มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดยกลุ่มมดอาสา มจธ. สู้ภัยโควิด-19 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ จับมือกับ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (National Telecom Public Company Limited: NT) จัดทำจุดตรวจโควิด-19 จากตู้โทรศัพท์สาธารณะ เพื่อศูนย์บริการสาธารณสุข 6 เขตใน กทม. รับมือการระบาดโควิด-19
อาจารย์สุนารี ลาวัลยะวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ กล่าวว่า จุดตรวจโควิด-19 จากตู้โทรศัพท์สาธารณะนี้ ได้รับการพัฒนามาจากจุดตรวจโควิด-19 รุ่นแรก ที่ทางคณะผู้จัดทำได้ผสานความเชี่ยวชาญทั้งในด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ NT ผลิตขึ้นและนำส่งให้กับโรงพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี จ.จันทบุรี เมื่อปลายปี 2563 เพื่อตอบโจทย์การใช้งานสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ผู้ที่เป็นด่านหน้าในการรับมือกับโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยในครั้งนี้จุดตรวจจะมีขนาดเล็กลงเหลือเพียงจุดคัดกรองซึ่งใช้ตู้โทรศัพท์สาธารณะเพียงตู้เดียวเท่านั้น เนื่องด้วยศูนย์บริการสาธารณสุข 6 เขตนี้มีพื้นที่จำกัด จึงต้องการจุดตรวจที่มีขนาดกะทัดรัด น้ำหนักเบา และสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย
ทางทีมผู้จัดทำจึงได้ออกแบบตู้โทรศัพท์สาธารณะเป็นห้องปฏิบัติงานหัตถการของบุคคลากรทางการแพทย์ให้มีสภาวะแรงดันอากาศที่เป็นบวก คือ มีแรงดันอากาศภายในสูงกว่าแรงดันอากาศภายนอก ป้องกันอากาศจากด้านนอกไหลเข้ามาด้านใน ห้องความดันบวกเป็นสภาวะที่ใช้ในห้องสะอาด (clean room) หรือห้องที่ควบคุมความสะอาด ป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในห้อง มีการติดตั้งระบบกรองอากาศคุณภาพสูงที่มีประสิทธิภาพในการกรองเชื้อไวรัส เครื่องปรับอากาศสำหรับทำความเย็น และมีอินเทอร์คอมสำหรับสื่อสารกับผู้ที่รอรับการตรวจด้านนอก การผลิตจุดตรวจโควิด-19 ด้วยตู้โทรศัพท์สาธารณะนี้ สามารถประหยัดและลดงบประมาณต้นทุนการผลิตได้ถึง 20% เมื่อเทียบกับการสร้างโครงสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด
จุดตรวจโควิด-19 จากตู้โทรศัพท์สาธารณะนี้ สามารถลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อให้กับบุคคลากรทางการแพทย์ ทั้งนี้ ทางศูนย์บริการสาธารณสุขได้แจ้งว่า การสร้างจุดตรวจคัดกรองโรคในลักษณะนี้ ยังสามารถพัฒนาเพื่อใช้ต่อเนื่องในอนาคตสำหรับการตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อทางเดินหายใจประเภทอื่น เช่น วัณโรค ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก โรคไอกรน เป็นต้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 พ.ค.64 ได้ส่งมอบให้กับ ศูนย์บริการสาธารณสุข 59 ทุ่งครุ และ ศูนย์บริการสาธารณสุข 42 ถนอม ทองสิมา และมีกำหนดการผลิตส่งมอบให้กับศูนย์บริการสาธารณสุขอีก 4 แห่ง คือ ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 เขตคันนายาว ศูนย์บริการสาธารณสุข 7 เขตยานนาวา ศูนย์บริการสาธารณสุข 4 เขตดินแดง และ ศูนย์บริการสาธารณสุข 44 เขตหนองจอก
การดำเนินงานจัดทำจุดตรวจโควิด-19 จากตู้โทรศัพท์สาธารณะในครั้งนี้ สามารถเกิดขึ้นด้วยแรงสนับสนุนจากทุกๆภาคส่วน และต้องขอขอบคุณที่ทุกท่านได้ร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อให้ประเทศไทยสามารถผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนผู้มีจิตศรัทธาที่ได้ร่วมบริจาคผ่านมายัง “โครงการบริจาคสิ่งของจำเป็นสำหรับโรงพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19” ที่บัญชีธนาคารของมหาวิทยาลัย บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา มจธ. เลขที่ 237-2-00006-3 นอกจากนี้ทาง บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (National Telecom Public Company Limited: NT) ที่ได้สนับสนุนตู้โทรศัพท์สาธารณะเพื่อให้ทาง มจธ. โดยมีสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) และ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ พร้อมทั้งพันธมิตรท่านอื่นๆของ มจธ. ที่มีอยู่ทั่วทุกหัวระแหง ร่วมกันเป็นกำลังสำคัญ ในการประสานและดำเนินงานจนสามารถลุล่วงไปได้ด้วยดี
หากหน่วยงานแพทย์ใดมีความประสงค์ที่จะรับการสนับสนุนจุดตรวจคัดกรอง สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ประสานงานการรับบริจาคกลุ่มมดอาสา มจธ. สู้ภัยโควิด-19
อ.สุนารี-Dr.Martin