รัฐ-เอกชน ร่วมเสนอแนวทางส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศด้วยไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศจากภาคขนส่ง พร้อมแนะรัฐเร่งประชาสัมพันธ์แผนงานต่าง ๆ สร้างความเข้าใจทั้งภาคผู้ผลิตและผู้บริโภค
Techsauce ร่วมกับ Bosch Thailand จัดงานเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “นำพาอากาศสะอาดสู่ภาคการขนส่งไทย” ระดมกำลังภาครัฐและเอกชนหาทางออกให้คนไทยกลับมาสูดอากาศบริสุทธิ์ได้อีกรั้ง จากเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของ โดยมีนายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ นายจักรกฤช ตั้งใจตรง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก นายวฤต รัตนชื่น ผู้อำนวยการฝ่ายแผนยุทธศาสตร์ และผู้อำนวยการโครงการ EGAT Proventure การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายชยุตม์ จัตุนวรัตน์ Investment Manager & Venture Lead-Incubation บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และนฤมล นวลปลอด Head of Strategy, Marketing and Sales, BOSCH Mobility Solutions SEA
นายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า มลพิษทางอากาศมีแหล่งกำเนิดจากหลายแห่งทั้งการจราจร โรงงานอุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่ง ซึ่งที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษได้แจกจ่ายระบบวัดดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI Data) ในส่วนของกรมควบคุมมลพิษกว่า 70 แห่ง ในพื้นที่ 40 จังหวัดทั่วประเทศ และเครือข่ายความร่วมมือในพื้นที่กรุงเทพฯ กว่า 50 สถานี เพื่อตรวจสอบ เฝ้าระวังคุณภาพอากาศ และรายงานผลให้ประชาชนได้รับทราบผ่านช่องทางต่าง ๆ แบบรายชั่วโมง อาทิ แอปพลิเคชัน เฟซบุ๊กแฟนเพจของกรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานท้องถิ่น ทั้งนี้ความสำเร็จในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมควบคู่กับการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยลดมลภาวะ
ด้านนายจักรกฤช ตั้งใจตรง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า บทบาทในการจัดการมลพิษทางอากาศในภาคการขนส่งทางถนนของกรมการขนส่งทางบกแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ การกำหนดมาตรฐานและตรวจสอบระดับมลพิษในเครื่องยนต์แต่ละประเภทก่อนจดทะเบียนรถ และมาตรการตรวจจับควันดำหลังการจดทะเบียนรถ ส่วนการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อยู่ระหว่างการแก้ไข พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 ในการปรับปรุงการคิดอัตราภาษีประจำปีตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ cc ของเครื่องยนต์ รวมถึงนโยบายยกเว้นภาษีประจำปีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนก่อนปี 2573 ในช่วง 3 – 5 ปีแรก เพื่อกระตุ้นให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศมากขึ้น
นายวฤต รัตนชื่น ผู้อำนวยการฝ่ายแผนยุทธศาสตร์และผู้อำนวยการโครงการ EGAT Proventure กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. มีความมุ่งมั่นส่งเสริมระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) เพื่อให้ประเทศไทยมีอากาศสะอาดและส่งเสริมภาคขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการวิจัยพัฒนาดัดแปลงรถยนต์เก่าเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ส่งเสริมวินจักรยานยนต์ไฟฟ้า ขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ชื่อว่า “EleX by EGAT” ภายในสถานีบริการน้ำมันร่วมกับพันธมิตรในเส้นทางหลักทุก ๆ 200 กิโลเมตร รวมถึงการพัฒนาหัวชาร์จอีวีแบบเร็วฝีมือคนไทย เพื่อสนับสนุนให้การเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศเกิดขึ้นโดยเร็ว ส่วนการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดปัจจุบันไม่ใช่เรื่องของอากาศที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยหนุนดึงดูดนักลงทุนด้วย กฟผ. จึงมีแผนการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ลอยน้ำแบบไฮบริดในเขื่อนของ กฟผ. โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อน การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน และธุรกิจซื้อขายใบรับรองเครดิตพลังงานหมุนเวียน ซึ่งในอนาคตภาคการผลิตไฟฟ้าจะเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้น
ด้านนายชยุตม์ จัตุนวรัตน์ Investment Manager & Venture Lead-Incubation บมจ. ปตท. กล่าวว่า ภายในปี 2565 ปตท. มีเป้าหมายจัดตั้งจุดบริการชาร์จอีวีภายในสถานีบริการน้ำมันของ ปตท. ประมาณ 300 แห่ง และขุดบริการภายนอกอีก 200 แห่ง รวมถึงเล็งจัดตั้งจุดสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Swap Battery) มอเตอร์ไซดืไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ อีก 20 จุด เพื่อส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ ปตท. ยังจัดทำโครงการ Renewable Energy Acceleration Platform : ReAcc เพื่อเป็นแพลตฟอร์มสำหรับบริษัทหรือผู้บริโภคที่ต้องการเลือกซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด และสนับสนุนชุมชนแต่ละพื้นที่ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดก่อให้เกิดรายได้ซึ่งนับเป็นการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
ส่วนนางสาวนฤมล นวลปลอด Head of Strategy, Marketing and Sales, BOSCH Mobility Solutions SEA กล่าวว่า ทาง BOSCH Thailand ก็ได้สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดด้วยการศึกษาและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า เกี่ยวกับระบบส่งกำลังไฟฟ้าที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 15% นอกจากนี้ยังมีการนำระบบ AI และ IoT เข้ามาช่วยในการคิดค้นนวัตกรรมอย่างกล่องตรวจสอบสภาพมลภาวะ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาประมวล วิเคราะห์เพื่อบริหารจัดการเมืองในการลดมลภาวะทางอากาศ ดังนั้นภาครัฐต้องเตรียมการและประชาสัมพันธ์แผนงานต่าง ๆ ให้เกิดความชัดเจนในวงกว้าง เช่น แผนการใช้งานยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ หรือการคาดการณ์ความพร้อมของประเทศไทยในการรองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทั้งในส่วนของผู้ผลิต ผู้ให้บริการ และผู้รับบริการ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้