เมื่อวันที่ 24 พ.ค. นายปนิธิ เสมอวงษ์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ เปิดเผยว่า ถึงแม้ว่ากรมอุตุนิยมวิทยา ได้มีประกาศว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ช่วงฤดูฝนอย่างเป็นทางการตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมานั้น อย่างไรก็ตาม ปริมาณฝนตกในช่วงนี้ก็ยังคงเป็นฝนที่ตกในปริมาณเล็กน้อยถึงปานกลาง และยังตกไม่กระจายตัวในทุกพื้นที่ อีกทั้ง สภาพอากาศในช่วงนี้ของประเทศไทย พบว่า ในหลายๆ พื้นที่ มีสภาพอากาศที่ค่อนข้างร้อนถึงร้อนมากในช่วงตอนกลางวัน ทั้งนี้ จากข้อมูลแผนที่อากาศผิวพื้นของกรมอุตุนิยมวิทยา ณ เวลา 01.00 น. พบว่า ร่องมรสุมหรือร่องฝน ได้มีการพาดผ่านบริเวณพื้นที่ภาคเหนือด้านตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย ประกอบกับในช่วงนี้มีการเกิดพายุดีเปรสชั่นที่บริเวณอ่างเบงกอล ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนที่และพัฒนาตัวเป็นพายุไซโคลนพัดไปทางประเทศอินเดีย และจะส่งผลทำให้ลมมรสุมที่พัดปกคลุมบริเวณพื้นที่ภาคใต้ และบริเวณอ่าวไทย รวมถึงฝนและลมในพื้นที่ภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ในส่วนของข้อมูลการขอรับบริการฝนหลวง (23 พ.ค.64) พบว่า มีจำนวนรวม 279 แห่ง ครอบคลุม 52 จังหวัด 217 อำเภอ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีการขอรับบริการฝนหลวงมากที่สุด จำนวน 68 แห่ง ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังคงจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 13 หน่วยฯ ทั่วภูมิภาค รวมถึงเตรียมความพร้อมในการติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน และพร้อมที่จะขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงทันที หากสภาพอากาศเอื้อต่อการปฏิบัติการ ซึ่งการปฏิบัติการฝนหลวง กรมฝนหลวงฯ ได้รับการสนับสนุนอากาศยานและกำลังพลจากกองทัพอากาศและกองทัพบก ในการร่วมปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ที่มีความต้องการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อพี่น้องประชาชน โดยผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 6 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.ลำปาง ตาก กำแพงเพชร อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ อุดรธานี สามารถเพิ่มปริมาณน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนจำนวน 4 แห่ง และอ่างเก็บน้ำกระเสียว จ.อุทัยธานี นายปนิธิ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการติดตามสภาพอากาศในช่วงเช้าวันนี้ จากผลการตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์ทั่วทุกภูมิภาค พบว่า มีบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง ในเช้าวันนี้จึงมีการวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการ จำนวน 3 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ได้แก่ -หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ลำปาง และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนแม่กวงอุดมธารา และเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล -หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.พิษณุโลก ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.อุตรดิตถ์ และจ.พิษณุโลก -หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.อุดรธานี ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.สกลนคร บึงกาฬ นครพนม และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนน้ำอูน อย่างไรก็ตาม อีก 10 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ยังคงติดตามสภาพอากาศตลอดทั้งวัน โดยหากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายต่อไป และพี่น้องเกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account : @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100