซริส-เร็กซ์เดินทางไปถึงดาวเคราะห์น้อยเบนนูเมื่อ 3 ธันวาคม 2561 โคจรรอบดาวเคราะห์น้อยเพื่อทำแผนที่อยู่หลายเดือน ก่อนที่จะเข้าใกล้และลดระดับความสูงลง เหตุการณ์สำคัญของภารกิจเกิดขึ้นในวันที่ 20 ตุลาคม 2563 เมื่อยานอวกาศเข้าใกล้ขั้วเหนือของดาวเคราะห์น้อยเบนนูตรงบริเวณที่เรียกว่า ไนติงเกล (Nightingale) และสัมผัสพื้นผิวด้วยอุปกรณ์ที่ออกแบบพิเศษคล้ายแขนกล ที่เรียกว่า TAGSAM ทำหน้าที่เก็บรวบรวมหินจากพื้นผิว และสามารถเก็บหินตัวอย่างกลับมาได้มากกว่า 400 กรัม ดาวเคราะห์น้อยเบนนูมีความน่าสนใจและท้าทายบรรดานักวิทยาศาสตร์ ด้วยพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยเบนนูมีความขรุขระกว่าที่คาดการณ์ไว้ตอนต้นและเต็มไปด้วยก้อนหินขนาดใหญ่ ทำให้เลือกบริเวณที่จะลงสำรวจและเก็บตัวอย่างหินได้ยากขึ้น ตัวอย่างหินที่เก็บรวบรวมได้จะนำกลับมายังห้องทดลองบนโลก เพื่อศึกษาการก่อตัวและส่วนประกอบของดาวเคราะห์น้อยเบนนูว่าเป็นไปตามสมมติฐานของนักวิทยาศาสตร์หรือไม่ ซึ่งจะช่วยไขความลับที่น่าสนใจเกี่ยวกับระบบสุริยะในยุคแรกเริ่มได้ ขณะนี้ยานโอไซริส-เร็กซ์อยู่ระหว่างการเดินทางกลับมายังโลก โดยมีทีมนักวิทยาศาสตร์เฝ้าตรวจสอบตำแหน่งของยานเป็นระยะ เพื่อแก้ไขปัญหาตามความจำเป็น ซึ่งถ้าหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ยานโอไซริส-เร็กซ์จะส่งตัวอย่างหินกลับถึงโลกในปลายปี พ.ศ. 2566 เรียบเรียง : กฤษณะ ล่ามสมบัติ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ อ้างอิง : [1] https://skyandtelescope.org/.../nasas-osiris-rex-leaves.../ [2] https://skyandtelescope.org/.../osiris-rex-tags-bennu.../ [3] https://skyandtelescope.org/astr.../osiris-rex-oldest-rocks/