หน้าชื่นตาบานไปตามๆ กันสำหรับเกษตรกรชาวสวนผลไม้ภาคตะวันออกในฤดูกาลผลิตปีนี้ ที่ราคาผลไม้ แต่ละชนิดพุ่งทะลุเพดาน สูงเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะราชาผลไม้อย่างทุเรียน แม้ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นกว่า 15% จากปีที่ผ่านมา แต่ราคากลับพุ่งไม่หยุดเฉลี่ยราคาหน้าสวนอยู่ที่ 125-135 บาทต่อกิโลกรัม แม้ผลผลิตผลไม้ชนิดอื่นกลับลดลง ไม่ว่าจะเป็นมังคุด เงาะ หรือลองกอง แต่ราคากลับไม่ลงอย่างที่คาด จากที่ประชุมคณะทำงานจัดทำข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจของภาคตะวันออกครั้งล่าสุด (วันที่ 11 พ.ค.64) ได้ประเมินผลผลิตทุเรียน มังคุด เงาะและลองกองจาก 3 จังหวัด ประกอบด้วย จันทบุรี ระยอง และตราดนั้น ทุเรียนจะมีผลผลิตรวมทั้งสิ้น 633,467 ตันเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.17 จากปีที่แล้ว ซึ่งมีผลผลิต 550,035 ตัน ส่วนมังคุด 157,207 ตัน ลดลงร้อยละ 25.97 จากปีที่แล้ว ซึ่งมีผลผลิต 212,345 ตัน เงาะ 197,438 ตัน ลดลงร้อยละ 6.27 จากปีที่แล้ว ซึ่งมีผลผลิต 210,637 ตันและลองกอง 19,617 ตัน ลดลงร้อยละ 12.75 จากปีที่แล้ว ซึ่งมีผลผลิต 22,484 ตัน “ผลผลิตผลไม้ในปีนี้ ทุเรียนเพิ่มขึ้นประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผลไม้อื่นเช่นมังคุดหรือเงาะ ผลผลิตลดลง ส่วนลำไยยังไม่ถึงฤดู ถ้าสภาพอากาศเป็นแบบนี้ผลผลิตน่าจะใกล้เคียงกับปีที่แล้ว แต่ว่าส่วนใหญ่ทำนอกฤดูกันเยอะประมาณครึ่งต่อครึ่ง” นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เผยถึงสถานการณ์ผลไม้ภาคตะวันออกปีนี้ และยอมรับว่า ราคาผลผลิตปีนี้ดีมาก โดยเฉพาะทุเรียน เนื่องจากมีความต้องการของตลาดในต่างประเทศสูง โดยเฉพาะจีน ส่งผลทำให้ราคาทุเรียนปีนี้ค่อนข้างดีกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา “ปีนี้ผลผลิตส่งออกต่างประเทศค่อนข้างมาก มีการแย่งซื้อผลผลิตกัน ทำให้เป็นผลดีต่อเกษตรกร” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ยอมรับว่า การระบายผลผลิตจากแหล่งผลิตสู่ผู้บริโภคปีนี้ทำได้ค่อนข้างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากโครงการ Pre-Order ผลไม้ตามฤดูกาลผ่านช่องทาง E-Commerce ตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯที่ต้องการให้สหกรณ์ที่มีความพร้อมมีช่องทางใหม่ ๆ ในการจำหน่ายสินค้าเพิ่มเติมและยั่งยืน ล่าสุดมีสหกรณ์ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 23 สถาบันใน 14 จังหวัด นอกจากนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ยังได้มีการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ วงเงิน 122 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ1 ต่อปี เพื่อให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรกู้ยืมไปดำเนินธุรกิจรวบรวมและจำหน่ายผลไม้ ในปี 2564 โดยมีเป้าหมายใน 24 จังหวัด จำนวน 61 แห่ง จากทั้งหมด 31 จังหวัด 104 แห่งทั่วประเทศ ล่าสุด ( ณ 11 พ.ค.64) มีการอนุมัติและเบิกจ่ายไปแล้วจำนวน 14 แห่ง วงเงิน 54.5 ล้านบาท สหกรณ์การเกษตรเมืองขลุง จำกัด อ.ขลุง จ.จันทบุรี ถือเป็น 1 ใน 8 สหกรณ์นำร่องเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนผลไม้ในภาคตะวันออก ประกอบด้วยจันทบุรี ระยองและตราดในการเข้าร่วมโครงการ Pre-Order ผลไม้ตามฤดูกาลผ่านช่องทาง E-Commerce ในฤดูการผลผลิต 2564 โดยเฉพาะทุเรียน มีตลาดหลักอยู่ที่จีน ยุโรปและญี่ปุ่น นายสุนทร นพพรรค์ ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรเมืองขลุง จำกัด เผยถึงปริมาณผลผลิตทุเรียนที่ทางสหกรณ์มีแผนจะรวบรวมว่า ในปีนี้อยู่ที่ 5,000 ตัน เพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นหมอนทองและพวงมณี มีจำหน่ายในตลาดทั้งในและต่างประเทศ “ตลาดหลักของเรามีทั้งในและต่างประเทศ ในประเทศก็ส่งให้กับทางห้างโมเดิร์นเทรดต่างๆ อย่างเทสโก้ โลตัส ซึ่งเราทำเอ็มโอยูกันมาหลายปีแล้ว ส่วนต่างประเทศที่ผ่านมาส่งผ่านล่งรวบรวมให้กับทางบริษัทผู้ส่งออก แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่ทางราชการเปิดฟรีออร์เดอร์ทุเรียนส่งจีน ยุโรปและญี่ปุ่น โดยเฉพาะตลาดจีนนั้นตอนนี้เราส่งไปแล้วกว่า 600 ตัน ส่งล็อตแรกเมื่อวันที่ 25 เมษายน กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 21พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา” นายสุนทร ยอมรับว่า แม้ปีนี้ผลผลิตทุเรียนจะออกมาเยอะ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด จึงทำให้ราคาผลผลิตทุเรียนปีนี้ค่อนข้างดีกว่าทุกๆ ปี โดยราคาหน้าสวนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 100 บาทต่อกิโลกรัม ยิ่งช่วงนี้เข้าสู่ปลายฤดู ราคาก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 125-135 ต่อกิโลกรัม ขณะที่มังคุดปีนี้ ราคาแพงมากเช่นกัน ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ130 บาท เนื่องจากผลผลิตออกมาน้อยเช่นเดียวกับเงาะและลองกอง “ผลไม้จันทบุรีปีนี้ มังคุด เงาะ ลองกองมีน้อยมาก ส่วนทุเรียนตอนนี้แถวขลุง โซนข้างล่าง ใกล้จะหมดแล้วจากนี้ก็จะทยอยไปทางด้านบนแถวโป่งน้ำร้อน เขาคิชฌกูฏ จากนั้นก็จะลงไปทางภาคใต้” ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรเมืองขลุง จำกัด เผยข้อมูล พร้อมแจงกระบวนการแก้ปัญหาทุเรียนอ่อนของสหกรณ์ในปีนี้ว่า เป็นปีแรกที่ผลผลิตทุเรียนของสหกรณ์ขลุงไม่มีปัญหาเรื่องทุเรียนอ่อนเหมือนทุกๆ ปี เนื่องจากสหกรณ์ได้แก้ปัญหา โดยจัดทีมตัดทุเรียนเข้าไปดูแลถึงสวนสมาชิก หากสมาชิกท่านใดต้องการตัดทุเรียนส่งจำขายให้กับสหกรณ์ เพียงแค่โทรศัพท์เข้ามาแจ้ง ทางสหกรณ์ก็จะจัดทีมตัดทุเรียนไปถึงสวนสมาชิกในทันที “ที่ผ่านมาสมาชิกจะตัดทุเรียนมาส่งที่สหกรณ์เอง บางครั้งมีทุเรียนอ่อนปะปนมาด้วย จะด้วยความที่ไม่รู้ หรืออะไรก็แล้วแต่ ทำให้เกิดปัญหาตามมาสหกรณ์จะได้รับความเสียหาย ปีนี้เรามาปรับวิธีการใหม่ สมาชิกท่านใดต้องขายทุเรียนกับทางสหกรณ์ให้แจ้งมา ทางเราก็จะจัดส่งทีมตัดทุเรียนมืออาชีพไปจัดการ ให้ทันที โดยคิดค่าจ้างกิโลละ 2 บาท เพื่อเป็นค่าบริหารจัดการของสหกรณ์”นายสุนทร กล่าว อย่างไรก็ตาม เขายังเรียกร้องให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ปรับเปลี่ยนการสนับสนุนอุปกรณ์การรวบรวมผลผลิตให้เหมาะสมกับชนิดผลไม้ โดยเฉพาะเข่ง ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับผลไม้อย่างทุเรียน ขณะที่ตะกร้านั้นจะเหมาะสำหรับผลผลิตมังคุด เงาะ ลองกองหรือผลไม้ชนิดอื่น “ตะกร้าก็ยังจำเป็นจำพวกมังคุด เงาะ ลองกอง แต่ถ้าทุเรียนอยากได้เข่งมากกว่า เข่งขนาด 50 กิโล กำลังดี ไว้ใส่ทุเรียนที่เคลื่อนย้ายหรือรอขาย ไม่ใช่วางกองกับพื้นอย่างทุกวันนี้ หรือไม่ก็อาจให้สมาชิกเช่าใส่ทุเรียนเพื่อการ ขนย้ายก็ได้ เมื่อหมดฤดูทุเรียนก็นำเข่งมาคืนให้กับทางสหกรณ์”ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรเมืองขลุง จำกัด กล่าวย้ำทิ้งท้าย นับเป็นอีกก้าวของระบบสหกรณ์ไทยในฤดูการผลผลิต 2564 สำหรับการรวบรวมคำสั่งซื้อจากผู้บริโภค ทั้งในและต่างประเทศหรือ Pre-Order ผลไม้ตามฤดูกาลผ่านช่องทาง E-Commerce โดยเฉพาะทุเรียนที่มีตลาดหลักอย่างจีน ยุโรปและญี่ปุ่น