เมื่อวันที่ 23 พ.ค.นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันโดยการนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สานต่อแนวทางการพัฒนาระบบสวัสดิการเพื่อผู้มีรายได้น้อยและประชาชนกลุ่มเปราะบาง ตามนโยบาย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” โดยเฉพาะการช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้มีรายได้น้อย 14.6 ล้านคน เช่น การซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารรถสาธารณะ โดยในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวเมื่อปี 2562 รัฐบาลได้จ่ายเงินเพิ่มให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ เป็นเวลา 2 เดือน เพื่อพยุงการบริโภคของประชาชน 500 บาท/คน/เดือน ช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ถือบัตร 500 บาท/คน/เดือน ช่วยเหลือการเลี้ยงดูบุตรของผู้ถือบัตร 300 บาท/คน/เดือน
นอกจากนี้ ยังออกมาตรการช่วยเหลือต่อเนื่องเป็นเวลา 12 เดือน คือ มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าให้กับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 230 บาท/ครัวเรือน/เดือน มาตรการบรรเทาภาระค่าน้ำประปาให้กับผู้ที่ใช้น้ำไม่เกิน 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน และมาตรการชดเชยเงินจากภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อผู้ถือบัตรจ่ายค่าสินค้าหรือบริการผ่านบัตรสวัสดิการฯ โดยโอนเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งพักชำระหนี้แก่ผู้ถือบัตรเป็นเวลา 2 ปี และยกระดับร้านค้าธงฟ้าพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น มีผู้ประกอบการเข้าร่วมกว่า 121,000 ราย เกิดการใช้จ่ายผ่านบัตรมากกว่า 90,000 ล้านบาท
ส่วนในปี 2563 ในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาด รัฐบาลได้จ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ 3,000 บาท/คน และเพิ่มวงเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคระยะที่ 1 อีก 500 บาท/คน/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน จากนั้นในปี 2564 ผู้ถือบัตรยังได้รับเงินช่วยเหลือ 7,000 บาท/คน ตามโครงการเราชนะ และได้รับวงเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคระยะที่ 2 อีก 500 บาท/คน/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน
สำหรับประชาชนกลุ่มเปราะบาง รัฐบาลจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได ตั้งแต่ 600 – 1,000 บาท/คน/เดือน ปรับเบี้ยความพิการ ระยะที่ 1 จาก 800 บาท/เดือน เป็น 1,000 บาท/เดือน และระยะที่ 2 กำหนดอัตราเบี้ยขั้นต่ำ 1,000 บาท/เดือน และสูงสุด 2,270 บาท/เดือน (กรณีที่มีความยากลำบากทางการเงินให้สมทบเพิ่ม 1,200 บาท/เดือน และกรณีที่มีความพิการระดับรุนแรง สมทบเพิ่ม 1,870 บาท/เดือน) และยังจ่ายเงินอุดหนุนตามโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 600 บาท/คน/เดือน จนอายุครบ 6 ปี โดยในปี 2563 ได้เพิ่มกรอบวงเงินงบประมาณจากปีก่อนหน้าถึง 7,390.87 ล้านบาท นอกจากนี้ ประชาชนกลุ่มเปราะบางทั้งเด็ก ผู้พิการ และผู้สูงอายุ ยังได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาดอีกคนละ 3,000 บาท อีกด้วย