ภาสกร จำลองราช
[email protected]
กว่า 1 ปีที่สังคมไทยต้องเผชิญกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดอย่างรุนแรง เช่นเดียวกับคนทั่วโลก อย่างไรก็ตามขณะนี้วิกฤตการณ์ในหลายประเทศเริ่มคลายตัวและมีการผ่อนปรนให้ทำกิจกรรมต่างๆได้มากขึ้น หลังจากประชาชนได้รับวัคซีน แต่ประเทศไทยกลับกำลังจมดิ่งและไม่รู้ว่าจะถึงก้นเหวเมื่อไหร่
การแพร่ระบาดของโควิดในระลอง 3 รุนแรงและเดือดร้อนกันถ้วนหน้เจนหลายคนเปรียบว่า“เผาจริง” โดยระลอกแรกที่ว่าแรงแล้วก็แค่เผาหลอก โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อยหรือคนชายขอบต่างๆ ทั้ง “ขอบเมือง”และ”ขอบชนบท” เวลานี้กำลังตกอยู่ในสภาพสะบักสะบอมและลำบากเข้าขั้น “สาหัส”
“พวกเราลำบากกันมาก ตอนนี้เหมือนตกอยู่ในสงคราม ต้องระมัดระวังตัวทุกฝีก้าว คนสลัมหาเช้ากินค่ำ พอออกไปไหนไม่ได้ ค้าขายไม่ได้ บางคนออกไปขายก็ไม่มีใครซื้อ แล้วเราจะอยู่กันอย่างไรในเมื่อไม่มีรายได้เลย” แหม่ม-นุชนาถ แท่นทอง ชาวชุมชนทองสุข ย่านแพรกษา จ.สมุทรปราการ ระบายความรู้สึก ขณะกำลังทำกับข้าวแจกจ่ายให้กับชาวบ้าน
แหม่มเติบโตมาในชุมชนแออัดหรือสลัม และยังทำงานอยู่ในเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้เห็นสภาพปัญหาอยู่ทุกวัน โดยเฉพาะในยุคที่โควิดพาดผ่านประเทศไทยททำให้คนจนๆเดือดร้อนหนักเพราะไม่มีกิน แหม่มและเครือข่ายสลัม 4 ภาค พยายามหาทุนสนับสนุนมาทำอาหารแจกจ่าย
“เราต้องทำครัวแจกเพราะชาวบ้านไม่มีรายได้เลย มีมูลนิธิแห่งหนึ่งที่ทำงานเรื่องลดขยะอาหาร ก่อนอาหารหมดอายุเขานำมาบริจาคให้ชุมชน เรานำมาปรุง ส่วนเครื่องปรุงก็มีคนเอามาช่วย ตอนแรกๆควักกระเป๋ากันเอง” แหม่มสะท้อนน้ำใจของคนจนที่เข้าถึงคนจนและไหลผ่านหลายชุมชนแออัดในกรุงเทพฯและปริมณฑล
“แม้มีคนช่วยเหลืออยู่บ้าง แต่ไม่มากเหมือนโควิดระลอกแรกเพราะผู้ประกอบการเองต่างก็เดือดร้อนเช่นกัน ยิ่งชุมชนแออัดถูกมองว่าเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ด้วย ทำให้เกิดความรู้สักกลัว และไม่มีใครอยากเข้ามาช่วยเหลือ”
นุชนาถบอกว่าทุกกวันนี้บรรยากาศในชุมชน ต่างคนต่างอยู่บ้านของตัวเอง ไม่มีใครอยากออกจากบ้านเพราะกลัวติดโควิด แม้รัฐบาลเปิดให้มีการลงทะเบียนฉีดวัคซีน แต่บางคนก็ไม่อยากฉีดเพราะไม่ไว้วางใจวัคซีนบางตัว ขณะเดียวกันชุมชนก็ต้องเฝ้าระวังและช่วยเหลือกันเอง ด้วยสภาพที่ต้องอยู่กันอย่างแออัด หากมีใครเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อก็ไม่มีห้องแยกให้กักตัว
“ พวกราเลยคิดเรื่องใช้พื้นที่ศูนย์ของชุมชนเป็นที่กักตัว หากใครเป็นกลุ่มเสี่ยงก็ให้แยกไปอยู่ เราตั้งไว้ 13 จุด พวกเราไปอบรมและเป็นอาสาสมัครคอยประสานเอง มีเครื่องวัดออกซิเจนเอง ถ้าใครที่มีเค้าว่าได้รับเชื้อโควิดแน่ เราจะแจ้งหน่วยพยาบาลให้ช่วยวินิจฉัยอีกที หรือจะส่งไปที่โรงพยาบาลสนามหรือไม่”
เมื่อถามถึงสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุน นุชนาถตอบว่า “เราพยายามทำให้เห็นว่าประชาชนพึ่งตัวเองแล้ว ดังนั้นรัฐต้องรีบเอาวัคซีนมาให้เร็วที่สุดเพื่อให้ชาวบ้านทำมาหากินได้
“ผู้ใหญ่น่ะไม่เท่าไหร่ แต่เด็กๆต่างอึดอัดเพราะไม่ได้ไปโรงเรียน พื้นที่วิ่งเล่นก็ไม่มีเพราะออกจากบ้านไม่ได้ วัคซีนเด็กก็ไม่มี”
ความเดือดร้อนของคนจนเมืองที่ผูกโยงอยู่กับการค้าขายและการรับจ้างเป็นส่วนใหญ่ เมื่อถูกตัดสายโยงกับอาชีพทั้งสอง ทำให้ต้องเดือดร้อนอย่างหนัก ยิ่งคนที่อยู่ในสถานบันเทิงด้วยแล้ว พวกเขาต้องเผชิญกับความมืดมนที่จะได้กลับเข้าไปทำงานหารายได้ เพราะธุรกิจด้านนี้ถูกมองว่าเป็นความฟุ่มเฟือย แถมยังเป็นคลัสเตอร์ในการแพร่โรคระบาดอีกด้วย
“โควิดรอบแรกเป็นระยะแรกที่สถานบันเทิงถูกสั่งปิดร้าน แต่พนักงานบริการบางส่วนยังพอมีเงินเก็บอยู่บ้าง บางคนมีทองก็ขายทอง พอโควิดระลอก 2 เราไม่เหลือเงินเก็บแล้ว พอได้รับอนุญาตให้เปิดเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วถึงเดือนมกราคมปีนี้ เรากลับไปทำงานก็ไม่มีลูกค้า พนักงานบริการทำงานยังไม่ทันได้อะไรก็ต้องหยุดอีกในระลอก 3 ผลกระทบจึงมากเพราะเราไม่มีกินแล้ว รอบแรกรัฐบาลยังจ่ายเงินเยียวยา 1.5 หมื่นบาท รอบสอง 7 พันบาท พอรอบสามเหลือเพียง 2 พัน” ไหม จันตา สรุปสถานการณ์ของเหล่าพนักงานบริการ ที่กำลังเผชิญความยากลำบาก
สถานบริการที่ไหมอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ แต่เธอและเพื่อนๆจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์หรือเครือข่ายพนักงานบริการ ก็ได้เชื่อมโยงช่วยเหลือดูแลพนักงานบริการในหลายจังหวัดใหญ่ๆ
“ตอนนี้ติดต่อกับเพื่อนๆในต่างจังหวัดราว 600 คน เพื่อช่วยเหลือกัน บางคนลำบากมากเพราะต้องหาเงินเลี้ยงครอบครัวและจ่ายค่าเช่าบ้าน อย่างกลุ่มแถวคลองหลอดในกรุงเทพฯส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัดที่เข้าไปทำมาหากินและเช่าห้องอยู่ ตอนโควิดรอบแรกเขายังพอทำงานได้ แต่พอมารอบนี้ทำงานไม่ได้เลย ”
ไหมบอกว่าโควิดรอบ 3 มันใกล้ตัวมาก จนกลุ่มพนักงานไม่กล้าไปทำงานจากที่เคยรับงานทางออนไลน์ แต่บางส่วนก็กลัวอดมากกว่าโควิด
“ในรอบ 3 คือ รัฐยังเยียวยาแบบเดิม กลุ่มที่ถูกทิ้งคือกลุ่มแรงงานข้ามชาติและชาติพันธุ์ และรัฐเลือกที่จะปิดสถานบริการหรือสถานบันเทิงนานที่สุดในทุกๆรอบ และรอบนี้ก็เหมือนกัน เพราะเกิดคลัสเตอร์ ใหญ่ๆ ที่คริสตรัลคลับ ทำให้พนักงานบริการเราเลยเป็นแพะในสังคมที่มองว่าเป็นแหล่งแพร่เชื้อ”
ความเดือดร้อนที่เพิ่มทวีขึ้นของคนจนเมืองไม่แตกต่างจากคนจนในชนบทเพราะมาตรการต่างๆส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ โดยสนิท แซ่ชั่ว ชาวเลในหมู่บ้านราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต สะท้อนว่า
“ช่วงนี้ขายปลายากอีกแล้วตั้งแต่ปิดเมือง เขาให้เข้าเฉพาะคนที่ตรวจโควิดหรือฉีดวัคซีนแล้ว ถ้าใครไม่ฉีดไม่ให้เข้าภูเก็ต ตอนนี้เลยไม่มีร้านอาหารเปิด ปลาเลยขายไม่ได้ ชาวบ้านมีปัญหาเรื่องขาดแคลนข้าวเหมือนเดิม”สนิทบอกถึงสถานการณ์ที่วนกลับมา แต่ครั้งนี้สาหัสกว่า
เมื่อต้นปีที่แล้วช่วงที่รัฐบาลออกมาตรการรับมือโควิดระลอกแรก ชาวเลได้รับความเดือดร้อนมากเพราะแหล่งรายได้หลักมาจากการหาปลา แต่เมื่อนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะต่างชาติถูกห้ามเดินทาง ทำให้ไม่มีตลาดสำหรับขายปลา ในที่สุดจึงเกิดโครงการ “ข้าวแลกปลา” โดยนำปลาที่ชาวเลหาได้ไปแลกข้าวของชาวกะเหรี่ยงที่มีความมั่งคั่งเรื่องข้าว
“ตอนเดือนเมษายนมีข่าวว่าชาวเลราไวย์ติดโควิด แต่พอไปตรวจดูแล้วเขาไม่ได้เป็นชาวเล เขามีบ้านอยู่แถวแหลมพรหมเทพ แต่ตอนนี้รัฐบาลเลยเร่งฉีดวัคซีนให้ชาวลาไวย์ ตอนนี้ฉีดเข็มแรกไปเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ฉีดไปได้ประมาณ 60% ของคนในหมู่บ้าน และจะฉีดเข็มสองในวันที่ 28 เดือนนี้”
เมื่อถามถึงความจำเป็นเร่งด่วน สนิทบอกว่า “ข้าวสาร”เพราะชาวบ้านไม่มีรายได้ แถมตอนนี้ยังหาปลาได้น้อยเนื่องจากเป็นฤดูมรสุม ทำให้ต้องลำบาก
“ชาวเลเราหาเช้ากินค่ำและไม่มีเงินเก็บ ตอนโควิดรอบแรกหนักๆ คนที่ออกไปหางานทำที่อื่นก็ทยอยกลับมาอยู่หมู่บ้าน ทำให้ตอนนี้คนเยอะมากขึ้นราวๆ 1,223 คน รัฐมีแผนเรื่องฉีดวัคซีนอย่างเดียว แต่แผนช่วยเหลืออื่นๆยังไม่มี ในเบื้องต้นเราอยากให้พัฒนาสังคมจังหวัดช่วยเหลือเรื่องอาหารการกินก่อน” สนิทสะท้อนปัญหาเร่งด่วนของชาวเล ซึ่งนอกจากชาวเลราไวย์แล้ว ชาวเลตามเกาะต่างๆก็ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน คือขาดแคลนข้าวสาร
คนชายขอบอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงคือกลุ่มแรงงานข้ามชาติ หรือที่รัฐบาลเรียกว่าแรงงานต่างด้าวโดยลูกจ้างกลุ่มนี้ถูกมองอย่างหวาดระแวงตั้งแต่ตกเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ที่เมืองมหาชัยและตอนนี้ได้แพร่ไปยังโรงงานต่างๆ ขณะที่ขบวนการค้ามนุษย์ยังคงทำงานอย่างได้ผล โดยสามารถขนคนจากชายแดนมาส่งตามเมืองต่างๆซึ่งเท่ากับกระจายเชื้อโควิดไปด้วย แต่แทนที่ขบวนการสูบเลือดมนุษย์พวกนี้จะถูกจัดการอย่างเด็ดขาด กลับกลายเป็นว่าวิกฤตโควิดคือโอกาสทอง
“ถามว่าแรงงานเหล่านี้พูดภาษาไทยไม่ได้ แต่ทำไมเขาสามารถเข้ามาถึงกรุงเทพ มหาชัย ปทุมธานี สมุทรปราการ ถ้าไม่มีคนพามา ทุกวันนี้ยังมีแรงงานจากข้างนอกแอบเข้ามาเรื่อยๆเพราะสถานการณ์ความไม่สงบในพม่า เขาจึงหนีเข้ามาไทย เขามีช่องทางเข้ามา””ออง ทู(นามสมมุติ) แรงงานชาวพม่าตั้งคำถามที่หาคำตอบได้ไม่ยาก เพราะคนในสังคมจำนวนไม่น้อยต่างก็รู้ว่า ขบวนการค้าคนเหล่านี้ หากไม่ใช่ “คนมีสี”และเจ้าหน้าที่รัฐอีกบางหน่วยคอยเอื้ออำนวยหรือร่วมอยู่ในขบวนการก็คงไม่สามารถขนคนทะลุทะลวงมาจนถึงใจกลางของบ้านเมืองได้
“พวกเราเห็นอยู่ว่ามีเพื่อนคนงานหน้าใหม่ๆเข้ามา เราเองก็กลัวโควิด แต่เราพูดอะไรไม่ได้ จะแจ้งเจ้าหน้าที่รัฐก็รู้สึกหวาดกลัว เราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร”ออง ทู เห็นถึงความเคลื่อนไหวของขบวนการค้ามนุษย์มาโดยตลอด การทุจริตฉ้อฉลของระบบราชการเป็นตัวหนุนเสริมให้โควิดแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว แม้ล่าสุดรัฐบาลจะตั้งท่าเอาจริงเอาจังโดยห้ามเคลื่อนย้ายแรงงาน แต่ดูจะไม่ทันการณ์
“พวกเรายังต้องอยู่กันอย่างแออัด หน้ากากและแอลกอฮอล์ล้างมือก็มีบ้าง ไม่มีบ้าง แม้พวกเราพยายามเซฟตัวเอง แต่ครั้งนี้ก็ไม่รู้ป้องกันอย่างไร หลายพื้นที่ที่ติดเชื้อเป็นชุมชนแออัดและติดกันเยอะมาก”
ประเด็นที่ออง ทู พูดถึงการอยู่กันอย่างแออัด เป็นเรื่องที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันโดยตลอดเพราะสะท้อนคุณภาพชีวิตอันย่ำแย่ของแรงงานข้ามชาติ และกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงของการแพร่ระบาดของโควิด แต่ทุกวันนี้กลับไม่ได้รับการแก้ไข แตกต่างจากประเทศสิงคโปร์ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องที่พักของคนงานข้ามชาติมากถึงขนาดสร้างหอพักใหม่พร้อมกับยกเครื่องคุณภาพชีวิตของคนงานข้ามชาติซึ่งเขาให้เกียรติมองว่าเป็นผู้ที่เข้าไปพัฒนาประเทศ
“เราพักกันอยู่ในชุมชนแห่งหนึ่งที่มีแต่แรงงานข้ามชาติ เพื่อนผมครอบครัวหนึ่งทำงานอยู่ในโรงงานแถวบางนาตราด พอเขาได้รับเชื้อโควิดและติดเมียซึ่งทำงานอยู่ในโรงงานแถวนิคมอุตสาหกรรมบางพลี ทำให้คนงานแถวนั้นอีก 4-5 แห่งได้รับเชื้อไปด้วย และกลายเป็นคลัสเตอร์ใหญ่” ออง ทู เล่าถึงประสบการณ์ที่พบเหตุการณ์แพร่ระบาด
วิถีชีวิตของแรงงานข้ามชาติในชุมชนต่างๆเป็นไปในลักษณะคล้ายกัน ซึ่งคนกลุ่มนี้มีนับนับล้านคนที่ทำงานอยู่ในสังคมไทย แต่การแก้ไขปัญหาของภาครัฐกลับยังไม่ตรงจุด
“ที่น่าเป็นห่วงสุดคือเมื่อเป็นโควิดแล้วพวกเราจะรักษาที่ไหน ทุกวันนี้ไม่มีใครให้ความรู้ ไม่มีใครแนะนำ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับนายจ้าง แม้บางโรงงานมีการประชาสัมพันธ์ให้คนงานรับรู้อยู่บ้าง แต่ยังน้อยมาก ที่สำคัญหากพวกเราต้องหยุดงาน 14 วันเพื่อกักตัวหรือรักษาตัว เราไม่ได้รับค่าจ้าง ใครที่ติดเชื้อต้องรับผิดชอบตัวเอง บางคนพอกักตัวเสร็จต้องตกงานทันทีเพราะนายจ้างไม่รับเข้าทำงานแล้ว แถมเจ้าของบ้านเช่าก็ไม่ให้อยู่ต่ออีกเพราะกลัวเราจะแพร่โรคเช่นกัน”
เมื่อถามถึงความต้องการช่วยเหลือเร่งด่วนคืออะไร ออง ทู บอกว่าอยากให้รัฐบาลเจรจากับเจ้าของที่พักอาศัยเพื่อให้ลดค่าเช่าห้อง หรือรัฐช่วยประสานลดค่าน้ำค่าไฟให้บ้าง
“เชื่อมั้ยพวกเราส่งเงินสมทบให้สำนักประกันสังคมทุกเดือน แต่เราไม่เคยได้ใช้ประกันว่างงานเลย พอเราตกงานหากไม่มีนายจ้างใหม่ใน 1 เดือนก็ถือว่าเราอยู่อย่างผิดกฎหมายแล้ว เราไม่มีโอกาสได้ใช้ประกันว่างงาน”
เมื่อถามว่าแรงงานข้ามชาติได้รับการติดต่อให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดบ้างหรือไม่ ออง ทู บอกว่ายังไม่เคยได้ยินจากทางการ แต่บางโรงงานก็ให้คนงานลงทะเบียนไว้ บางโรงงานนายจ้างก็เก็บเงินจากลูกจ้างโดยบอกว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการประสานงานเรื่องวัคซีน
วันนี้ออง ทู ยังคงต้องทำงานอยู่ในโรงงานด้วยใจระทึกท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิดในหมู่แรงงานข้ามชาติ ขณะที่แหม่ม-นุชนาถ และชาวสลัมที่ต้องหลบอยู่แต่ในบ้านพร้อมกับความขาดแคลน เช่นเดียวกับชาวเลที่แม้ยังพอหาปลาได้แต่กลับไม่มีข้าวสาร สถานการณ์อันฝืดเคืองที่ไม่แตกต่างกันเลยกับพนักงานบริการ
คำถามที่ชวนใคร่ครวญหาคำตอบเพื่ออนาคตก็คือ “เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร” และ ทำไมคนเล็กคนน้อยในสังคมถึงต้องเผชิญวิกฤตอันยากลำบากได้ถึงขนาดนี้
ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 เก่งจนสามารถปรับตัวและพัฒนาสายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว หรือเราได้รัฐบาลห่วยแตก ทำงานย่ำอยู่กับที่จนตามไม่ทันเชื้อไวรัสกันแน่