เมื่อวันที่ 25 พ.ค. นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์วิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกที่ 3 ซึ่งยังไม่มีวี่แววว่าจะคลี่คลาย หรือจบลงในระยะเวลาอันใกล้นี้ และยังก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงมากขึ้นต่อประชาชน ลูกหนี้ และธุรกิจในภาคสหกรณ์ โดยเฉพาะสหกรณ์ที่ตั้งอยู่ในสถานประกอบการต่างๆ อาทิ โรงแรม หรือโรงงาน ที่สมาชิกบางส่วนอาจถูกลดเงินเดือน ถูกเลิกจ้าง หรืออาจะปิดกิจการชั่วคราว ทำให้สมาชิกของสหกรณ์ในกิจการเหล่านี้ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างมาก  ส่งผลให้สมาชิกไม่สามารถชำระหนี้สหกรณ์ได้ตามกำหนดทำให้สหกรณ์ขาดสภาพคล่องทางการเงินต้องหาแหล่งเงินทุนจากภายนอกเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสหกรณ์และความมั่นคงของเศรษฐกิจในภาพรวมในอนาคต  จากสถานการณ์ดังกล่าว นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้กำกับดูแลกรมตรวจบัญชีสหกรณ์และกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีความเป็นห่วงความเดือดร้อนของสมาชิกสหกรณ์และการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวและได้มอบนโยบายให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมกันกำหนดมาตรการและแนวทางปฏิบัติที่จะช่วยเหลือและผ่อนผันการชำระหนี้ให้แก่สมาชิกสหกรณ์และสหกรณ์อย่างเร่งด่วน   ในส่วนของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้แนะนำให้สหกรณ์กำหนดมาตรการช่วยเหลือสมาชิกจากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ตามประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ เช่น ลดอัตราดอกเบี้ย ปรับโครงสร้างหนี้ หรือพักชำระหนี้ให้แก่สมาชิกของตนเอง เป็นต้น โดยสหกรณ์ต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของสมาชิกและสภาพคล่องทางการเงินของสหกรณ์ด้วย ซึ่งปัจจุบันมีสหกรณ์หลายแห่งได้ออกมาตรการช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์หลากหลายวิธีการตามประกาศนายทะเบียนสหกรณ์แล้ว  อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวอีกว่า สหกรณ์หลายแห่งอาจจะมีความกังวลว่า มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาช่วยเหลือสมาชิก ทำให้สมาชิกหยุดพักชำระหนี้ หรือผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาเงินกู้ จะต้องประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวนมาก ก็อาจส่งผลกระทบทำให้สหกรณ์มีกำไรสุทธิลดลงและการจ่ายเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนลดลงไปด้วยนั้น กรมตรวจบัญชีสหกรณ์เข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับสหกรณ์ จึงได้ออกประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่อง การประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญตามมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านหนี้สินและการปรับโครงสร้างหนี้ของสมาชิกสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์ประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเป็นไปในแนวทางเดียวกันและบรรเทาผลกระทบทางการเงินที่จะเกิดขึ้นกับสหกรณ์ สำหรับสหกรณ์ที่ได้กำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือฯ แก่สมาชิกสหกรณ์ และสมาชิกสหกรณ์ที่เข้าร่วมมาตรการ สามารถปฏิบัติตามมาตรการให้ความช่วยเหลือที่สหกรณ์กำหนด โดยให้ถือเป็นลูกหนี้ปกติ หรือลูกหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระหนี้ จึงไม่เข้าเกณฑ์การประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ   หากสหกรณ์ไม่ได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือสมาชิกดังกล่าว เมื่อวันสิ้นปีทางบัญชี ถ้าสหกรณ์มีลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ต้องประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญให้เป็นไปตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์กำหนด สำหรับสหกรณ์ประเภทการเกษตร นิคม ประมง ร้านค้าและบริการ ให้ปฏิบัติตามประกาศกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เรื่อง การประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ พ.ศ.2563 สำหรับสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ให้ปฏิบัติตามประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่อง การประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการบัญชีของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร พ.ศ.2563 ทั้งนี้ สหกรณ์ สามารถทยอยตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ประมาณการได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศข้างต้นทุกปีให้เสร็จสิ้น ภายใน 5 ปี ซึ่งเป็นการบรรเทาผลกระทบทางการเงินที่จะเกิดขึ้นกับสหกรณ์ได้   “กรมตรวจบัญชีสหกรณ์มีความห่วงใยต่อสมาชิกและสหกรณ์ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดดังกล่าวเป็นอย่างมาก ซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายต่อการบริหารจัดการด้านการเงินของขบวนการสหกรณ์ในอนาคต จึงขอแนะนำไปยังสหกรณ์ทั่วประเทศ ให้เร่งออกมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาสมาชิกสหกรณ์ โดยยึดแนวทางตามประกาศนายทะเบียนสหกรณ์และประกาศกรมตรวจบัญชีสหกรณ์”นายโอภาส กล่าว