สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันยังคงมีความรุนแรงและไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะยุติเมื่อใด ซึ่งการที่จะให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ทางออกคือต้องให้ประชาชนได้รับวัคซีน เพื่อสร้างความคุ้มกันหมู่ให้เร็วที่สุด
ล่าสุด ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า.. โควิต 19 การระบาดของโรค จุดเริ่มต้นถึงแม้ว่าจะออกจากประเทศจีนเข้าสู่เอเชีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย มีการควบคุมโรคได้เป็นอย่างดียิ่ง ด้วยมาตรการต่างๆ
โรคได้ไประบาดอย่างมากในตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกา ลงสู่ลาตินอเมริกา ในอเมริกา ยุโรป มีการระบาดอย่างหนัก
เมื่อเริ่มมีการใช้วัคซีนตั้งแต่ปลายปี จะเห็นได้ว่ากว่าจะควบคุมโรคได้ให้ลดลง ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4 เดือน
ในขณะนี้การระบาดในอเมริกา อังกฤษ อยู่ภายใต้การควบคุม และระบบสาธารณสุขสามารถรองรับได้ โรคได้ย้อนกลับมายังเอเชีย อีกครั้งหนึ่งโดยเฉพาะที่ประเทศอินเดีย และรอบข้าง มีการระบาดอย่างหนัก รวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศไทย
บทเรียนจากทางยุโรปและอเมริกา ในการควบคุมโรคด้วยวัคซีน ต้องให้เร็วและครอบคลุมให้มากที่สุด แม้กระทั่งในอเมริกาเอง ใช้เวลาร่วม 5 เดือนแล้ว อัตราการครอบคลุมยังอยู่ที่ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็เริ่มเห็นผลว่ามีการควบคุมโรคได้เป็นอย่างดี
ประเทศไทยเพิ่งเริ่มให้วัคซีน ขณะนี้ครอบคลุมเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ จะต้องทำให้ได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ภายใน 4 เดือน เราจึงจะเห็นผล การให้วัคซีนจะต้องปูพรมไปก่อน ครอบคลุมให้ได้มากที่สุด ด้วยวัคซีนที่เรามีอยู่ AstraZeneca และตาม ด้วยการกระตุ้นเข็ม 2
ในขณะเดียวกันเราก็จะต้องพยายามหาวัคซีนอื่นๆเพิ่มเติมมาอีก เพราะในอนาคตอันใกล้นี้ จำเป็นจะต้องมีการกระตุ้น ให้ภูมิสูงอยู่ตลอดเวลา หรือปรับเปลี่ยน วัคซีนให้เหมาะสมกับการกลายพันธุ์ของไวรัส
การติดตามภูมิต้านทานในประชากรไทยที่ได้รับวัคซีน มีความจำเป็นอย่างยิ่ง และจะต้องประเมินประสิทธิภาพ ในการป้องกัน ในบริเวณที่มีการระบาด ศึกษาแนวทางการกระตุ้นในเข็มที่ 3 เพื่อให้คงสภาพภูมิที่สูงอยู่ตลอดเวลา ใช้ในการป้องกันระยะยาวต่อไปมีความจำเป็น ที่จะต้องเริ่มทำการศึกษา
สิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องทำการศึกษา คือการสลับปรับเปลี่ยนชนิดหรือยี่ห้อของวัคซีน เพราะขณะนี้เราเริ่มเห็นปัญหา เช่นนักเรียนหรือผู้ที่จะเดินทางไปยุโรปหรืออเมริกา ยังไม่แน่ใจว่าจะยอมรับวัคซีนจีนหรือไม่ ถ้าไม่ยอมรับเราจะฉีดวัคซีนเพิ่มเติมหรือมีการสลับปรับเปลี่ยนชนิดของวัคซีนที่กำลังฉีดอยู่ได้หรือไม่ คนที่แพ้วัคซีนเข็มแรก เข็มที่ 2 ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนชนิดวัคซีน
หรือในอนาคตที่มีวัคซีนหลายยี่ห้อมา ถ้าต้องการกระตุ้นในคนที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว จะสามารถทำได้อย่างไร ข้อมูลทั้งหมดจะต้องรีบทำการศึกษาเพื่อนำมาใช้ในประเทศของเรา