นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าวปิดโรงงานน้ำแข็งในพื้นที่เขตจตุจักร หลังพบคลัสเตอร์คนงานติดโควิด-19 นั้น ขอแนะนำประชาชนอย่าเพิ่งตระหนกกับประเด็นดังกล่าว เนื่องจากกระบวนการผลิตน้ำแข็งก้อน น้ำแข็งบด ต้องใช้น้ำที่สะอาดมาผลิตตามพ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 กำหนดต้องได้มาตรฐานตามคุณภาพน้ำดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิท โดยผู้ผลิตจะเลือกใช้น้ำบาดาลหรือน้ำประปาที่ได้ผ่านการปรับปรุงและฆ่าเชื้อโรคด้วยคลอรีนแล้ว เมื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตจะมีกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำอีกชั้นหนึ่งเพื่อให้ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งการกรองชนิดหยาบ จนถึงชนิดละเอียดมาก ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถกำจัดเชื้อโรคทั้งแบคทีเรีย ไวรัสได้ และยังมีระบบฆ่าเชื้อโรค ทั้งการผ่านแสง UV เติมโอโซน
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ควบคุมการผลิตน้ำแข็งเพื่อจำหน่ายในเรื่องคุณภาพมาตรฐานต่างๆ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 78 (พ.ศ.2527) และฉบับที่ 137 (พ.ศ.2534) เรื่องน้ำแข็ง เพื่อกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน กรรมวิธีการผลิต การใช้น้ำในการผลิต สถานที่เก็บรักษาน้ำแข็ง การใช้ภาชนะบรรจุน้ำแข็ง ตลอดจนการแสดงฉลาก ต้องมีวิธีการผลิตที่ถูกสุขลักษณะ ต้องมีการควบคุมกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับข้อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต หรือจีเอ็มพี เพื่อลดปัญหาการปนเปื้อน
นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า มาตรฐานการผลิตและกฎหมายที่บังคับทำให้น้ำแข็งที่ผ่านระบบการผลิตออกมาปลอดภัยจนถึงการบรรจุ โดยเฉพาะน้ำแข็งหลอดที่มีกระบวนการทำให้น้ำเป็นน้ำแข็งภายในเครื่องผลิตน้ำแข็งหลอดระบบปิด ตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (Good Manufacturing Practice หรือ GMP) ซึ่งจะไม่มีคนงานเข้าไปเกี่ยวข้องจนกว่าจะบรรจุเสร็จ สำหรับน้ำแข็งซอง เป็นกระบวนการแช่น้ำให้แข็งตัวโดยสารทำความเย็น เช่นแอมโมเนีย จากนั้นถึงมีการถอดซองออก ไม่มีการบรรจุ แต่จะฉีดน้ำล้างทำความสะอาดภายนอก ตัดเป็นก้อนแล้วนำส่ง หรือบดบรรจุถุงหรือกระสอบเพื่อส่งขายต่อไป จากกระบวนการผลิตดังกล่าวน้ำแข็งซองนั้นมีระยะเวลาตั้งแต่การถอดซองจนถึงจำหน่ายที่มีโอกาสสัมผัสคนงาน ดังนั้น การคัดกรองคนงานในโรงงานทุกวันจะลดโอกาสที่จะปนเปื้อนเชื้อโควิคได้
“ทั้งนี้ ขอความร่วมมือให้โรงงานน้ำแข็งทุกแห่งต้องยกระดับมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรคโควิด-19 ด้วยการคัดกรองผู้ปฏิบัติงานก่อนมาทำงานในระดับเข้มข้น โดยเจ้าของโรงงานประเมินมาตรการสถานประกอบการผ่านแพลตฟอร์มThai Stop COVID Plus ส่วนคนงานให้ประเมินตนเองผ่านเว็บไซต์ “ไทยเซฟไทย” เพื่อช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 สู่เพื่อนร่วมงานก่อนเข้ามาทำงานทุกวัน ลดความแออัดหรือความหนาแน่นบริเวณที่ปฏิบัติงาน ในส่วนของที่พักคนงาน ให้หลีกเลี่ยงการรวมกลุ่ม ควบคุมความสะอาดของที่พักให้ได้มาตรฐาน หากมีรถรับ-ส่ง ต้องจำกัดจำนวนไม่ให้แออัด ต้องสวมหน้ากากทุกคนและทุกครั้งที่ใช้บริการ หมั่นทำความสะอาดและฆ่าเชื้อภายในรถเป็นประจำ ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขเคร่งครัด” อธิบดีกรมอนามัยกล่าว