มีความเป็นไปได้มากที่สุด รถไฟเร็วสูงกรุงเทพฯ – หนองคาย จะ “มุดใต้ดิน หรือ เปลี่ยนทางวิ่ง” เพื่อลดผลกระทบอาจเกิดความเสียหายต่อมรดกโลกอยุธยา
24 พ.ค. 64 นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ภายหลังการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติด้วยว่าอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ครั้งที่ 1/2564 ผ่านระบบเครือข่ายการประชุมทางไกล โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ประชุมได้มีการนำเสนอข้อคิดเห็นของคณะอนุกรรมการมรดกโลกซึ่งสอดคล้องกับแนวความเห็นของคณะอนุกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมในการพิจารณาร่างขอบเขตการศึกษาประเมินผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของแหล่งมรดกโลก กรณีโครงการรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพฯ–หนองคาย มีแนวเส้นทางการดำเนินงานผ่านพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีความห่วงใยถึงผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลกอยุธยา จึงได้มีการประเมินผลกระทบของโครงการรถไฟความเร็วสูงที่มีต่อแหล่งมรดกโลก ทั้งผลกระทบต่อองค์ประกอบของเมืองประวัติศาสตร์และโบราณสถานต่างๆ เพื่อส่งต่อให้การรถไฟแห่งประเทศไทย กระทวงคมนาคมรับไปดำเนินการต่อไป
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้กรมการขนส่งทางรางได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีข้อเสนอ 5 แนวทางในการดำเนินการ ประกอบด้วย
แนวทางที่ 1 ให้รับข้อเสนอการก่อสร้างเส้นทางรถไฟ โดยให้ก่อสร้างใต้ดินซึ่งจะต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายจำนวนกว่า 10,000 ล้านบาท และต้องขยายเวลาการก่อสร้างโดยล่าช้าไปอีก 5 ปี
แนวทางที่ 2 เป็นการเปลี่ยนเส้นทางใหม่ โดยให้อ้อม จ.พระนครศรีอยุธยาออกไป โดยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในค่าชดเชยและค่าก่อสร้างราว 20,000 ล้านบาท และขยายเวลาไปอีกประมาณ 7 ปี
แนวทางที่ 3 ให้ก่อสร้างสถานีก่อนถึงตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ใน อ.บ้านโพธิ์ หรือบ้านม้า โดยจะต้องพิจารณาถึงแผนการยกระดับเส้นทางรถไฟที่สูงขึ้น 20 เมตร ตามที่ผ่านการพิจารณามาเบื้องต้นแล้ว
แนวทางที่ 4 ให้แก้ผังเมืองเป็นการเฉพาะโดยทำตามแบบ
และแนวทางที่ 5 ให้สร้างทางรถไฟไปก่อน และค่อยสร้างสถานีในภายหลัง
“ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีความเห็นว่าแนวทางที่ 1 และ 2 น่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด ขณะที่แนวทางที่ 3,4 และ5 มีข้อห่วงใยในแง่ของผลกระทบถึงการยกระดับเส้นทางรถไฟที่สูงขึ้น 20 เมตรผ่านมรดกโลกพระนครศรีอยุธยา ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากแนวทางที่1 และ2 เป็นหมื่นล้านบาทนั้นเป็นการประมาณการเบื้องต้น และแม้ค่าใช้จ่ายจะมากแต่ก็ต้องทำเพื่อไม่ให้มีผลระทบและเกิดความเสียหายต่อมรดกโลก โดยที่ประชุมได้ย้ำถึงการศึกษาผลกระทบด้านมรดกศิลปวัฒนธรรมเป็นสำคัญ ซึ่งต้องใช้เวลาศึกษาให้แล้วเสร็จภายในเวลา 180 วัน เป็นอย่างน้อย เพื่อเสนอต่อให้คณะกรรมการแห่งชาติด้วยว่าอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกพิจารณาอีกครั้ง ถือเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญในนามประเทศไทย ก่อนที่จะทำรายงานเสนอไปยังที่ประชุมศูนย์มรดกโลก ทั้งนี้ผลการศึกษาผลกระทบอาจจะส่งไปยังประชุมศูนย์มรดกโลกไม่ทันในปีนี้” นายประทีป อธิบดีกรมศิลป์ กล่าว