เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 25 พฤษภาคม ที่ห้องประชุมสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานทำพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง 8 หน่วยงาน ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) นครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มร.นม.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.) นครราชสีมา มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. และสมาคมโคราชจีโอพาร์คและฟอสซิล เพื่อร่วมเคลื่อนโคราชจีโอพาร์คสู่จีโอพาร์คโลกยูเนสโก คาดจะมีการประเมินเพื่อการรับรองโดยยูเนสโกในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคมปีนี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 นายศักดิ์สิทธิ์ รอง ผวจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า โคราชจีโอพาร์คเป็นโครงการสำคัญที่ได้ประกาศเป็นวาระสำคัญและอยู่ในแผนพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา ช่วง พ.ศ. 2561– 2565 เป้าหมายคือการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นแนวใหม่ตามแนวทางขององค์การยูเนสโกมุ่งหวังให้ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ ศึกษา วิจัย มรดกทางธรณีวิทยา ธรรมชาติและวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกันและเป็นเอกลักษณ์อัตลักษณ์ของชุมชุมท้องถิ่นที่ไม่เหมือนที่ใดในโลกและร่วมกันคิดวางแผนและพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยรูปแบบการท่องเที่ยวที่เรียกว่า Geotourism ซึ่งโดยความหมายจากยูเนสโกและเนชั่นแนลจีโอกราฟิก หมายถึงการท่องเที่ยวที่สนับสนุนหรือส่งเสริมลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่โดดเด่นหรือเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ ทั้งด้านธรณีวิทยา สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สุนทรียภาพ มรดก และความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนที่อาศัยอยู่ ปัจจุบันการพัฒนาจัดตั้งจีโอพาร์คทั่วโลก ได้เริ่มเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาโดยยูเนสโก ได้รับรองช่วง 16 ปีที่ผ่านมาถึง 169 แห่งใน 44 ประเทศทั่วโลก เฉพาะประเทศจีน มีจีโอพาร์คโลกมากที่สุดกว่า 40 แห่ง หากนับรวมจีโอพาร์คระดับประเทศและจังหวัดมีมากกว่า 400 แห่ง สำหรับประเทศไทยเพิ่งมีจีโอพาร์คโลกเพียงแห่งเดียวคือสตูลจีโอพาร์ค ส่วนโคราชจีโอพาร์ค หากยูเนสโกรับรองก็จะได้ชื่อว่าเป็น “ดินแดนแห่ง 3 มงกุฎของยูเนสโก” หรือ UNESCO Triple Crown ขณะนี้พื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ได้รับการประกาศรับรองมรดกโลก 2 แห่ง คือ ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่และพื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสะแกราช อ.วังน้ำเขียว ซึ่งมรดกจีโอพาร์คโลกยูเนสโก เน้นการท่องเที่ยวด้วยหากโคราชจีโอพาร์คได้รับการรับรองจะช่วยประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวท้องถิ่นไปสู่วงกว้างทั้งในระดับประเทศและสากล ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์และการบริการที่เป็นเอกลักษณ์อัตลักษณ์ สามารถสร้างงานและรายได้ให้กับชุมชนเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันมรดกทางธรณีวิทยา ธรรมชาติและวัฒนธรรมก็ได้รับการอนุรักษ์ให้คงอยู่เกิดประโยชน์ต่อลูกหลานอย่างยั่งยืน ทั้งนี้โคราชจีโอพาร์ค มีเครือข่ายความร่วมมืออยู่ก่อนแล้วหลายเครือข่าย เช่น เครือข่ายโรงเรียนจีโอพาร์ค 37 แห่ง เครือข่ายกับ ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เครือข่าย 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมือง อ.ขามทะเลสอ,อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.สูงเนิน และ อ.สีคิ้ว เครือข่ายโรงแรม-ร้านอาหาร-สมาคมผู้ประกอบการรถรับจ้าง เครือข่ายชุมชนท่องเที่ยวโคราชจีโอพาร์ค 13 แห่ง อย่างไรก็ตามเครือข่ายใหม่ 8 หน่วยงาน ที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมที่สอดคล้องกับพันธกิจของแต่ละหน่วยงาน โดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืนซึ่งหมายถึงชุมชนทั้งรุ่นปัจจุบันและอนาคตจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีความสุขและภาคภูมิใจในท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ ซึ่งบรรลุเป้าหมายของการจัดตั้งจีโอพาร์คโลกของยูเนสโก