เมื่อวันที่ 26 พ.ค.นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย แถลงถึงสถานการณ์หนี้สาธารณะ ดังนี้ 1.หนี้สาธารณะ (รวมเงินกู้ 5 แสนล้านบาท) ณ สิ้นเดือน ก.ย. 64 คาดว่าจะอยู่ที่ 9.2 ล้านล้านบาท GDP อยู่ที่ 16.02 ล้านล้านบาท คิดเป็น 57.4% แต่จำนวนนี้ไม่รวม 1. โควิด-19 ระลอก 3 ที่ยาวเกินคาดเสียหายอีกราวเดือนละ 100,000 ล้านบาท 2. กู้ชดเชยขาดดุลงบ 65 อีก 700,000 ล้านบาท และ 3. GDP ที่ต่ำกว่าประมาณการ หากรวมทั้ง 3 ข้อนี้ กรณีโควิดยืดกว่าคาด 2-3 เดือน หนี้สาธารณะต่อ GDP จะอยู่ที่ 62-63% ทะลุเพดานทันทีในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ 2.ให้จับตารัฐบาลขยายเพดานหนี้สาธารณะต่อ GDP เป็น 65-70% ในการทบทวนกรอบวินัยการเงินการคลังของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง ที่จะครบกำหนด 3 ปี ภายในเดือน มิ.ย. 64 นี้ 3.สัดส่วนนี้ขยายเพดานให้กันได้ ในเงื่อนไขที่เหมาะสมและรัฐบาลใช้เงินมีประสิทธิภาพ เศรษฐกิจโตเร็วกว่าหนี้ที่ก่อเพิ่ม แต่จาก 7 ปีของรัฐบาลปัจจุบัน GDP ขยายตัวเฉลี่ยเพียง 2.88% ต่อปี แต่หนี้สาธารณะขยายตัวเฉลี่ยสูงถึง 7.07% ต่อปี หนี้โตเร็วกว่ารายได้ประเทศถึงกว่า 2 เท่าต่อปีโดยเฉลี่ย สะท้อนการกู้มาใช้จ่ายไม่ก่อให้เกิดรายได้ ทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP พุ่งเกือบ 20% ในรัฐบาลชุดนี้ แนวโน้มเหล่านี้หากปล่อยไปเรื่อยๆ เป็นสัญญาณอันตรายยิ่ง ต่อการสร้างหนี้นอกระบบงบประมาณ 4.การขาดดุลงบประมาณ ปี 58-59 ขาดดุลเฉลี่ย 3-4 แสนล้านบาท ปี 60-63 ขาดดุลเฉลี่ย 5 แสนล้านบาทต่อปี และจะพุ่งเฉลี่ย 7 แสนล้านบาทต่อปีนับจากนี้ ไม่มีแนวโน้มลดลง งบปี 65 ก็ตั้งขาดดุล 7 แสนล้านบาท สุดเพดานตาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ แนวโน้มเหล่านี้ส่งสัญญาณอันตราย ต่อภาวะการสร้างหนี้ในระบบงบประมาณที่มากขึ้นทุกปีๆ 5.ไทยจึงเข้าสู่ภาวะอันตรายในการสร้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทั้งในและนอกระบบงบประมาณ การขยับเพดานหนี้สาธารณะต่อ GDP ให้รัฐบาลนี้จะนำไปสู่อันตรายทางการคลังของประเทศ เพราะเป็นการสร้างหนี้ไปเรื่อยๆ โดยไม่เห็นอนาคต เสมือนให้ใบขับขี่แก่คนขับรถไม่เป็น 6.การเอาไทยไปเปรียบกับญี่ปุ่น แล้วคิดว่าไทยก่อหนี้แบบนั้นได้ นั้นผิด ญี่ปุ่นต่างจากไทย 1. ธุรกิจกระจายฐานในต่างประเทศสูง ส่งรายได้กลับประเทศสูง (GNP สูง) 2. ก่อหนี้มาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่สูง 3. มีสัดส่วนคนอยู่ในระบบภาษีสูง ทั้ง 3 ข้อนี้ตรงข้ามกับไทย เพราะฉะนั้นคนละบริบท เทียบเคียงกันไม่ได้ 7.หากเปรียบเทียบกับรัฐบาล ดร.ทักษิณ จากหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ 54.05% ในปี 45 ลดลงสู่ 39.18% ลดลงเกือบ 15% ใน 4-5 ปี เทียบกับรัฐบาลปัจจุบันจาก 42.56% ในปี 58 พุ่งสู่ 57.4% ใน มี.ค. 64 และ 62-63% ในสิ้นปีนี้ พุ่งขึ้นเกือบ 20% ใน 7 ปี สะท้อนประสิทธิภาพในการบริหารประเทศที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง